นักวิชาการชี้ ลุงพล ตกเป็นเหยื่อของสื่อ ยกเคส ไอ้หยอง ฆ่าหั่นศพ ถูกทำให้เป็นเทพบุตร

การเสียชีวิตอย่างปริศนาของ น้องชมพู่ หนูน้อยวัย 3 ขวบ แห่งบ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ผ่านมา 4 เดือน เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่ฆาตกรรมน้องชมพู่ได้

แต่ทว่าอีกมุมหนึ่ง กลับกลายเป็นว่า ลุงพล หรือ นายไชย์พล วิภา ลุงของน้องชมพู่ ถูกสื่อนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องในหลากหลายแง่มุม ทำให้จากผู้ต้องสงสัยในคดีดังกล่าว กลายเป็นคนดังในช่วงเวลาไม่นาน

ปรากฎการณ์ที่สื่อมวลชนมุ่งนำเสนอข่าวของ ลุงพล โดยละเลยมรณกรรมของน้องชมพู่ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นจำนวนมากต่อการทำหน้าที่สื่อ โดยเฉพาะทีวี 2 ช่องที่นำเสนอเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ หัวหน้าช่างภาพ และนักข่าว ของสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอเรื่องนี้ ประกาศลาออก เนื่องจากรับไม่ได้กับการนำเสนอข่าวในลักษณะเช่นนี้

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เพื่อทำความเข้าใจถึงความเหมาะสมในการนำเสนอข่าวของสื่อ ผศ.ดร.จรัล มานตรี อาจารย์ประจำวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ให้ความเห็นในฐานะนักวิชาการที่คลุกคลีอยู่กับวงการข่าวมาหลายสิบปี

ปรากฎการณ์ ลุงพล ฟีเวอร์ สะท้อนการทำงานของสื่ออย่างไร

ผศ.ดร.จรัล : ต้องเข้าใจก่อนว่าเรื่องนี้ลุงพลไม่ผิด เขาก็อยู่ของเขาเป็นปกติ แต่สื่อนั่นแหละที่พยายามปั้นข่าวให้มันกลายเป็นเรื่องที่คล้ายๆการซุบซิบนินทา ซึ่งมันตอบสนองต่อคนบางกลุ่มที่ชอบเรื่องประเภทนี้ เหมือนกับเขาได้ฟังข่าวของคนข้างบ้าน ซึ่งการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้ คล้ายกับการนำเสนอเรื่อง ครูปรีชา หวย 30 ล้าน และเรื่องของโป้ อานนท์

ทั้งที่จริงสื่อควรระมัดระวังในพลังอำนาจของตัวเองว่า สามารถชี้นำสังคมได้ ถ้าใช้มันในด้านที่ผิด ก็จะส่งผลลบกับสังคม กลายเป็นการมอมเมาคนในสังคม โดยมีผลประโยชน์ของสื่ออยู่เบื้องหลัง

เรื่องนี้สื่อจะอ้างไม่ได้ว่า เขามีหน้าที่ในการนำเสนอเท่านั้น ที่เหลือคือวิจารณญาณของผู้รับสาร เพราะสื่อเองก็ต้องมีวิจารณญาณในการนำเสนอเช่นกัน

ถ้าคิดบนฐานคิดแบบนี้ สื่อก็สามารถนำเสนอข่าวได้ทุกข่าว อย่างอิสระ โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วทำไมข่าวการเมืองบางข่าวยังเซ็นเซอร์ตัวเองได้ ทั้งที่ควรปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของประชาชน

แต่ข่าวที่ปราศจากคุณค่าทางด้านข่าวแบบเรื่องของลุงพล กลับบอกว่าเป็นวิจารณญาณของสังคม แล้วอ้างเหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาสนับสนุนการเสนอข่าวนี้ ทั้งที่เหตุผลที่แท้จริงคือผลประโยชน์ของตัวเอง

เคสนี้มันมีผู้ที่กลายเป็นเหยื่ออยู่ 2 กลุ่ม คือ ลุงพล และ ครอบครัว ที่จะได้รับความเกลียดชังจากประชาชนบางกลุ่ม และอีกกลุ่มคือประชาชนที่รับสารไปและคลั่งไคล้ไปกับข่าว ส่วนกลุ่มคนที่จะได้ประโยชน์ไปมีเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นคือสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวนี้อย่างเอาเป็นเอาตาย

 

สื่อหลักขายดราม่า ยกเคส ไอ้หยอง ฆ่าหั่นศพ ถูกปั้นให้เป็นเทพบุตร

ผศ.ดร.จรัล : การเสนอข่าวแบบนี้มันเกิดขึ้นมานานมากแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ก็ข่าวหวย 30 ล้าน ซึ่งนำเสนอแบบเรื่องสั้น-นิยาย สร้างปมความขัดแย้งระหว่างครูปรีชา กับหมวดจรูญ ดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆหาประเด็นสีสันมาเพิ่ม สุดท้ายเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ คนรับชมข่าวก็สนุกน่ะสิ เหมือนดูละครโทรทัศน์ทำนองนั้น สื่อก็ลากเรตติ้งไปได้เรื่อย คนแห่ตามข่าวกันทั้งบ้านทั้งเมือง คำถามคือมันควรนำเสนอขนาดนั้นไหม ไม่มีข่าวอื่นที่มีคุณค่าข่าวมากกว่านั้นแล้วหรือ

และถ้าให้ไกลไปกว่านั้น อันนี้อาจจะเป็นข่าวที่ฝังอยู่ในความทรงจำของผมเลย ในยุคเฟื่องฟูของหนังสือพิมพ์ ราวสัก 30 ปี มีฆาตกรฆ่าหั่นศพหญิงสาวเกิดขึ้น ซึ่งคนที่ฆ่าชื่อ “ไอ้หยอง”

ทีนี้หนังสือพิมพ์ก็ช่วยกันปั้นให้หยองกลายเป็นดาราขึ้นมา อาจจะเพราะไอ้หยองมีรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาเอาการอยู่ หนังสือพิมพ์ก็พากันขนานนามว่า “ฆาตกรรูปหล่อ” หญิงทั้งเมืองก็พากันหลงไหลไอ้หยอง พากันมากรี๊ดกร๊าดในทุกๆอริยาบทของไอ้หยอง

หนังสือพิมพ์ก็นำเสนอเรื่องราวของไอ้หยองในทุกอริยาบท มีผู้หญิงพากันเฝ้าในที่คุมขัง เขียนจดหมายมาหา มอบดอกไม้ ข้าวปลาอาหารให้ จากฆาตกรกลับกลายเป็นเทพบุตรของสาวๆไปในชั่วพริบตา ผลที่ตามมาคือหนังสือพิมพ์ก็ขายดิบขาดีเป็นเทน้ำเทท่า

ผมเกิดคำถามขึ้นกับตัวเองในตอนนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองของเรา ยังจำภาพรอยยิ้มของไอ้หยองได้เลย ทั้งที่เอาจริงๆ ในทัศนะของผม ไอ้หยองก็แค่ผู้ชายหน้าตาธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น แต่ด้วยการปั้นของหนังสือพิมพ์โดยแท้ ที่ทำให้เขากลายเป็นเทพบุตรซาตาน

หมดเรื่อง ลุงพล สื่อก็หาเรื่องดราม่าใหม่ๆมานำเสนอ

ผศ.ดร.จรัล : แน่นอน เดี๋ยวสื่อก็สร้างเรื่องใหม่ขึ้นมา มันเป็นเทคนิคการเสนอข่าวแบบโบราณ แต่ใช้ได้จนมาถึงปัจจุบัน ตราบเท่าที่คนจำนวนหนึ่งยังไม่สามารถที่จะมีวิจารณญาณที่มากพอ ซึ่งต้องยอมรับว่าในสังคมมีคนที่ลักษณะแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้สื่อจึงต้องระมัดระมัดในการนำเสนอข่าวให้มาก กระบวนกาารคัดกรองในการนำเสนอจึงต้องเข้มข้น และคำนึงถึงความแตกต่างของปัจเจกบุคคล

อย่างไรก็ตาม ข่าวประเภทนี้ไม่ใช่จะมีเฉพาะเมืองไทย เมืองนอกเองเช่นที่อเมริกาเองก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำเสนอในลักษณะนี้เช่นกัน ไม่ใช่เกิดเฉพาะที่ประเทศไทยอย่างเดียว อย่างเช่น กรณีของชาร์ลส์ แมนสัน

แมนสัน เป็นเจ้าของความคิดเบื้องหลังการฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยมในเดือนสิงหาคม ปี 1969 แม้ไม่เคยลงมือเอง แต่ผู้ติดตามเขาที่เรียกว่าเป็น “ครอบครัวแมนสัน” (Manson Family) ได้คร่าชีวิตผู้อื่นไปทั้งหมด 7 ศพ หนึ่งในนั้นคือภรรยาที่ตั้งครรภ์ของผู้กำกับชื่อดัง โรมัน โปลันสกี้ (Roman Polanski)

แมนสัน กลายเป็นความคลั่งไคล้ของสังคมอเมริกัน หรืออาจจะแพร่ขยายไปทั่วโลกก็ได้ ด้วยฝีมือการปั่นข่าวของสื่ออเมริกันด้วยรูปร่างหน้าตาในแบบฮิปปี้ของเขาซึ่งกำลังได้รับความนิยม

สื่อบางสื่อได้ปั่นข่าวขึ้นมา จนทำให้แมนสันเป็นที่สนใจของประชาชนโดยเฉพาะสาวๆ มีผู้หญิงมากมายเขียนจดหมายมาหาเขา และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของเขาผ่านทางสื่อต่างๆ

สื่ออเมริกันถูกตำหนิเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ที่ทำให้ฆาตกรที่ควรได้รับการประนามกลายมาเป็นฮีโร่ ซึ่งผลกระทบที่น่ากังวลก็คือพฤติกรรมลอกเลียนแบบนั่นเอง

 

ทางออกปฏิรูปสื่อ เมื่อรัฐบาลชอบให้คนเสพดราม่า

ผศ.ดร.จรัล : การปฏิรูปสื่อ มันมีทางแก้ ถ้าจะทำกันจริงจัง และมีมาตรการลงโทษที่เป็นรูปธรรม แต่หากยังไม่ชัดเจนแบบนี้มันก็อยู่กันแบบนี้แหละ สื่อเองก็ต้องช่วยกัน ตรวจสอบกันเอง อย่าไปถือหลักที่ว่า แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเอง

และสื่อเองแต่ละสำนักก็ต้องปรับปรุงตัวเอง พยายามทำข่าวที่มันยากกว่านี้ มีประโยชน์กว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ มันน่าละอายใจไหม ที่ข่าว บอส อยู่วิทยา สื่อไทยตกข่าวหมด โดยที่เราต้องไปอาศัยข่าวจากสื่อต่างประเทศ

ย้อนกลับมาที่ข่าวของลุงพล แห่งบ้านกกกอก ที่สื่อทำกันอยู่ทุกวันนี้ บอกตรงๆ ลูกศิษย์อาจารย์ปี 2-3 ก็ทำได้แล้ว

อย่างไรก็ตามคิดว่า รัฐบาลชอบให้คนเสพข่าวแบบนี้นะ ก็เหมือนละครโทรทัศน์รักๆใคร่ๆนั่นแหละ สมัยหนึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า รัฐบาลชอบที่จะให้ประชาชนพาติดละครโทรทัศน์แบบนั้น เพราะจะทำให้เหมือนว่าคนตกอยู่ในความฝัน ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง จนลืมความทุกข์ความยากจนในโลกแห่งความเป็นจริงที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่

เมื่อนั้นรัฐบาลก็ลอยตัวจากความไร้ประสิทธิภาพของตัวเอง ทำเรื่องแย่ๆ ได้ตามสบาย เพราะในเมื่อคนตกอยู่ในความฝันเสียแล้ว แต่จริงๆแล้วมันคือฝันร้ายมากกว่า

เมื่อตกอยู่ในความฝัน ก็พากันลืมโลกแห่งความเป็นจริง ลืมความเจ็บปวดของชีวิตไปชั่วขณะ ถ้าพูดแรงๆก็อาจจะบอกว่า ทำให้คนหลอกง่าย หรือว่าเชื่อง จนรัฐบาลจะทำอะไรก็ได้ ทำนองนั้น

 

เมื่อเด็กวิพากษ์สื่อ -ข่าวยากๆ ก็ขายได้ถ้าเอาจริง

ผศ.ดร.จรัล : ที่น่าดีใจคือเด็กรุ่นใหม่เท่าที่คุยอยู่ และดูตามเฟซบุ๊กของเขานี่ เขาไม่พอใจกับการนำเสนอข่าวแบบนี้เลยนะ บางคนก่นด่า บางคนแสดงอาการไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด

สิ่งที่แนะนำเขาไปแม้ว่า อุตสาหกรรมสื่อ จะเป็นการแสวงหากำไรในระดับหนึ่ง แต่ก็แตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่นอยู่พอสมควร เพราะมันมีเรื่องของจริยธรรม และประโยชน์ของสาธารณะกำกับอยู่ด้วย

การจะนำเสนอข่าวใดๆ นอกจากจะคำนึงถึงความสนใจของผู้อ่านแล้ว ต้องคำนึงผลประโยชน์ของสาธารณชนเป็นที่ตั้งด้วย รวมทั้งผลกระทบในด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่มุ่งเสนอข่าวที่เรียกแต่ผู้อ่าน แต่ปราศจากคุณประโยชน์ใดๆ ต่อสังคม

ครั้งหนึ่ง มติชน เคยนำเสนอความอภินิหารของผีบุญคนหนึ่ง คนตกใจกันมาก เพราะคิดว่ามติชนกำลังเปลี่ยนไป จะนำเสนอข่าวที่มันไร้สาระแข่งกับหนังสือพิมพ์หัวสีแล้วเหรอ

แต่พอฉบับรุ่งขึ้น มติชน ก็นำเสนอข่าวเดียวกันในมุมว่า ข่าวดังกล่าวเป็นการสะท้อนภาพของความล้าหลังของประเทศไทย ที่แม้แต่ในกรุงเทพ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไทย ยังมีคนจำนวนมากที่แห่กันไปให้ความเลื่อมใส

จะเห็นได้ว่า ข่าวแบบนี้ มันก็ขายได้ใช้ไหม กับคนทั่วไป แต่ขณะหนึ่งมันก็เป็นข่าวที่ตีแผ่ความจริงที่สังคมควรรู้ ซึ่งมันมีค่า มีประโยชน์ต่อสังคม

ซึ่ง มติชน เอง ก็เกิดมาจากข่าวทุจริตเครื่องราช เมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นข่าวสืบสวนสอบสวนซึ่งต้องใช้ความพยายามความเฉลียวฉลาดของนักข่าวในการขุดเจาะข้อมูล ผู้คนให้ความสนใจข่าวนี้กันทั่วทั้งประเทศ สิ่งนี้มันยืนยันใช่ไหมว่า ข่าวที่มีประโยชน์ต่อสังคม มันก็ขายได้ แต่มันอาจจะยากหน่อยก็เท่านั้น

สื่อต้องเปลี่ยนมุมมอง อย่าไปคิดว่า ข่าวแบบครูปรีชา หรือข่าวแบบลุงพล ซึ่งเป็นข่าวทำง่ายๆแบบนี้เท่านั้นถึงจะขายได้ ง่ายต่อการทำ ง่ายต่อการรับรู้

ข่าวยากๆ มีประโยชน์มันก็ขายได้ ขึ้นอยู่กับว่า สื่อจะเอาจริงเอาจังกับมันมากน้อยแค่ไหน เท่านั้นเอง

______________________________________________________________________________

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน