“ปู่พิชัย”จี้ “พรเพชร”โชว์ สปิริตไขก๊อก ประธานสนช. ดีกว่าอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี ปมอุ้ม 7 สนช.นักโดดประชุม ด้านศรีสุวรรณ ขู่ยื่นป.ป.ช.เอาผิดทั้ง”พรเพชร-วรารัตน์” ส่วนรองประธานสนช.ยันข้อมูลลงมติไม่ใช่ความลับ เตรียมล้อมคอกแก้ปัญหาสนช.สวมหมวกหลายใบขาดประชุม ป้อง”บิ๊กตู่” ใช้ม.44 ไม่สวนทางปรองดอง ผบ.ทบ.สั่งกอ.รมน.จังหวัดเปิดเวทีรับฟังความเห็นทุกกลุ่ม ทุกองค์กร “บิ๊กจิ๋ว”ชง 4 ข้อสร้างปรองดอง ใช้การเมืองนำทหาร “ยิ่งลักษณ์”นำทีมเพื่อไทย เดินสายไหว้พระนางพญา-พระพุทธชินราช รองเจ้าอาวาสให้พรทำดีจะได้ดี ถูกทำลายอย่างไรก็จะปลอดภัย “ไก่อู”แจงวุ่น ตั้งกลุ่มไลน์เชื่อมส่วนราชการไม่ใช่ห้องเชือด

“บิ๊กตู่”เล็งมอบโจทย์กุนซือปยป.

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 มี.ค. นี้ จะมีการประชุม ป.ย.ป.คณะใหญ่และเชิญที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 39 คนเข้าร่วม โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะอธิบายแนวทางการทำงานของ ป.ย.ป. ซักซ้อมความเข้าใจแก่คณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ หลังมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายสุวิทย์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้วางบทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิไว้ 2 บทบาท คือ 1.เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการย่อย ป.ย.ป. 2.มอบหมายให้รับผิดชอบงานแต่ละด้าน เช่น นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นายศุภชัย พานิช ภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชา ชาติ ว่าด้วยการค้าและการพัฒนา เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ นายเตช บุนนาค อดีตรมว.ต่างประเทศ เชี่ยวชาญงานด้านต่างประเทศ จึงมอบหมายงานเฉพาะด้านที่แต่ละคนเชี่ยวชาญและถนัดให้รับผิดชอบ ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิทุกคน นอกจากจะทำหน้าที่ที่ปรึกษาแล้ว ป.ย.ป.จะกำหนดโจทย์ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศให้คิดหาวิธีแก้ไข และเชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกมาจะตอบโจทย์การทำงานได้อย่างครอบคลุม

เตรียมตั้งอนุขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

นายสุวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมประชุมคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ในป.ย.ป. ซึ่งรับผิดชอบโดย พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ ซึ่งจะประชุมวันที่ 27 ก.พ. มีวาระคือ นำแผนงานการเตรียมยุทธศาสตร์ชาติ จัดทำโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาพิจารณา ทั้งประเด็นความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาคน สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ กลไกภาครัฐ นอกจากนี้ยัง นำยุทธศาสตร์ 20 ปี ของทุกกระทรวงและแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคมาพิจารณาร่วมกัน โดยที่ประชุมจะดูว่าในเรื่องยุทธศาสตร์นั้นได้ดำเนินการไปถึงไหน และจะดำเนินการต่อไปได้อย่างไร โดยที่ประชุมจะตั้งอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อน พร้อมกันนี้พล.อ.ประยุทธ์ ยังเน้นย้ำการสร้างความรับรู้ลงไปในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเข้ามาและร่วมมือ

สั่งกอ.รมน.เปิดเวทีจังหวัด

พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะรอง ผอ.รมน. ได้ให้ กอ.รมน.ภาค และกอ.รมน.จังหวัด เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ซึ่งในระดับจังหวัด ให้ผอ.รมน.จังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก เชิญบุคคลด้านต่างๆ มาให้ข้อเสนอแนะปรองดอง ได้แก่ กลุ่มการเมืองท้องถิ่น นักวิชาการ กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มองค์กรวิชาชีพต่างๆ รวมถึงกลุ่มคนในท้องถิ่นที่เดือดร้อนจากโครงการของรัฐ โดยกอ.รมน.จังหวัด จะบูรณาการกับทุกหน่วยงานในจังหวัด และตั้งคณะทำงานเพื่อรับฟังและรวบรวบข้อคิดเห็น รายงานให้กอ.รมน.ทราบ จากนั้นกอ.รมน.จะรวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกจังหวัด เสนอให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป

โฆษกกอ.รมน.กล่าวว่า การรับฟังอาจจะแยกแยะเป็นกลุ่มต่างๆ ตามความเหมาะสม มีกรอบเวลารับฟังความคิดเห็นตั้งแต่บัดนี้และให้เสร็จภายในปลายเดือนมี.ค. ส่วนสถานที่จัดการรับฟังความคิดเห็นนั้นให้ กอ.รมน.จังหวัด พิจารณาตามความเหมาะสม ให้ใช้สถานที่ราชการเป็นหลัก และในการเชิญกลุ่มต่างๆ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นนั้น ถ้า กอ.รมน.จังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่ครอบคลุมกลุ่มบุคคล องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในพื้นที่ สามารถเรียนเชิญได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้เป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างแท้จริง

พีระศักดิ์มั่นใจทีมที่ปรึกษา

ที่จ.แม่ฮ่องสอน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่สอง กล่าวถึงภาพรวมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 39 คน ของ ป.ย.ป.ว่า มีความหลากหลาย มาจากทุกภาคส่วนทั้งภาคเอกชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ ซึ่งเริ่มเห็นความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า แนวโน้มที่เรากำลังเดินไปสู่ความปรองดองเพื่อทำให้การเดินหน้าเรื่องของยุทธศาสตร์ การปฏิรูปมีผลขึ้น ต้องเริ่มต้นจากคนในชาติของเราปรองดองกันก่อน ตนมีกำลังใจเยอะที่เห็นการทำงาน การมีส่วนร่วมมาถูกที่ถูกเวลา ซึ่งจะสื่อสารให้ทุกคนมีความปรองดองสมานฉันท์ ถือเป็นความต้องการของคนในชาติ

นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานเพื่อการปฏิรูปที่ป.ป.ย.ได้กำหนด 27 วาระปฏิรูปเร่งด่วนที่ต้องทำนั้น แม่น้ำทั้ง 5 สายจะต้องนำไปขับเคลื่อนไปพร้อมกัน เพราะถือว่าเป็นเจ้าภาพพร้อมกัน ไม่มีการแยกหน้าที่ ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันเพื่อให้ 27 วาระปฏิรูปเร่งด่วนนี้เสร็จได้ตามเวลาที่เหลืออยู่

ป้อง”ตู่”ใช้ม.44ไม่สวนทางปรองดอง

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้าเรื่องปรองดอง ขณะที่นายกฯ ใช้มาตรา 44 ไปจัดการกับวัดพระธรรมกายถือว่าสวนทางกันหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เป็นการบังคับการใช้กฎหมาย เพราะนโยบายของคสช.คือการบังคับใช้กฎหมาย แต่ถ้าใช้กฎหมายปกติแล้วติดขัด ก็ใช้มาตรา 44 ไปช่วย ไม่ใช่การเลือกใช้มาตรา 44 ไปกลั่นแกล้งใคร แต่ทำให้กฎหมายปกติเดินหน้าไปได้มากกว่า

เมื่อถามว่าหลายฝ่ายมองว่านายกฯใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อมากเกินไป รองประธานสนช. กล่าวว่า ประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้หรือติดกับดัก ก็เพราะมีการใช้กฎหมายปกติแล้วติดขัด ส่วนจะไปแย้งกับการปรองดองหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายกับการปรองดองไม่ได้แย้งกัน ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ถ้าย้อนไปดูตนเชื่อว่านายกฯ รับฟัง บางครั้งประกาศใช้ไปแล้ว ก็มีการแก้ไข มีการปรับเปลี่ยน ถ้ามีอะไร ไม่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อมีข้อมูล นายกฯ ก็มีการแก้ไขมาตรา 44

เร่งล้อมคอกสนช.โดดประชุม

นายพีระศักดิ์กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการลงมติของ 7 สมาชิกสนช.ไม่ตรงกับของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ว่า ตนชี้แจงแล้วว่าข้อมูลการลงมติไม่ใช่ความลับ เป็นข้อมูลเปิดเผย เข้าไปดูได้อยู่แล้ว ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องตัวเลข ซึ่งตัวเลขของราชการน่าจะถูกต้องกว่า โดยเลขาธิการวุฒิสภาอาจจะแถลงภาพรวมทั้งปี ซึ่งไม่ใช่การโต้แย้ง ไอลอว์ แต่เนื่องจากมีสื่อระบุประธานสนช.อนุมัติให้สมาชิกลา 300 กว่าครั้งจากการประชุม 400 ครั้ง

เมื่อถามว่าแม้การลาถูกต้องแต่ไม่เหมาะสมในการพิจารณาออกกฎหมาย ตรงนี้จะกำชับสมาชิกสนช.หรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ต้องฟังเหตุผล และภารกิจของแต่ละคน ทำไมไม่มาลงมติ เพราะการประชุมบางวันอาจจะไม่มีการลงมติเลย แต่บางวันประชุม 2 ชั่วโมงอาจมีการลงมติ 50-60 ครั้ง ซึ่งตอนนี้เรากำลังหาเหตุผล เพื่อชี้แจงให้สังคมทราบ แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็เสนอให้สภามีมติว่าร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง แต่หลังจากนี้จะทำความเข้าใจกับสมาชิกทุกคน จะไม่ให้มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก แม้จะมีภารกิจขนาดไหนก็ให้บริหารจัดการ และทางสภาจะบริหารอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิก อาจนำกฎหมายไปรวมกันในวันพฤหัสฯ หรือถ้าเป็นกระทู้ หรือรายงานของหน่วยงานต่างๆ ทุกวันศุกร์ สังคมจะได้สบายใจ สมาชิกจะทำงานทั้งสองหน้าที่ได้อย่างสบายใจด้วย ดังนั้น หลังจากนี้ไม่มีการเกิดกรณีนี้ขึ้นมาอีก

ยันสวมหมวก 2 ใบไร้ปัญหา

เมื่อถามว่าการที่สนช.สวมหมวกหลายใบ จะเป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่ นายพีระศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ตรงนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ การแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการมาเป็นสนช. เพื่อให้การทำงานแต่ละเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการนั้นๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการสื่อสารโดยตรงกับหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เช่น การตั้งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นสนช.ก็จะให้ข้อมูลว่าเทคนิคของกฎหมายเป็นอย่างไรจะได้ไม่เสียเวลา หรือการตั้งผอ.สำนักงบประมาณมาเป็นสนช. ก็มาช่วยทำงบประมาณให้เร็วขึ้น เป็นต้น เชื่อว่าเป็นเจตนารมณ์ของคสช. ที่ตั้งหัวหน้าส่วนราชการมาเป็นสนช.

ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร ประธานคณะอนุกรรมการแสวงหาพยานหลักฐานตรวจสอบการขาดลงมติการประชุมของสมาชิกสนช. 7 คน กล่าวถึงแนวทางการทำงานว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดว่ามีกรอบอำนาจการทำงานมากน้อยเพียงใด สามารถเรียกสมาชิกสนช. 7 คนมาให้ข้อมูลได้หรือไม่ ขอดูคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการก่อน คาดว่าจะเรียกประชุมนัดแรกได้ในสัปดาห์หน้า เพื่อดูกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ เบื้องต้นคาดว่าคงมีหน้าที่แค่การรวบรวมข้อมูลการลงมติและการประชุมของสนช.ทั้ง 7 คน เพื่อส่งข้อมูลให้นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.เท่านั้น คงไม่มีอำนาจถึงขั้นชี้ขาดเรื่องสมาชิกภาพการเป็นสนช. โดยคณะอนุกรรมการฯ มีกรอบเวลาทำงาน 30 วัน แต่จะเร่งดำเนินการให้รู้ผลโดยเร็ว

ปู่พิชัยแนะ”พรเพชร”ไขก๊อก

นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานรัฐสภา กล่าวถึงการลาประชุมของ 7 สมาชิกสนช. จนขาดการลงมติเกิน 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 9(5) กำหนดไว้ว่า ที่ผ่านมาสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่มาตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เคยกำหนดกฎเกณฑ์นี้ไว้ แต่พอมาถึงการรัฐประหารโดยคสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ต้องการแสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสนช.ที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร จะทำงานได้อย่างดี มีระเบียบวินัย จึงวางกฎดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์การเป็นนักการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีข้อครหาทางการเมืองเกิดขึ้น ก็จะมีการแสดงความรับผิดชอบ อย่างตนเคยลาออกจากรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะมันเป็นเรื่องสปิริตทางการเมือง

“ถ้าผมเป็นประธานสนช.ตอนนี้ จะขอลาออก ในเมื่อปล่อยให้สมาชิกทำผิดรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อบังคับสนช.กำหนดให้ขาดลงมติเท่าไรก็ได้หากยื่นใบลา แต่ ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายไปบังคับใช้ในสังคม ต้องมีความรับผิดชอบ ยึดหลักการทำหน้าที่ตามกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ดีกว่าอยู่ทำหน้าที่ต่อไปภายใต้อาณัติของผู้มีอำนาจ แต่ไร้ศักดิ์ศรี ประธานสนช.ที่เป็นถึงอดีตผู้พิพากษาน่าจะทราบดี เหตุการณ์นี้จะช่วยทำให้คนเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ให้ประชาชนเลือก ผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในสภา แม้จะมีความขัดแย้ง แต่มันยังตรวจสอบได้? อดีตประธานรัฐสภากล่าว

“นิคม”เชื่อเข้าข่ายผิดจริยธรรม

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีสนช.เปิดข้อมูลอุ้มสนช.ขาดการลงมติไม่ครบตามข้อบังคับจริง แต่ส่งใบลาถูกต้องจึงไม่ผิดว่า เป็นสภาในลักษณะที่ไม่รู้จะพูดแบบไหน ใช้คำจำกัดความใด เป็นอัตตา ของกู ตัวกู ทำอย่างไรก็ได้ ถ้าออกลูกนี้ ตนไม่รู้จะตอบอย่างไร คิดว่าต้องถึงมือผู้ตรวจการแผ่นดินควรเป็นผู้สอบจะดีกว่า เชื่อว่าจะมีคนร้องไปแน่ๆ ถ้าให้ สนช.ตั้งทีมงานมาสอบกันเองจะไม่เหมาะ ไม่สมศักดิ์ศรี อาจมีข้อครหาว่าเสือย่อมไม่กินเนื้อเสือด้วยกัน

นายนิคมกล่าวว่า ส่วนสถิติการลงมติที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภานำมาเปิดเผย เป็นวงรอบ 1 ปี ต่างจากของไอลอว์ที่เปิดเผยสถิติตามข้อบังคับสนช. ข้อที่ 82 ทำให้ผลการนับจำนวนการลาประชุมออกมาไม่ตรงกัน ถามว่าชี้แจงแบบนี้ฟังขึ้นหรือไม่ ต้องให้สังคมเทียบเคียงค่าเฉลี่ยดูเอาเองว่าใครมีเจตนาอย่างไร แต่ตนว่าเป็นผลร้าย ยิ่งแฉให้สังคมเห็นว่า ในการลงมติพันกว่าครั้ง มาลงคะแนนไม่ถึงครึ่งกลับไม่ผิดถ้าส่งใบลาครบ ต่อไปสภาในอนาคตไม่ต้องมาประชุม แค่ส่งใบลาครบได้ใช่หรือไม่ การมาลงมติน้อยขนาดนี้มันไม่ควรเกิดขึ้น หากปล่อยเอาไว้จะเสียหายถึงผู้ที่แต่งตั้งเข้าไปนั่งในสภา ความจริงน่าจะผิดจริยธรรมด้วย คือการปฏิบัติหน้าที่ต้องซื่อสัตย์สุจริต ทุ่มเทแรงกาย อย่างนี้จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ถึงแม้อ้างว่างานเยอะก็จริง แต่คงไม่เยอะเสมอไป

ขู่ยื่นสอบ”พรเพชร-วรารัตน์”

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กล่าวถึงรองประธานสนช. ยืนยันสมาชิกสนช. 7 คน ที่มีปัญหาเรื่องการลงมติไม่ครบ มีสถานภาพการเป็นสนช.ถูกต้อง เพราะยื่นใบลาอย่างถูกต้องว่า สิ่งที่สนช.ตรวจสอบมาไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นในสัปดาห์หน้าจะไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช.ให้ตรวจสอบทั้ง 7 คน กรณีเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ เพราะไม่มาร่วมประชุมลงมติการพิจารณาต่างๆ ของสนช. รวมทั้งให้ตรวจสอบนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. และนางวรารัตน์ อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา เนื่องจากเชื่อว่าดำเนินการช่วยเหลือ 7 สนช. เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ประธานสนช.จะอนุญาตให้ลา โดยไม่มีข้อจำกัด และไม่เรียกมาตักเตือน เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ทั้งหมดแล้ว เข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ เพราะได้รับเงินเดือนเป็นแสนบาท แต่ไม่ยอมมาปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ประธานสนช.คอยเอื้อให้ ก็ต้องมีความผิดตามไปด้วย

จี้องค์กรอิสระสอบแทนสนช.

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า นอกจากนี้จะยื่นเรื่องต่อเลขาธิการวุฒิสภา ให้เปิดเผยบันทึกการเข้าประชุม และใบลาลงมติของทั้ง 7 คนว่ายื่นใบลาถูกต้องหรือไม่ มีสาเหตุลาเนื่องจากอะไร และมีลายเซ็นประธานสนช.กำกับจริงหรือไม่ เพราะเป็นข้อมูลสาธารณะสามารถเปิดเผยได้ ยืนยันว่าข้อมูลที่ไอลอว์เปิดเผยนั้นถูกต้องแล้ว เพราะระบุว่าลาลงมติในช่วง 90 วัน ไม่ใช่การลาประชุม อยากให้องค์กรอิสระอื่นมาตรวจสอบเรื่องนี้แทนสนช. ถ้าให้สนช.ตรวจสอบกันเอง จะลูบหน้าปะจมูก สังคมไม่เชื่อถือ

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า อยากให้ประธานสนช.นำบทเรียนครั้งนี้มาแก้ข้อบังคับประชุมสนช.เรื่องการลาว่า ควรมีข้อจำกัดว่าลาได้กี่ครั้ง ไม่ใช่ลาได้โดยไม่จำกัด โดย ไม่สามารถเอาผิดได้ ถ้าเป็นบริษัทเอกชน ลาเกิน 3 วันก็ถูกเรียกตัวมาพบแล้ว แต่กรณี 7 สมาชิกสนช. หากไปดูในจำนวนการลงมติทั้งหมดของสนช.ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.2559 ซึ่งมี 203 ครั้ง แต่บางคนมาลงมติ 0 ครั้ง เท่ากับไม่ได้มาประชุมในช่วงนั้นเลย เหตุใดจึงไม่เรียกมาตักเตือน

“บิ๊กจิ๋ว”รับรางวัลจากราชวงศ์ญี่ปุ่น

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิ Higashikuninomiya Memorial แห่งประเทศญี่ปุ่น ได้มอบรางวัล Higashi – Kuninomiya International Culture Award ซึ่งเป็นรางวัลแห่งราชวงศ์ แก่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ในฐานะเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่ายิ่งในการทำคุณประโยชน์อย่างสูงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากพล.อ.ชวลิต ยังพักรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วย จึงมิได้เดินทางไปรับรางวัลที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้แทนของมูลนิธิ ได้เดินทางมามอบรางวัลให้ถึงโรงพยาบาล

นายชวลิตกล่าวว่า พล.อ.ชวลิตได้มอบให้ตนนำรางวัลดังกล่าวไปประดับไว้ยังหอเกียรติยศ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จ.นครพนม โดยพล.อ.ชวลิต ระบุว่าขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อคณะกรรมการมูลนิธิ ที่มอบรางวัลเกียรติยศให้ ถือเป็นเกียรติที่จะอยู่ในความทรงจำที่ดีตลอดไป และขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ยั่งยืนสืบต่อไป

แนะรัฐบาล 4 ข้อสร้างปรองดอง

นายชวลิตกล่าวว่า พล.อ.ชวลิตยังระบุถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านว่า ต้องใช้การเมืองนำการทหาร เมื่อบ้านเมืองสงบจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าและลงทุน พร้อมแนะนำรัฐบาลที่กำลังดำเนินการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ว่า 1.ขอให้ยึดพระราชดำรัสสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงอยากเห็นคนไทยมีความรัก ความสามัคคีร่วมมือกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าเท่าเทียมอารยประเทศ ร่วมมือกันสร้างความปรองดองให้สำเร็จ

2.นำการเมืองนำการทหาร พร้อมใช้คุณธรรมทางศาสนา เมตตา กรุณา ถอยคนละหลายก้าว อย่ามองแต่ความผิดพลาดของผู้อื่น มองตัวเองด้วยแล้วแก้ไขความผิดพลาดนั้น 3.รัฐบาลควรขอความร่วมมือให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพราะหนึ่งในสาเหตุคือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็น ไปตามหลักนิติธรรม สองมาตรฐาน เลือกปฏิบัติ 4.กองทัพจะละเลยผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อใช้เขาแล้ว อย่าปล่อยให้เผชิญชะตากรรมขึ้นโรงขึ้นศาล

“ปู”นำทีมไหว้พระนางพญา

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยแกนนำพรรคเพื่อไทย อาทิ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯ และอดีตรมว.พาณิชย์ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค เดินทางเข้ากราบสักการะพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ และวัดนางพญา เพื่อกราบขอพรสมเด็จนางพญาเรือนแก้ว จ.พิษณุโลก โดยมีประชาชนเข้าให้กำลังใจและขอถ่ายรูปจำนวนมาก ส่วนใหญ่กล่าวว่าดีใจที่ได้เจอ ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งระหว่างกราบนมัสการรองเจ้าอาวาสวัดนางพญา หลวงพ่อได้ให้พรแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า “ทำดีจะได้ดี ถูกทำลายอย่างไรก็จะปลอดภัย ขอให้อดทน?

จากนั้น อดีตนายกฯ พร้อมคณะเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิง นายสุนันท์ สีหลักษณ์ บิดานางกฤษณา สีหลักษณ์ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ จ.อุตรดิตถ์

พิธีสืบชะตาแบบล้านนา

หลังจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพนายสุนันท์เรียบร้อยแล้ว ในเวลา 17.30 น.ได้เดินทางพร้อมคณะไปยังวัดโพธิบัลลังก์ ต.ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เพื่อทำพิธีต่อชะตาตามรูปแบบชาวล้านนา โดยมีพระปลัดทิน อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดโพธิบัลลังก์ เป็นเจ้าพิธีสืบชะตา จากนั้นน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปค้างคืนที่จ.แพร่

ไก่อูโต้-เปิดไลน์เชือดขรก.เฉื่อย

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยถึงกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความรับรู้และความเข้าใจข่าวสารรัฐบาลแก่ประชาชนของหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ที่ทำงานร่วมกันผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ไปยังสื่อมวลชน ในทำนองที่ระบุเป็นห้องเชือดข้าราชการเฉื่อยว่า ความจริงแต่ละหน่วยงานมีภารกิจต้องรับผิดชอบมาก ดังนั้น สำนักโฆษกและกรมประชาสัมพันธ์จึงเข้ามาช่วยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารว่าประเด็นใดที่อยู่ในความสนใจของสังคมหรือถูกนำเสนอคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงประชาชนอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกฯ มีนโยบายชัดเจนว่าทุกหน่วยงานไม่ว่าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การมหาชน จะต้องไม่ทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจควบคู่กันด้วย เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หากหน่วยงานใดตอบสนองได้ทั้ง 2 ภารกิจ จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับตัวชี้วัดที่ ก.พ.ร.กำหนดตามมติครม. ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เรื่องที่ลับลมคมใน

พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนการนำแอพพลิเคชั่นไลน์มาใช้ประโยชน์ โดยกำหนดให้มีห้อง ID-Chat IA-Chat และ IR-Chat นั้น เป็นขั้นตอนที่สำนักโฆษกและกรมประชาฯ ตกลงใจร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานมีความสะดวกและชัดเจน เป็นการสื่อสารแบบ 2 ทาง ที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงาน ทำให้การบริหารงานภาครัฐโดยรวมมีการพัฒนามากยิ่งขึ้นและเป็นมิติใหม่ของการสื่อสารภาครัฐไปสู่ประชาชน

ปปช.นัดถก-สางปมสินบนข้ามชาติ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากปัญหาสินบนข้ามชาติ ทางคณะกรรมการป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศขึ้น โดยมีพล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. เป็นประธาน และมีคณะกรรมการ รวม 15 ราย ได้แก่ อัยการสูงสุด ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) อธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ ของสำนักงานตำรวจแห่ง

ชาติ(ตร.) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและแผนและการต่างประเทศ ของป.ป.ช. เลขาธิการป.ป.ช. ผอ.สำนักการต่างประเทศ ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ประสานงานคดีต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ช.

แหล่งข่าวกล่าวว่า โดยวันที่ 27 ก.พ.นี้ เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.วัชรพล ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ ที่อาคาร 4 สำนักงานป.ป.ช. สนามบินน้ำ ถือเป็นการประชุมนัดแรก เพื่อหารือ ทำความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ แลกเปลี่ยนข้อมูล ปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินคดีทุจริตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานและองค์กรในต่างประเทศ อาทิ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ สำนักงานการปราบปรามทุจริตของประเทศอังกฤษ(เอสเอฟโอ) หรือสำนักงานป.ป.ช.อังกฤษ เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลสินบนโรลส์-รอยซ์จากทางป.ป.ช.อังกฤษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน