ย้อนอ่าน “พระเจนดุริยางค์” ผู้แต่งเพลงชาติไทย เล่าเรื่องสกปรก-วิตถารในที่ราชการซึ่งรับไม่ได้

กระแสเพลงชาติไทย ร้อนแรงขึ้น เมื่อ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เสนอให้ ยกเลิกเพลงชาติไทย เนื่องจากไม่มีเนื้อหาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ และกล่าวถึงเฉพาะทหารกับประชาชนเท่านั้น

ศิลปวัฒนธรรม พาย้อนไปดู “พระเจนดุริยางค์” ผู้แต่งเพลงชาติไทย เล่าเรื่องสกปรก-วิตถารในที่ราชการ ความว่า เพลงชาติไทยที่ทุกคนในประเทศได้ยินกันทุกวันนี้มาจากการสร้างสรรค์ทำนองของพระเจนดุริยางค์ ซึ่งได้รับยอมรับในสมัยของท่านเองว่าเป็นผู้เจนจบวิชาการดนตรีสากลและรักวิชาอาชีพอย่างยิ่ง

แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ท่านพบเห็นในวงราชการไทยซึ่งถูกนิยามว่า “สกปรก-วิตถาร” แบบที่ท่านไม่เคยพบนั้นกลับทำให้พระเจนดุริยางค์ต้องออกตั้งโรงเรียนสอนวิชาการดนตรีที่ขึ้นกับการอำนวยการของท่านโดยตรง

นอกจากผลงานการประพันธ์เพลงชาติ ซึ่งพระเจนดุริยางค์นึกทำนองเพลงอย่างบังเอิญระหว่างโดยสารรถรางจากถนนสุริยวงศ์มาเปลี่ยนรถที่สี่แยกเอส.เอ.บี ผลงานที่ท้าทายในเส้นทางการทำงานของพระเจนดุริยางค์คือการทำงานในช่วงกลับมาประจำการที่กองการสังคีต

ท่านกลับไปช่วยงานกรมศิลปากรอีกครั้ง หลังจากท่านเคยยื่นข้อเสนอลาออกจากราชการเพื่อให้รัฐบาลนำเงินเดือนไปจ่ายนักดนตรีจะได้มีจำนวนคนครบเล่นวงออเคสตร้าได้ดังเดิม ในช่วงที่มีมติคณะรัฐมนตรีให้ตัดงบประมาณวงดนตรีสากลกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2477 (สุดท้ายวงยังได้อยู่ภายใต้กรมศิลปากร โดยที่ท่านยังเผชิญปัญหาต่อเนื่อง) กระทั่ง พ.ศ. 2482 ท่านถูกย้ายไปรับราชการกับกองทัพอากาศ

ช่วงที่ พระเจนดุริยางค์ กลับมาประจำที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ ช่วงหลังเกษียณอายุราชการจากกองทัพอากาศเมื่อ พ.ศ. 2486 พระเจนดุริยางค์มารับหน้าที่เป็นศาสตราจารย์การดนตรีประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 เป็นต้นไป

บันทึกของท่านเล่าประสบการณ์ช่วงนี้ว่า ไม่มีนักศึกษาวิชาการดนตรีมาสมัครเรียนเลยแม้แต่รายเดียว ท่านจึงเปิดสอนให้นักดนตรีวงดุริยางค์กรมศิลปากร เป็นการสอนให้เปล่า แถมยังสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้ด้วย ผลปรากฏว่ามีผู้มาเรียน 4 คน

กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

บทความ “หนึ่งรอบศตวรรษ พระเจนดุริยางค์” โดย สุพจน์ แจ้งเร็ว เผยแพร่ในนิตสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2526 ระบุว่า ช่วงเดือนกันยายน 2490 วงดุริยางค์กรมศิลปากรทำท่าจะไปไม่รอด อธิบดีสั่งให้ท่านไปประจำกองการสังคีตซึ่งวงดุริยางค์สังกัดอยู่เพื่อกู้วงให้ฟื้นกลับคืนมา

ความไร้ระเบียบในระบบ-บุคคล

ประสบการณ์ที่ท่านพบในช่วงที่กลับมาประจำการอีกครั้งคือความไร้ระเบียบทั้งแง่ระบบและตัวบุคคล พระเจนดุริยางค์ต้องจัดระบบทำทะเบียนเพลง และวางหลักบัญชีควบคุมการจ่ายอะไหล่ต่างๆ แค่เรื่องจัดระบบสิ่งของก็ใช้เวลามากกว่า 3 เดือนแล้ว

แต่เรื่องสิ่งของไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก เรื่องสำคัญยังเป็นที่ตัวบุคคลอย่างสภาพนักดนตรี ซึ่งพระเจนดุริยางค์พบว่า นักดนตรีไม่มีมารยาท ขาดระเบียบวินัย เข้าราชการยามสาย บางวัน 10.00 น. ก็ยังคุมวงไม่ติด ตกบ่ายก็หายหน้า บันทึกของพระเจนดุริยางค์ซึ่งเป็นงานเขียนของท่านเองในชื่อ “บันทึกการทรงจำของพระเจนดุริยางค์” หรือ “ชีวประวัติของข้าพเจ้า” (ตามที่ระบุบนใบปก) เล่าว่า

ครั้นต่อมาเมื่อข้าพเจ้าเข้มงวดเข้าบ้าง ในเรื่องเวลาทำการฝึกซ้อมก็ดี ในเรื่องระเบียบวินัยก็ดี เพื่อหวังผลของการปฏิบัติดังที่ข้าพเจ้าเคยทำมาแล้วในสมัยที่ข้าพเจ้ายังควบคุมวงดุริยางค์วงนี้อยู่ แต่ก็ได้รับการกลั่นแกล้งจากนักดนตรีเกเรบางคน ทำเสียงสุนัขหอนบ้าง เปรตร้องบ้าง เขียนภาพหัวกระโหลก กับกระดูกไขว้ไว้บนฝาตู้เพลงบ้าง

ในที่สุดถึงกับวันหนึ่งเอาหมวกของข้าพเจ้าไปเตะเล่น แล้วไปซุกซ่อนไว้หลังตู้ ซึ่งกว่าข้าพเจ้าจะพบเห็นก็ต้องกลับบ้านโดยมิได้สวมหมวก วิธีเล่นอย่างสกปรก และวิตถารในสถานที่ราชการและในเวลาราชการเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยประสบมาเลยในชีวิตเป็นข้าราชการของข้าพเจ้ามานานกว่า 50 ปี”

อย่างไรก็ตาม พระเจนดุริยางค์ เขียนในบันทึกว่า ท่านเว้นการตำหนินักดนตรีชั้นผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย ซึ่งยังเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของนักดนตรีทั้งหมด นักดนตรีกลุ่มนี้ยังเคารพท่านอยู่

เหตุการณ์การคุกคามยังไปถึงขั้นนักดนตรีเกเรส่งบัตรสนเท่ห์ กล่าวหาความเข้มงวด เมื่อเวลาผ่านไปความรุนแรงในเหตุการณ์ก็เบาบางลง แต่ยังไม่สามารถรวมวงซ้อมตอนบ่ายได้เหมือนเคย

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พระเจนดุริยางค์มองว่า “นักดนตรีส่วนมากหวังแต่เงิน ส่วนงานและเกียรตินั้นไม่เอาแน่”

ภายหลัง พระเจนดุริยางค์จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาการดนตรี สังกัดแผนกดุริยางค์สากล อยู่ในความอำนวยการของท่านโดยตรง

พ.ศ. 2496 อธิบดีกรมศิลปากร นายพันโท หลวงรณสิทธิชัย เรียกเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เข้าประชุมเรื่องเปิดเรียนวิชาดุริยางค์สากล และวางหลักสูตรต่างๆ แต่พระเจนดุริยางค์ไม่ได้รับเชิญเข้าประชุม

เห็นแล้วก็หมดศรัทธา และสิ้นหวังที่จะทำให้ดุริยางค์วงนี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องลาออกจากราชการกรมศิลปากรตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2497 เป็นต้นมา” บันทึกระบุ

__________________________________________________

อ้างอิง : “หนึ่งรอบศตวรรษ พระเจนดุริยางค์”. สุพจน์ แจ้งเร็ว. ศิลปวัฒนธรรม, กรกฎาคม 2526

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน