หลังเกิดกระแส กระทะแบรนด์ดัง มีการจำหน่ายเพียง 600 บาทในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งแม้เจ้าของจะออกมาชี้แจง แต่ล่าสุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอสคบ. อย่าหลงประเด็น มีอำนาจเต็มที่ ต้องให้กระทะโคเรียคิง คืนเงินผู้บริโภคทุกคน

ปัญหาสำคัญเรื่องโคเรียคิง ก็คือการตั้งราคาที่สูงเกินจริง หรืออาจจะเรียกว่าเป็นราคาปลอม เมื่อมีการตั้งราคาเกินจริงหรือราคาปลอม สูงถึง 15,000 บาท แถมใช้ดาราทำการโฆษณาและเทคนิคที่ทำให้เข้าใจ ว่า กระทะที่จำหน่ายมีราคาที่ถูกพิเศษ จากราคาที่ขายปกติ 15,000 บาท ขณะนี้ขายพิเศษมากเพียงใบละ 3,300 บาท และถ้าซื้อตอนนี้ ซื้อหนึ่งใบแถมหนึ่งใบ เท่ากับว่าใบละเพียง 1,650 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคหลงผิดหรือเข้าใจผิดในสาระสำคัญของราคา คิดว่าเป็นราคาที่ถูกก็ตัดสินใจซื้อกระทะทันที

แต่เมื่อผู้บริโภครู้ว่ากระทะนี้ มีการจำหน่ายเพียง 600 บาทในประเทศสิงคโปร์ ก็ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงที่ซื้อของแพงเกินจริง ซึ่งเท่ากับว่าผู้บริโภคไทยซื้อกระทะแพงกว่าสิงคโปร์เกือบสามเท่า
นอกจากเจ็บใจ ที่ไม่ได้ราคาถูกจริง การกระทำของผู้ประกอบการก็อาจจะเข้าข่ายเหมือนกรณีในอดีตที่ให้ผู้บริโภคจับฉลากรางวัล แล้วให้ซื้อของราคาแพงลดราคา หรือคุณคือผู้โชคดี ที่รางวัลทุกรางวัลในตู้เป็นผู้โชคดีทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้สคบ. ก็สามารถร่วมมือกับตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคกวาดจับการเอาเปรียบผู้บริโภคตามจังหวัดต่าง ๆ ได้มากมาย กรณีนี้ก็อาจจะเข้าข่ายการหลอกลวงผู้บริโภคจากราคาที่เกินจริง หรือราคาปลอมได้เช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้บริโภคทุกคนที่ซื้อย่อมได้รับความคุ้มครอง เพราะเป็นผู้เสียหาย

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 61 รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทำสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค

สิทธิผู้บริโภค ตามพรบ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไข 2541 มาตรา 4 ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนา คุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ มีสิทธิได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา มีสิทธิได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย

ผู้บริโภคที่ซื้อกระทะโคเรียคิงทุกคนมีสิทธิขอเงินคืนที่ขายของราคาแพงเกินความเป็นจริง หรืออีกสองส่วนที่เหลือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคก็สามารถเจรจาเพื่อให้บริษัทคืนเงินผู้บริโภค ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคในกรณีนี้ได้ นอกจากนี้อาจจะขอความร่วมมือจากกรมศุลกากร เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้า ว่าราคาต้นทุนในการชำระภาษีเป็นจำนวนเท่าใดก็จะทราบต้นทุนที่แท้จริง

หรือผู้บริโภคอาจจะฟ้องคดีด้วยตนเองโดยใช้พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หรือสามารถฟ้องคดีแบบกลุ่ม(Class Action) ได้ เพื่อให้ทุกคนที่ซื้อกระทะได้รับการคุ้มครองร่วมกัน

นอกเหนือจากคณะกรรมการโฆษณาของสคบ. ที่จะขอให้บริษัทเปิดเผยที่ไปที่มาของการโฆษณา เพื่อตรวจสอบว่าเรื่องนี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงหรือเป็นเท็จซึ่งมีความผิด และสามารถจำคุก 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภคได้

แทนที่จะเห้นความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ นอกจากงงเป็นไก่ตาแตก ต่างก็พยายามที่จะบอกว่า “ไม่ใช่ความรับผิดชอบของตัวเองดังเช่น กระทรวงพาณิชย์ก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สินค้าควบคุม กระทรวงพาณิชย์ทำอะไรไม่ได้” ส่วนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแทนที่จะอาจใช้ประเด็นเรื่องการหลอกลวงผู้บริโภคเป็นหลักกลับตั้งประเด็นเรื่องการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคซึ่งก็เป็นประเด็นปลายเหตุ ทั้งที่เรื่องนี้ควรใช้เหตุผลเรื่องการใช้ราคาสูงเกินจริง ที่เรียกว่า ราคาปลอม เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ หรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของราคาสินค้า จนเกิดความเสียหาย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน