จิตแพทย์ เผย 6 สัญญาณ ภาวะหมดไฟในการทำงาน และ 4 พฤติกรรมที่ควรเลี่ยง

เมื่อวันนี้ 4 ก.ค. นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า จากที่ประชุมองค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2562 ได้มีมติให้ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ (Burnout) เป็นสภาพที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก

โดยจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการทั่วโลกในวันที่ 1 ม.ค. 2565 นับเป็นประเด็นปัญหาทางสุขภาพใจที่มักเกิดกับคนวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด และมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจครอบครัวและประเทศชาติ

ทั้งนี้ ภาวะเมื่อยล้าหมดไฟ มักเกิดกับบุคคลที่สะสมความเครียดจากเรื่องต่างๆ ไว้มากเกินไป ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย คือ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เมื่อยตามร่างกาย ประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลง ส่วนด้านจิตใจอาจมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด ทะเลาะกับคนรอบข้างง่าย ทั้งนี้พบว่าคนทำงาน 1 ใน 4 มีความเครียดร้อยละ 60 มีสาเหตุมาจากการทำงาน

พญ.ภรทิตา เลิศอมรวณิช จิตแพทย์ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า การป้องกันปัญหาเมื่อยล้าหมดไฟ คือ แบ่งเวลาแต่ละวันเป็น 3 ส่วน คือทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง อีก 8 ชั่วโมง ใช้เพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ทั้งส่วนตัว ครอบครัวหรือเพื่อนฝูง

สำหรับพฤติกรรมที่ควรเลี่ยง ลด ละ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดปัญหาหมดไฟทำงานง่ายขึ้น

  • 1. อย่าทำงานอย่างหักโหม จะมีผลให้ร่างกายถูกใช้งานมาก ภูมิต้านทานโรคจะลดลง
  • 2. อย่าหอบงานกลับไปทำต่อที่บ้าน
  • 3. การใช้เวลาว่างท่องโลกโซเซียลต่างๆ
  • 4. อย่านำปัญหาที่ทำงาน กลับไปบ้าน พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้สะสมความเครียด

สำหรับสัญญาณของอาการจะหมดไฟทำงาน คือ

  • 1. รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขน้อยลง
  • 2. อ่อนเพลีย เหนื่อยตลอดเวลา ไม่กระตือรือร้น เบื่อเซ็งไม่อยากตื่นไปทำงาน
  • 3. ไม่มีสมาธิทำงาน
  • 4. เริ่มมีทัศนคติไม่ดีต่องานที่ทำอยู่ มองโลกในแง่ลบ รู้สึกตัวเองด้อยความสามารถ
  • 5. หงุดหงิดง่าย
  • 6. หาตัวช่วยเพื่อให้มีแรงทำงาน เช่นดื่มกาแฟ สูบบุหรี่จัดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน