กะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จัดพิธี “ทำขวัญข้าว” ครั้งแรกในรอบ 25 ปี ตั้งแต่ถูกอพยพจาก ใจแผ่นดิน ชาวบ้านดีใจ หวังปีหน้าพืชผลงดงาม ได้ข้าวเยอะกว่าที่ผ่านมา อดีต กสม. แนะ ฟื้นฟูไร่หมุนเวียน

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 8 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จัดพิธีกรรมตามประเพณี “ทำขวัญข้าว” ขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี นับตั้งแต่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอพยพจากพื้นที่ดั้งเดิมบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในปี 2539 โดยใช้ข้าวเปลือกประมาณ 2 ตัน ที่ได้รับบริจาคจากการระดมทุนกันโดยเครือข่ายกะเหรี่ยงและกลุ่มกัลยาณมิตรศิลปินในการประกอบพิธีกรรม

แต่เดิมพิธีกรรมนี้จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีภายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยจะมีการสร้างยุ้งข้าว แล้วทำพิธีนำสิ่งไม่ดีไม่งาม นำข้าวตอกดอกไม้กวาดให้สิ่งงดงามและขวัญข้าวกลับสู่ยุ้งข้าวก่อน หลังจากนั้นจะทำพิธีลูบไล้หรือหวีเส้นผมให้ข้าว เคี้ยวข้าวปั้นกับว่าน คายลงไปในกองข้าว เหมือนเคี้ยวให้ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือเจ้าแม่ของเราที่เรารักมาก ที่เรียกว่า ยายแห่งแม่ข้าว หรือ “พีโหม่บือ” ผู้หญิงจะเดินวนรอบกองข้าวสามรอบ แล้วเริ่มต้นใช้กระบุงตักข้าวใส่ในกระบุงข้าวที่สะพายหลังผู้ชาย ตัก 4 จุด วน 3 รอบ จากนั้นทุกคนก็จะช่วยกันแบกข้าวขึ้นยุ้งจนหมด

พฤ โอโดเชา ผู้แทนกะเหรี่ยงจังหวัดเชียงใหม่ที่เข้าร่วมพิธี กล่าวว่า ความหมายของพิธีนี้ก็คือการให้ความสำคัญกับข้าว คือผู้เฒ่าผู้แก่เขาจะผูกชีวิต แม้แต่การเอาข้าวขึ้นยุ้งก็ต้องมีขั้นตอน ประเพณี วัฒนธรรม ชีวิตปกาเกอะญอต้องทำพิธีกรรมนี้ต่อเนื่อง ถ้ามีพิธีกรรมตรงนี้ก็จะมีข้าว และถ้ามีข้าว ก็ต้องสืบสานพิธีกรรมนี้

“พิธีกรรมจะเกี่ยวข้องกับคน ข้าวนี้ได้รับการเคารพโดยคน ไม่ใช่มองว่าข้าวเป็นของเรา แต่ข้าวเป็นของแม่ที่เคยมาประทานให้เรากิน ความหมายลึกๆ คือเราผูกขาดข้าวไม่ได้ ข้าวไม่ใช่ของเรา ถ้าเราขอยืมขอใช้เขามากิน มาเลี้ยงเรา เราก็ต้องสำนึกต่อเมล็ดข้าว พันธุ์ข้าว และผู้บันดาลให้ข้าวเรา ก็คือธรรมชาติ ดิน น้ำ อากาศทั้งหลาย เมื่อเราเอาไปกิน เราต้องกินอย่างมีความหมาย เพื่อที่จะได้ไม่หลงลืมว่าเราได้ข้าวมาจากธรรมชาติ ไม่ควรจะเห็นแก่ตัว และควรจะแบ่งปัน” พฤ กล่าว

ด้าน มาลินี วอมอ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยผู้ประกอบพิธีกรรม กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจที่มีคนนำข้าวมาบริจาคให้ และได้ทำพิธีกรรมนี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งตนมีความคาดหวังว่าปีหน้าจะสามารถปลูกข้าวหรือพืชผลอื่นๆ ที่ได้ผลผลิตดีกว่านี้ ตามความเชื่อของปกาเกอะญอ

“เราทำเพื่อจะได้ให้ทำข้าวได้เยอะๆ ในแต่ละปี พอเราทำพิธี เราก็จะขอให้ปีต่อไปได้ข้าวเยอะๆ ตอนอยู่ที่ใจแผ่นดินก็ได้ทำพิธีแบบนี้ แต่เป็นการทำไร่หมุนเวียน ไม่ใช่ทำที่เดิมๆ ทำแต่ละปีได้ข้าวพอกินทุกปี ไม่ต้องมีคนเอาข้าวมาให้ ไม่ต้องเป็นห่วง ลงมาอยู่ที่นี่ต้องทำที่เดิมๆ ซ้ำๆ กัน ดินก็ไม่ค่อยดี ปลูกข้าวไม่ค่อยได้เลย ถึงปลูกข้าวได้ก็ข้าวไม่ดี ข้าวเป็นโรค ดินมันแข็ง ดินไม่มีปุ๋ย วันนี้มีคนเอาข้าวมาให้ ก็คิดว่า ปีหน้าจะได้ข้าวดีขึ้น แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะดีได้ยังไง เพราะมันที่เดิมซ้ำๆ” ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกล่าว

เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสมานฉันท์ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตนเห็นความเบิกบานในใจของชาวบ้านที่มาร่วมงาน พิธีกรรมตามวัฒนธรรมแสดงถึงชีวิตของคนและชุมชน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง ก็พูดถึงเรื่องการสืบสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม หลายคนที่นี่บอกว่าไม่ได้ปลูกข้าวมาหลายปีแล้ว ภูมิปัญญาในเรื่องการปลูกข้าว การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นวิถีของชาวกะเหรี่ยงได้สูญหายไปตั้งแต่อพยพเขามาในปี 2539 แล้ว เกือบจะ 25 ปีแล้ว ซึ่งตนคิดว่ากระทรวงทรัพยากรฯ ควรจะมองทั้งภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม

“การทำไร่ข้าวหมุนเวียนเป็นภูมิปัญญาที่เขาคุ้นเคยมานาน เขาจะรู้สึกมีความสุข และไม่รู้สึกว่าเครียดอะไร มีเวลาไปทำเรื่องอื่นๆ ที่มันสร้างสรรค์ แต่พอเขาต้องมาปรับตัว ปลูกมะนาว ไม้ผลอื่นๆ ก็ต้องมีการใช้ปุ๋ย ยา ซึ่งต้องมีทั้งเรื่องทุนและความรู้ใหม่ที่เขาจ้องต้องปรับตัวเรียนรู้ และใช้เวลากับมันมากขึ้น เขาจึงอยากรักษาสืบทอดเรื่องการทำไร่หมุนเวียนเอาไว้ และมีงานวิจัยมากมายทั้งในระดับชาติและระดับเอเชีย-แปซิฟิก ที่พิสูจน์แล้ว ไม่ว่าจะด้านสังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ด้านธรณีวิทยา นิเวศวิทยา ล้วนพิสูจน์ว่าระบบไร่ข้าวหมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ดำรงอยู่ และทำให้เกิดการฟื้นตัวของระบบนิเวศอย่างเร็วที่สุด” เตือนใจกล่าว

อดีตกรรมการสิทธิฯ ย้ำว่า หากไม่สนับสนุนให้ชุมชนสามารถกลับไปทำไร่หมุนเวียนได้ หรือปิดกั้นเส้นทางลำเลียงข้าวมาบริจาค และทำให้วัฒนธรรมประเพณีนี้หายไป ชีวิตของพี่น้องที่นี่ก็จะเหี่ยวเฉาไปเรื่อยๆ แล้วภูมิปัญญาที่เป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมก็จะสูญหายไป ท่ามกลางยุคที่พัฒนาไปเฉพาะวัตถุและเทคโนโลยี ต้องขอบคุณ รัฐมนตรีวราวุธ ศิลปอาชา ที่เปิดทางให้ลำเลียงข้าวขึ้นมาได้ ถึงแม้ก่อนหน้านั้นจะมีการประสานงานจากเจ้าหน้าที่กระทรวงทระยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายคนว่าไม่อนุญาตให้ขึ้นไปยังชุมชนบ้านบางกลอย สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

“ขอบคุณท่านวราวุธที่พอได้ทราบข่าวว่าพอมีปัญหาและอุปสรรคคือ มีคำถามว่าทำไมต้องเอาข้าวเปลือกขึ้น แล้วทำไมต้องมาจัดพิธีวันนี้ ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในหมู่บ้านกำลังจะดีอยู่แล้ว เหมือนกับว่าทีมที่มาจะมาสร้างปัญหา อยากให้ข้าราชการทั้งในระดับพื้นที่และระดับสูงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมองว่าพวกเราจะมาช่วยกันเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปด้วยความเคารพในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นความร่ำรวยของประเทศชาติและของโลกนี้”

ข้าวเปลือกที่ผ่านการทำพิธีเรียกขวัญข้าวในปีนี้ จะจัดเก็บไว้ในพื้นที่แห้ง ไม่ชื้น เพื่อป้องกันข้าวเสีย สำรองไว้สำหรับลำเลียงขึ้นไปให้กลุ่มชาวบ้านที่อพยพกลับไปบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่ขณะนี้มีประมาณ 70 ชีวิต โดยชาวบ้านข้างล่างจะตำข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารก่อนแล้วจึงลำเลียงขึ้นไป นอกจากนั้นหากชาวบ้านชุมชนบ้านบางกลอยล่างครัวเรือนใดมีข้าวไม่พอกิน ก็สามารถขอรับบริจาคได้เช่นกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน