สหภาพแรงงานองค์การค้า ซัด รัฐมนตรี ศธ. ไม่มีธรรมาภิบาล หลัง 961 พนักงานถูกเลิกจ้าง เผย 2 ก.ค.เล็งหารือฟ้องร้องเอาผิด

จากกรณีมีคำสั่งขององค์การค้าของสกสค. เรื่องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสกสค. 961 คน โดยให้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ตามรายชื่อแนบท้ายคำสั่งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 15 ปี ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

สำหรับความคืบหน้า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้พนักงานองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จำนวน 961 คน ถูกลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ผอ.องค์การค้า ลงนามในคำสั่งองค์การค้าของสกสค.ที่ 75/2563 เรื่องขยายระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่หยุดงานต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินขององค์การค้า จึงกำหนดให้ขยายระยะเวลาการหยุดงาน โดยไม่ถือเป็นวันลา เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด และเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินขององค์การค้า ซึ่งพนักงานที่หยุดงานไปให้รับค่าจ้างในอัตรา 75 % ของเงินเดือนปัจจุบันจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

นายนิวัติชัย กล่าวต่อว่า จากคำสั่งองค์การค้าที่ 75 ระบุว่าให้เจ้าหน้าที่หยุดงานโดยไม่นับเป็นวันลา ได้รับค่าจ้าง 75 % ตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.นั้น แต่ต่อมาในวันที่ 19 มิ.ย.กลับมีหนังสือจากผอ.องค์การค้า ถึงรองผอ.องค์การค้าของสกสค. ผอ.สำนักบริหารการเงินและบัญชี ผอ.สำนักงานบริหารกลาง และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและวินัย ให้งดการจ่ายเงินจ่ายค่าจ้างในเดือนมิ.ย.63 โดยระบุให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดการได้รับประโยชน์ทดแทนจากการว่างงาน จากเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากโรคระบาดของโรคติดต่ออันตราย ว่าให้ลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ไปติดต่อรับสิทธิจากกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แทน ในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 แทน จึงระงับการจ่ายเงินเดือนในเดือนมิ.ย.

นายนิวัติชัย กล่าวต่อว่า ต่อมาวันที่ 25 มิ.ย. มีประกาศองค์การค้าของสกสค.ที่ 84/2563 เรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่หยุดงาน โดยคำสั่งระบุว่า อาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงกรณีการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย อันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 และ ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533

และมาตรา 79/1 แห่งพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับ 4) พ.ศ.2558 และอาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 (4) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้า (ฉบับ2 ) พ.ศ.2556 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสกสค. หยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา และให้ใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกิน 90 วัน กับสปส. ทั้งนี้ให้เริ่มหยุดงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

“จากนั้นเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. องค์การค้าออกคำสั่งที่ 85/2563 เรื่องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสกสค. โดยระบุว่าด้วยองค์การค้า เป็นองค์กรจัดหาผลประโยชน์ให้แก่สกสค. มีหน้าที่บริการส่งเสริมอำนวยความสะดวกในการจัดระบบการศึกษาของชาติในด้านการพิมพ์ หนังสือเรียน เอกสารทางการศึกษา ผลิตอุปกรณ์การศึกษา ตามที่สกสค.มอบหมาย ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลามากกว่า 15 ปี องค์การค้าจึงมีความจำเป็นที่ต้องเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปรับปรุงอัตรากำลังและผลประโยชน์ตอบแทนขององค์การค้า ให้สอดคล้องกับภาระกิจ

จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 (5) แห่งข้อบังคับคณะกรรมการสกสค.ว่าด้วยการบริหารองค์การค้า ประกอบกับมติคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ของ สกสค. วันที่ 23 มิถุนายน จึงให้เลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 961 ราย ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563″นายนิวัติชัยกล่าว

นายนิวัติชัยกล่าวว่า ตนมองว่าองค์การค้านั้น มีหนี้สินสะสมจริง แต่ไม่ถึงจะล้มละลายหรืออยู่ไม่ได้ ขอตั้งคำถามว่าการกระทำเช่นนี้ถูกกฎหมายหรือไม่ ผิดตามที่พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดหรือไม่ และการเลิกจ้างเช่นนี้มีธรรมาภิบาลและเป็นธรรมกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ จำเป็นต้องเลิกจ้างงานในขณะที่องค์การค้ามีหนี้สินเยอะ แต่งานและภาระกิจต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของศธ. ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ภาระกิจการพิมพ์หนังสือ จะดำเนินการอย่างไรต่อ หรือจะไปเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนในการจัดพิมพ์หนังสือต่อ และเมื่อประกาศว่าเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยจะจ่ายตามกฎหมายนั้น องค์การค้าจะนำเงินจากไหนมาจ่าย ถ้านำเงินจากไหนมาจ่าย จะนำเงินสกสค.มาจ่ายหรือไม่ หากทำเช่นนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

“เรื่องดังกล่าวสร้างความเดือนร้อนให้พนักงานอย่างมาก และมองว่ายิ่งแก้ไขปัญหายิ่งผิด เดิมที่รัฐบาลกำหนดว่าจะต้องส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาฟื้นฟูองค์การค้า แต่การกระทำเช่นนี้เรียกว่าฟื้นฟูองค์กรหรือไม่ แม้จะไม่ยุบองค์การค้าก็ตาม แต่ภารกิจที่องค์การค้ารับผิดชอบนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อเลิกจ้างพนักงานเช่นนี้ แล้วผู้ปกครอง นักเรียนจะได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะต่อไปจะซื้อหนังสือเรียนราคาเท่าไหร่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารองค์การค้า และรมว.ศึกษาธิการไม่มีธรรมาภิบาล ต่อไปทางสหภาพแรงงานฯ จะไปดูว่ามติที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมาย เป็นธรรมกับลูกจ้างหรือไม่ และขัดต่อกฎหมายใดบ้าง ขณะนี้สหภาพกำลังปรึกษาผู้รู้ด้านกฎหมาย และนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมวิสามัญสหภาพแรงงานฯ ในวันที่ 2 ก.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการครั้งต่อไป เพื่อเอาผิดหรือฟ้องร้องกับผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร และประเทศชาติต่อไป”นายนิวัติชัยกล่าว

นายนิวัติชัย กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่ได้รับคือ หนังสือที่จะพิมพ์ในปีถัดไปจะดำเนินการอย่างไร นักเรียน ผู้ปกครองก็กังวลว่าเมื่อองค์การค้าเลิกจ้างพนักงานไป การจัดพิมพ์ คุณภาพหนังสือ และราคาขายจะได้ราคาที่เป็นธรรมและเป็นกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองหรือไม่ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับความเดือนร้อนแน่นอน ที่บางคนมีภาระต้องหาเลิกครอบครัวเมื่อถูกเลิกจ้างในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ พนักงานจะทำอย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน