ถาวร เผยเบื้องลึก ความเห็นต่าง “คมนาคม-คลัง” กรณีแก้ปัญหาการบินไทย สุดท้าย นายก ตัดสิน เห็นชอบให้ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายแล้ว เตรีมเสนอให้ บอร์ด คนร. ไปเขียว 18 พ.ค. เข้า ครม.

ระหว่างที่ข้อสรุปและแนวทางการแก้ไขปัญหาภาระขาดทุนสะสม 2.4 แสนล้านบาท ของบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยืดเยื้อไม่มีข้อยุติ ท่ามกลางกระแสข่าวเพราะกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% และกระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้ากระทรวงที่กำกับการบินไทยยังเห็นต่างกันนั้น

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ข่าวสด เปิดเผยถึงเบื้องลึกถึงสาเหตุของความเห็นต่างในการแก้ไขปัญหาการบินไทยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง ได้เข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาการบินไทย โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย.นี้ ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2563 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่การบินไทย

โดยได้นำเสนอแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทยให้ที่ประชุมพิจารณา เตรียมที่จะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท และเพิ่มทุน 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งการบินไทยจะปฏิบัติตามแผนดำเนินการ 23 ข้อที่นำเสนอ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้การบินไทยสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้ ซึ่งที่ประชุม คนร. ได้มีมติเห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ รวมทั้งมีมติให้ กระทรวงคมนาคมรับมติ คนร.กลับมาพิจารณา เพื่อจัดทำเรื่อง เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ต่อไป

แต่หลังจากที่ ตน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม นำมติ คนร.และแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูของการบินไทยทั้ง 23 ข้อมาพิจารณาอย่างละเอียดแล้วเห็นว่า 23 แนวทางในการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูของการบินไทยนั้น มันไม่ใช่ และไม่มั่นใจว่าจะทำให้การบินไทยกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้จริง เพราะหลายเรื่องเป็นไปไม่ได้

เช่น การขายเครื่องบินเก่า แอร์บัส 340 จำนวน 9 ลำให้ได้ภายในเดือน ม.ค.2564 และอีกประการหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ กรณีที่กระทรวงการคลังจะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำเงินไปให้การบินไทยนำเงินไปใช้นั้น จะเข้าข่ายช่วยเหลือเอื้อประโยชน์ให้เอกชนที่เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทการบินไทยที่ อาจจะทำให้กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนในการอนุมัติข้อเสนอนี้ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เพราะหากการบินไทยนำเงินกู้ไปใช้แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์และเงินภาษีของประชาชนเพิ่มเติมอีก คณะรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องรับผิดชอบมีกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ดังนั้น กระทรวงคมนาคม หากมีการค้ำประกันไปแล้ว จะเกิดความเสียหาย กระทรวงคมนาคมจึงมีมติไม่เห็น กับมติ คนร. วันที่ 29 เม.ย.

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลประเด็นเรื่องการถือหุ้นในการบินไทย เพราะหากในอนาคตตรวจสอบพบว่า คณะรัฐมนตรีที่ร่วมอนุมัติให้มีการค้ำประกันเงินกู้มีการถือหุ้นการบินไทยอยู่ด้วย แม้ว่าจะเป็นเพียง 1 หุ้น ก็อาจจะเข้าข่ายผลประโยชน์ทันซ้อนดำเนินการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ตกกับตนเอง ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของกระทรวงคมนาคม ในการประชุม คณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมจึงมีการนำเสนอความเห็นดังกล่าวในระหว่างการประชุม ครม. โดยแสดงจุดยืนว่า กระทรวงคมนาคมไม่เห็นด้วยกับ มติ คนร.ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้5.4 หมื่นล้านให้กับการบินไทยตามเหตุผลข้างต้น แต่เห็นชอบกับมติ เรื่อง การลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลง2% เพื่อให้มีสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า51%

ซึ่งในการประชุม ครม.ครั้งนี้กระทรวงคมนาคมยังได้แสดงจุดยืนแนวทางการแก้ไขปัญหาการบินไทย ด้วยการเสนอให้การบินไทยเข้าสู่ขบวนการฟื้นฟูด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ เพราะถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างกระทรวงคลัง และคมนาคม ทำให้ มติ คนร.วันที่ 29เม.ย. ไม่ได้ถูกเข้าสู่การพิจารณาของครม. ในวันนั้น

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หาทางออกด้วยการสั่งการให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังกลับไปหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังได้นัดที่จะหารือร่วมกันอีกครั้ง ในวันที่ 14 พ.ค. เวลาประมาณ 15.00 น.ที่กระทรวงคมนาคม แต่ปรากฏว่าในวันดังกล่าว นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ไม่เดินทางเข้าร่วมประชุม โดยชี้แจงว่าติดภาระกิจด่วน

ดังนั้น รัฐมนตรีที่เดินเข้าร่วมประชุมกันในวันดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย ตน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ จึงมีข้อยุติร่วมกันและให้ความเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาการบินไทย 2 เรื่อง คือ

1.เห็นชอบการลดสัดส่วนการถือหุ้นกระทรวงการคลังให้ต่ำกว่า 50%

2. เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม ยื่นต่อ ครม. ให้มีมติให้การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

ต่อมาวันที่ 15 พ.ค. ตน นายอนุทิน นายศักดิ์สยาม น.ส. มนัญญา ได้เข้าพบกับ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานความคืบหน้า และนำเสนอแนวทางการแกไขปัญหาการบินไทยตามมติร่วม 4 รัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีและที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกันตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม คือให้การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ และให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นในการบินไทย

โดยที่ประชุมมอบกระทรวงคมนาคม จัดทำข้อเสนอ เข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในวันที่ 18พ.ค.ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะนั่งเป็นประธานการพิจารณา หาก บอร์ดเห็นชอบ ก็สามารถนำเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติในวันที่ 19 พ.ค.ต่อไป

“ขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คนร. เห็นชอบตามข้อเสนอของเราแล้ว คือให้การบินไทยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นในการประชุม คนร.วันที่ 18พ.ค. ข้อเสนอนี้น่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งหลังจากนั้น คนร.จะสรุปส่งเรื่องกลับมาให้กระทรวงคมนาคม และกระทรวงคมนาคมก็จะทำเรื่องเสนอให้ ครม. เห็นชอบ ในวันที่ 19พ.ค. ต่อไป “

นายถาวรกล่าวถึงแนวทางการยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการว่า จะต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว เบื้องต้นการบินไทยจะดำเนินการยื่นร้องต่อศาลเองก่อนที่เจ้าหนี้จะเป็นผู้ยื่น คาดว่าจะยื่นต่อศาลล้มละลายในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการบินไทยมีเจ้าหนี้อยู่ในต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งหากปล่อยให้เจ้าหนี้เป็นผู้ยื่นอาจจะมีปัญหาเรื่องการเข้ามายึดทรัพย์ของการบินไทย รวมทั้งการบินไทยจะต้องมีการยื่นร้องต่อศาลล้มละลายในไทยด้วย

“ การบินไทยต้องเร่งยื่นคำร้องต่อศาลโดยเร็วที่สุด เพราะหากรอให้ถึงกำหนดเวลาการชำระหนี้ การบินไทยยังไม่จ่ายหนี้ อาจจะเร่งให้เจ้าหนี้ออกมายื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลก่อนการบินไทยได้ ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องการเข้ามายึดทรัพย์

ดังนั้น การบินไทยในฐานะลูกหนี้ต้องยื่น ขอฟื้นฟูก่อน ซึ่งวิธีนี้ การบินไทยมีความคล่องตัวมากกว่า แต่สุดท้ายเจ้าหนี้ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ด้วย ซึ่งวิธียื่นฟื้นฟูผ่านศาลล้มละลาย เป็นวิธีที่ดี เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างยุติธรรม และเต็มจำนวน ขณะที่กิจการของลูกหนี้คือการบินไทยก็สามารถเดินต่อไปได้ภายในแผนฟื้นฟูที่จัดทำขึ้นจากผู้บริหารแผนที่ศาลตั้งขึ้น”

ส่วนขบวนการฟื้นฟู จะต้องใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับผู้บริหารแผนฟื้นฟู ศาล และเจ้าหนี้ รวมทั้งผลการประกอบการของการบินไทยในระหว่างการฟื้นฟูด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ยังตอบไม่ได้ ซึ่งปกติก็มีอยู่ 2 แนวทาง คือฟื้นฟูสำเร็จ และฟื้นฟูไม่สำเร็จต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

สำหรับภาระหนี้ปัจจุบันของการบินไทยที่ต้องชดใช้ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มีวงเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 1.4แสนล้านบาท นั้นเจ้าหนี้ของการบินไทยนั้นขณะนี้ ประกอบด้วย สหกรณ์ต่างๆ วงเงิน 4หมื่นล้านบาท กระทรวงการคลัง 1.2 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้ให้เช่าและให้เช่าซื้อเครื่องบินเครื่องบินจำนวน 60 ลำ วงเงินกว่า 5หมื่นล้านบาท และเจ้าหนี้อื่นๆที่อยู่ต่างประเทศ4.8หมื่นล้านบาท

นายถาวร กล่าวถึงฐานะของการบินไทยในอนาคตว่า ภายหลังการยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลว่า เมื่อคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นเหลือ 49% แล้วจะช่วยลดภาระการเพิ่มทุนของรัฐ ซึ่งจะทำให้การบินไทยกลายเป็นรัฐวิสาหกิจชั้น 3 เหมือกับบริษัททั่วไป จะมีความคล่องตัวในการยบริหารงานมากขึ้น สามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติมาบริหารงานได้

โดยผู้ที่เข้ามาบริหารจะได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทางอาญา เพราะไม่ได้เป็นเจ้าหนักงานตาม พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งการบินไทยยังไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยเปลี่ยนมาใช้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เหมือนบริษัทเอกชน ดังนั้นสหภาพการบินไทยจะถูกสลายไปด้วย ทำให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น

ข้อดีของการเป็น รัฐวิสาหกิจชั้น 3 คือ รัฐบาลไม่ต้องนำเงินภาษีประชาชนไปอุ้มการบินไทยอีกต่อไป มีความคล่องตัวในการบริหาร ไม่ต้องผ่านขั้นตอนราชการ ไม่ต้องผูกพันกับแต่งตั้งคณะกรรมการบอร์ดที่คัดสรรมาจากส่วนราชการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการซึ่งบางครั้งไม่ผู้ที่มีความรู้ความสมารถ ที่เข้ามามานั่งบริหารงาน

“กรณีที่หลายคนเป็นห่วงว่าประเทศไทยจะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไปนั้น ผมอยากจะถามว่า หากปัจจุบันสายการบินแห่งชาติของมันเราเจ๊งขาดทุนมหาศาล มันจะเป็นประโยนช์อะไรกับประเทศบ้าง ไม่อยากให้สังคมยึดกับชื่อหรือศักดิ์ศรีคำว่าสายการบินแห่งชาติ และอย่าลืมว่าหลังจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นอยู่ 49% กองทุนวายุภักดิ์ ก็ยังถือหุ้น หรืออาจจะ ซื้อเพิ่ม หรือคลังอาจจะให้ หน่วยงานในสังกัดเข้ามาถือเพิ่ม หาก คลังในฐานะผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าไปดูแลการบินไทยได้ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดยังไงแล้ว”

ส่วนแนวทางการดูแลพนักงานการบินไทยในปัจจุบันนั้น ต้องรอดูหลังจากการยื่นขอฟื้นฟูต่อศาล เพราะจะต้องมีการจัดตั้งผู้บริหารแผนเข้ามาฟื้นฟูการบินไทยซึ่งจะมีการวางแผนบริหารจัดการทุกเรื่องของการบินไทย ทั้งการปรับโครงสร้างองค์ กร และบุคลากร ส่วนผู้บริหารแผนจะเป็นใคร นั้น การบินไทยจะต้องประชุมร่วมกับเจ้าหนี้ ว่าจะแต่งตั้งใครเข้ามาดำเนินการ โดยกรณีที่การบินไทย เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเอง การบินไทยจะต้องเตรียมจัดหาผู้บริหารแผนด้วย โดยระหว่างการรอฟื้นฟู รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยจะต้องบริหารจัดการพนักงานไปก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน