วิเคราะห์ สูตร กกต. พรรคใหญ่เสียงลด พรรคเล็กคะแนนต่ำ 7 หมื่น ได้ ส.ส.?

ยังเป็นประเด็นที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมี.ค.2562 และบรรดาพรรคการเมืองข้องใจในวิธีการคำนวณคะแนนเพื่อให้ได้มาซึ่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. พ.ศ.2561

โดยล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เผยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสังคมสับสนว่าคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกันอย่างไร เพราะได้รับคะแนนดิบจากคณะกรรมการการเลือกต้ั้ง หรือกกต.แล้ว พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าเมื่อคำนวณแล้ว พรรคอนาคตใหม่จะมีส.ส.ทั้งหมด 87 ที่นั่ง โดยคำนวณตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128

ทั้งนี้ ตามกฎหมายนั้น ได้ระบุวิธีคำนวณ ดังนี้

(1) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับ จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วย 500 อันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร โดยคะแนนรวมทุกพรรคมีจำนวน 35,532,647 หาร 500 เท่ากับ 71,0650.294 ต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน

(2) นําผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจํานวนส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ เช่น พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 8,4331,137 หารด้วย 71,0650.294 เท่ากับ 118.667446

พรรคเพื่อไทย ได้ 7,920,630 หารด้วย 71,0650.294 เท่ากับ 111.4556706 โดยกฎหมายเขียนว่า “จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น” เท่ากับพรรคพลังประชารัฐ จะมีส.ส.พึงมี 118.667446

(3) นําจํานวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (2) ลบด้วยจํานวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น
เช่น พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.พึงมี 118.667446 โดยมีส.ส.เขตจำนวน 97 คน เมื่อนำมาคำนวณจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เท่ากับ 21.667446

จากการคำนวณ ส.ส.พึงมี พบว่ามีพรรคการเมืองที่ได้รับ ส.ส.พึงมี 1 คนขึ้นไป มีจำนวนทั้งหมด 16 พรรค เมื่อรวมกันแล้ว มีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 152 คน

ทั้งนี้ (7) เขียนไว้ว่า เมื่อคํานวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกิน 150 คน ให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกิน 150 คน

โดยให้นําจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วย 150 หารด้วยผลบวกของ 150 กับจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวน 150 และให้นํา (4) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม

เท่ากับต้องนำจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรคมาคูณ 150 (จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ)แล้วหารด้วย 152 (จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินตามวงเล็บ 7) เช่น พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.พึงมี 21.667446 คน คูณ 150 หาร 152 เท่ากับ 21.382348 พรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส.พึงมี 58.171731 คน คูณ 150 หาร 152 เท่ากับ 57.406313
เมื่อนำส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของทั้ง 16 พรรคมาตัดเศษออก แล้วรวมกันจะได้ส.ส.ทั้งหมด 150 คนพอดี

อย่างไรก็ตามขณะนี้พบว่า ได้มีการนำกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์การนำคะแนนเสียงเลือกตั้งมาคำนวณเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไปตีความในลักษณะที่ไม่เหมือนกัน หรือแตกต่างจากสูตรข้างต้น โดยบางสูตรมีการตีความว่าให้ปัดเศษที่ไม่ครบให้พรรคเล็กที่ได้คะแนนลำดับรองลงมาถูกจัดสรรให้มีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคละ 1 คน

ทั้งที่ เกณฑ์คะแนนของส.ส.พึงมีในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 71,065.294 ต่อส.ส. 1 คน แต่พรรคเล็กที่ได้รับการจัดสรรลำดับรองลงมา จะเห็นได้ว่ามีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ 71,065.294 เช่น บางพรรคได้คะแนนเพียง 3 หมื่นคะแนน แต่กลับได้รับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน ซึ่งนักวิชาการและนักการเมืองบางพรรคเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการตีความเรื่องจำนวน ส.ส.ส่วนเกิน โดยนำเอาส.ส.พึงมีของพรรคเพื่อไทยที่เกินจำนวนมา 26 คน มาใช้คำนวณในสูตรการเฉลี่ยส.ส. โดยนำจำนวนที่เกินมาบวก 150 เท่ากับ 176 และนำมาใช้เป็นสูตรในการหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยสูตรดังกล่าว ทำให้พรรคอนาคตใหม่จากที่มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 58 คน จะลดลงเหลือ 49 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีพรรคเล็กอีกจำนวน 13 พรรค ที่ได้รับส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจากการคำนวณด้วยสูตรที่ไม่น่าจะถูกต้องดังกล่าว ทั้งนี้ ในกฎหมายไม่ได้ระบุการคำนวณโดยดึงคะแนนจากพรรคที่ได้ ส.ส.พึงมีเกิน มาคำนวณด้วยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการอธิบายเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการจาก กกต. ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ทาง กกต.เปิดเผยวิธีการคำนวณนี้ต่อสาธารณชนโดยเร็ว และอธิบายสูตรการคำนวณอย่างละเอียด เพื่อให้สังคมหายสับสน พร้อมเรียกร้องให้อธิบายถึงสูตรที่มีการอ้างว่ามาจาก กกต. ซึ่งจะทำให้พรรคเล็กที่ได้รับคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ 71,065.294 ได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อีกด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน