เมื่อช่วงเช้า (1ก.พ.) ที่ผ่านมา หลังจากที่มีรายงานว่านางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ พร้อมด้วยประธานาธิบดีเมียนมา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ได้ถูกทหารควบคุมตัวไปเมื่อรุ่งสางที่ผ่านมา ทั้งยังมีการตัดช่องทางการสื่อสารภายในประเทศ

ต่อมากองทัพเมียนมา ภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างเหตุผลของการควบคุมตัวครั้งนี้มาจากการทุจริตเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ทำให้ในโลกออนไลน์มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวกันในวงกว้าง จนดันแฮชแท็ก #SaveMyanmar และ #รัฐประหาร ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 และ 2 ทวิตเตอร์ประเทศไทย อย่างรวดเร็ว ซึ่งชาวเน็ตส่วนใหญ่ล้วนไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ประธานาธิบดีเมียนมา และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลที่ถูกควบคุมตัวไป

และมีการนำรัฐประหารที่เมียนมาในครั้งนี้ไปเปรียบเทียบกับการรัฐประหารในประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทหาร และยังแสดงความเป็นกังวลถึงผลกระทบที่อาจตามมาในภายหลังไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ หรือความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อเมียนมา

ทำให้ นักวิชาการ นักการเมือง และนักกิจกรรม ของไทยที่จับตามองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ของพม่า ออกมาแสดงความคิดเห็น ประณามการรัฐประหารครั้งนี้จำนวนไม่น้อย อาทิผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ,นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีศึกษาธิการ ทั้งยังมีชาวเน็ตจำนวนมากกำลังติดตามท่าทีของรัฐบาลไทยจะทำอย่างไรกับสถานการณ์รัฐประหารในเมียนมา

อ่าน ไทม์ไลน์ ‘รัฐประหารในเมียนมา’ จากข่าวลือสู่การบุกจับ ‘อองซาน ซูจี’ และคนสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน