เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย บุกยูเอ็น ยื่นหนังสือ 4 ข้อ จี้รัฐบาลไทย คุ้มครอง กะเหรี่ยงบางกลอย หลังจำใจเดินเท้ากลับ ใจแผ่นดิน ชี้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ชุมชนต้องมีส่วนร่วม

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 10 ก.พ.64 ที่หน้า องค์กรสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนิน เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงยูเอ็น กรณีปัญหาของกลุ่มกะเหรี่ยงบางกลอย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยแถลงการณ์ฉบับแปล ระบุว่า รัฐต้องให้ความคุ้มครองและยอมรับสิทธิชุมชนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 มีข้อมูลจากแหล่งข่าวแห่งหนึ่งรายงานว่า มีชาวบ้านจากบางกลอยล่าง ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จำนวนประมาณ 70 คน เดินทางกลับขึ้นไปที่บางกลอยบน – ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของพวกเขา หลังต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการขาดที่ดินทำกินกว่า 20 ปี

ชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงถูกอพยพลงมาครั้งแรกในปี 2539 ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า หลังจากที่ลงมาแล้วไม่มีที่ทำกิน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงอพยพย้ายกลับขึ้นไปอยู่ที่เดิมอีก และถูกอพยพลงมาอีกครั้งในปี 2554 ซึ่งการอพยพในครั้งนั้นมีการใช้ความรุนแรง และมีการเผาบ้านและยุ้งข้าวชาวบ้านด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงวิถีการดำรงชีวิตตามประเพณีของชุมชนกะเหรี่ยงที่ต้องพึ่งพาการทำไร่หมุนเวียนและการประกอบอาชีพอื่น ๆ ตามประเพณีที่ยั่งยืนอยู่ในขณะนั้น

ในช่วงที่มีการอพยพลงมาครั้งที่หนึ่งในปี 2539 นั้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินและสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ได้ ขณะที่ชาวบ้านอีกหลายคนที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินเลย

จากการสัมภาษณ์ กลุ่มชาวบ้าน 30 ครัวเรือน มีจำนวน 3 ครอบครัวที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัยประมาณ 20 ไร่ ขณะที่ 27 ครอบครัวไม่รับการจัดสรรที่ให้เลย ทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย กลุ่มผู้เดือดร้อนเหล่านี้ได้พยายามปรับตัวโดยการออกไปทำงานรับจ้างทั้งในและนอกชุมชน ซึ่งรายได้ที่ได้รับก็ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว

ชาวกะเหรี่ยงที่ผิดหวังต่อการจัดการของรัฐ ได้ตัดสินใจเดินทางกลับไปถิ่นที่อยู่ดั้งเดิมอีกครั้ง ก่อนจะถูกอพยพลงมาอีกในปลายปี 2553 จนถึงต้นปี2554 ภายใต้ยุทธการตะนาวศรี ซึ่งมีการเผาบ้านเรือนและยุ้งฉางของชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม และในที่สุดก็ถูกอพยพลงมาทั้งหมดในปี 2554

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้แทนชาวบ้านจำนวน 6 คน ฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งศาลตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดี เพราะมีหลักฐานจากกรมแผนที่ทหารพิสูจน์ได้ว่าชุมชนได้ตั้งมาแล้วตั้งแต่ปี 2455 และจากบัตรประจำตัวประชาชนของ ปู่โคอี้ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน เกิดในปี 2454 ซึ่งเกิดก่อนที่มีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรกถึง 30 ปี และก่อนมีกฎหมายอุทยานแห่งชาติฉบับแรกถึง 50 ปี

การกระทำของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผ่านมา ถือเป็นการละเมิดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสิทธิในการได้รับการปรึกษาหารือและการให้การยินยอมก่อนที่จะมีการอพยพ รวมทั้งสิทธิชุมชนด้วย เนื่องจากชาวบ้านหลายคนยังไม่มีบัตรประชาชน ทำให้พวกเขาไม่สามารถร้องเรียนค่าชดเชยใด ๆ ได้เลย

พื้นที่ที่ถูกอพยพลงมาด้านล่างก็ไม่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของชาวกะเหรี่ยง เนื่องจากไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนและการดำรงชีพอื่นตามประเพณีเดิมได้ ด้วยเหตุดังกล่าวชาวบ้านหลายคนต้องย้ายถิ่นออกไปข้างนอกเพื่อหางานทำ

การไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐและหน่วยงานต่างๆ ทำให้ชาวบ้านหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเดินทางกลับไปที่ใจแผ่นดิน แผ่นดินเกิดเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งมีเหตุผลประกอบหลายประการ

ประการสำคัญยิ่งในแง่ของวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ สมาชิกในชุมชนต้องการทำพิธีกรรมเพื่อนำเอากระดูกขึ้นไปฝังและส่งวิญญาณของ ปู่โคอี้ ที่ใจแผ่นดิน ตามระบบความเชื่อดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง ที่ต้องประกอบพิธีและเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานโดยใช้ข้าวที่ปลูกโดยลูกหลานของตนเท่านั้น พิธีกรรมถึงจะสมบูรณ์ และดวงวิญญาณของปู่จะได้ไปสู่สุคติ

เนื่องจากสมาชิกในชุมชนจำนวนหลายคนยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้มานานกว่า 20 ปี พวกเขาต้องอยู่อย่างยากจน ทำงานเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างรายวัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนต้องถูกเลิกจ้างและออกจากงาน

ส่วนใหญ่เดินทางกลับมาบ้าน ซึ่งไม่มีอาชีพอะไรรองรับสำหรับพวกเขา พวกเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับไปที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อทำไร่หมุนเวียนและอาชีพอื่นๆ ตามประเพณี คนที่ขึ้นไปข้างบนนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ต้องพึ่งพาตนเองโดยการออกไปรับจ้างรายวัน ซึ่งมีรายได้ประมาณ 20,000 – 30,000 บาทต่อปี เท่านั้น

ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอพยพลงมาในปี 2539 นั้น ช่วงนั้นยังไม่มีบัตรประชาชน บางคนได้รับบัตรหลังจากนั้น ทำให้ไม่สามารถได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย

การกลับไปคือทางรอดและเป็นแนวทางที่ยั่งยืนแนวทางเดียวสำหรับพวกเขา เนื่องจากหน่วยงานรัฐไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หลังจากที่ถูกอพยพลงมาแล้ว และการฟื้นฟูก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง

จากหลักฐานที่มีอยู่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น สามารถดูแล รักษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านที่อพยพกลับขึ้นไปชุมชนดั้งเดิมในครั้งนี้ มีความกลัวว่าจะประสบปัญหาเฉกเช่นเดียวกับที่เคยเจอมาจากการกระทำของรัฐ จึงอาศัยอยู่ด้วยความหวาดผวา พวกเราองค์กร/หน่วยงานที่ลงชื่อท้ายแถลงการณ์นี้ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รีบหาทางแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ความคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ที่ต้องการเดินทางกลับไปอยู่ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตนเองอย่างเร่งด่วน ดังนี้

ยื่น 4 ข้อเสนอเร่งด่วนถึงรัฐบาล

1) รับรองสิทธิของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 และเคารพในหลักการและกลไกของพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ลงนามหรือได้รับรองไปแล้ว เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) และอนุสัญญาอื่น ๆ อีกหลายฉบับ

2) รัฐบาลต้องรับรองว่าสมาชิกชุมชนที่เดินทางกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ตามบรรพบุรุษได้ และต้องไม่มีการบังคับอพยพ ข่มขู่คุกคาม หรือดำเนินคดีโดยเด็ดขาด

3ขอให้กระบวนการและขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกให้สอดคล้องกับหลักการสากล และการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจร่วมกันกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในเขตพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน

4) ยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในฐานะเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศน์และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของพวกเขาในฐานะผู้พิทักษ์และการดูแลรักษาระบบนิเวศน์

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน