นักวิชาการชี้ 13 เมษา งดขายเหล้า ไม่ละเมิดสิทธิ ห้ามขาย-ไม่ได้ห้ามดื่ม!

งดขายเหล้า / จากกรณีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมติเห็นชอบให้งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์วันที่ 13 เม.ย. นี้เพื่อลดอุบัติเหตุ โดยจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบเพื่อจัดทำร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาบังคับใช้ ซึ่งมีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้าน

วันที่ 25 ก.พ. ที่โรงแรมเอเชีย ในเวทีเสวนา “ถอดรหัสสงกรานต์ งดขายสุรา 13 เมษา ลดอุบัติเหตุ” จัดโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และภาคีเครือข่าย

โดย นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี ตาเละ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า เวลาพูดถึงสงกรานต์ คนจะนึกถึงความสุข หยุดยาว ได้ไปเที่ยว พบปะสังสรรค์เล่นน้ำ และคำว่า 7 วันอันตราย ซึ่งอันตรายที่สุด คือ บนท้องถนน ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันที่ทุกคนมีความสุข จึงต้องหามาตรการไม่ให้มีอันตรายในวันเหล่านี้

โดยเฉพาะวันที่ 13-14 เม.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่มีสถิติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยของการเสียชีวิตในสองวันนี้อยู่ที่ 153 คน คือ ประมาณ 3 เท่าของช่วงวันปกติ จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีมาตรการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า มาตรการห้ามขายน้ำเมาในวันที่ 13 เม.ย. เป็นหนึ่งในมาตรการที่สากลทำเพื่อลดความสูญเสียและองค์การอนามัยโลกก็แนะนำ คือ จำกัดเวลาการเข้าถึง การเพิ่มราคา การจำกัดอายุคนซื้อ สถานที่ห้ามขาย ซึ่งมีงานวิชาการรองรับว่า ทำแล้วมีประโยชน์ ใช้งบประมาณไม่สูง ซึ่งต้องเริ่มห้ามจากวันที่ 13 เม.ย. นี้ ถ้าทำแล้วมีประสิทธิภาพก็ต้องห้ามต่อ

ส่วนที่ถามว่าเหตุใดไม่เพิ่มการตรวจจับคนเมาแล้วขับให้มากขึ้นแทน สมมุติว่า 1 จังหวัด จัดงานที่มีแอลกอฮอล์ 1 งาน โดยงานเดียวก็ผลิตคนเมาออกมาสู่ท้องถนนแล้วเป็นหมื่นคน แล้ว 77 จังหวัดคิดว่าจะมีคนเมาออกมาสู่ถนนเท่าไร

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการมีกี่คน และมักดักจับถนนใหญ่ ไม่ใช่ถนนสายเล็กที่มอเตอร์ไซค์ลัดไป ซึ่งอุบัติเหตุ 80% มาจากมอเตอร์ไซค์ ที่เราทำ คือ ปลายน้ำ จึงต้องหามาตรการอื่น

นพ.มูฮัมหมัดฟาห์มี กล่าวว่า ส่วนผลกระทบที่คนกลัว คือ ลิดรอนสิทธิคนดื่มหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ เพราะที่เราห้าม คือ คนขาย ใครจะดื่มก็ดื่ม ทั้งนี้ ที่เราห้ามคนขาย เพราะวงจรการดื่มช่วงเทศกาลสำคัญ มาจากการเดินทางออกไปซื้อดื่มหรือตระเวนเที่ยวดื่ม

ดังนั้น การดื่มที่บ้านได้จะดีที่สุด หากจะดื่มก็ต้องไปซื้อตุนไว้ วางแผนว่าจะดื่มปริมาณเท่าไร และเมื่อหมดแล้ว หากมีมาตรการห้ามขายก็จะรู้ว่า ออกไปแล้วก็หาซื้อไม่ได้ ก็ไม่เกิดการเดินทาง ดื่มเมาแล้วก็อยู่บ้านนอนดีกว่า ส่วนที่กังวลกันว่า จะกระทบเศรษฐกิจใครจะอยากมาเที่ยว ต้องถามกลับว่า งานสงกรานต์ที่ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น ซึ่งจัดงานปลอดเหล้า แต่มีคนมาเที่ยวรวมกัน 3 วันถึง 4 แสนกว่าคน ทำเศรษฐกิจแย่หรือไม่

นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยตายจากอุบัติเหตุทางถนนวันที่ 13 เม.ย. ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สูงถึง 754 ศพ โดยปี 2561 วันที่ 13 เม.ย. วันเดียว ตายถึง 90 ศพ โดยจำนวนนี้ 50 คนตายโดยมีอาการเมาร่วมด้วย ซึ่งคนไม่รู้สึกถึงความน่ากลัวของการเรียกตรวจ เพราะจากโพลของ จส.100 พบว่า 70% ไม่เห็นมีด่าน และ 95% ไม่ถูกเรียกตรวจ

ทั้งนี้ งานหนึ่ง ผลิตคนเมาออกสู่ถนนมีเป็นหลักพันหลักหมื่น แต่ถูกเรียกตรวจดำเนินคดีได้น้อยมาก โดยสงกรานต์ปี 2561 ดำเนินคดีได้ 5,376 คน แม่จะเพิ่มขึ้น 40% แต่เฉลี่ยแล้วคือประมาณ 69 คนต่อจังหวัด เรียกว่าคนเมาหลักหมื่นแต่จับได้บนถนนหลักสิบ ที่เหลือ คือ ไปเกิดอุบัติเหตุ โดยวันที่ 13 เมษายน คนบาดเจ็บและตายถูกตรวจเลือดวัดแอลกฮอล์พบว่า 60% เมาเกินกฎหมายกำหนดคือมากกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

แอดไลน์ข่าวสดไม่พลาดทุกข่าวสารเพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน