กะเหรี่ยงบุก ทส. ขอพบ ‘วราวุธ’ เรียกร้องความเป็นธรรมพี่น้องบางกลอย กลับใจแผ่นดิน นักวิชาการ แฉอุทยานฯห้ามนำข้าว-สิ่งของบริจาคเข้าไปช่วยชาวบ้าน
เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 5 ก.พ.64 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เครือข่ายกะเหรี่ยงและประชาชนจำนวนหนึ่ง ชุมนุม #saveบางกลอย ทวงความเป็นธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนสู่กะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่กลับใจแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังถูกอพยพโยกย้าย ถูกเผาบ้าน ยุ้งฉาง และตกหล่นจากกระบวนการเยียวยาโดยรัฐมากว่า 25 ปี เข้ายื่นหนังสือต่อนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ในการขอเข้าพบเพื่อขอความชัดเจนในจุดยืนและแนวทางในการคืนความเป็นคนและความเป็นธรรมให้กับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย

นายจำนง หนูพันธ์ ประธานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ เป็นตัวแทนชาวบ้านเข้ายื่นหนังสือต่อนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ทส. พร้อมระบุว่า จากกรณีพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจน จ.เพชรบุรี ที่ต้องการกลับใจแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 14 มค. ที่ผ่านมา ภายหลังถูกอพยพโยกย้าย ถูกเผาบ้าน ยุ้งฉาง และตกหล่นจากกระบวนการเยียวยาโดยรัฐมากว่า 25 ปี

ซึ่งการกลับไปเป็นความชอบธรรมในการกลับไปที่อยู่ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมเพื่อความอยู่รอด เพื่อวิถีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตแบบดั่งเดิม ซึ่งมีเครือค่ายพี่น้องภาคี #Saveบางกลอย ทั่วประเทศร่วมติดตาม และส่งกำลังใจถึงพี่น้องให้ได้รับความเป็นธรรม และได้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของบรรพบุรุษเป็นจำนวนมาก

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการแก้ป้ญหาที่ผ่านมา กลับไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการคืนความเป็นธรรมในกับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอยในครั้งนี้ แต่กลับมีการสื่อสารจากบุคคลและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงการเตรียมดำเนินคดีกับพี่น้องกะเหรี่ยง รวมถึงกระบวนการในการปิดกั้นการส่งอาหารเพื่อการยังชีพของพี่น้องที่กลับไปใจแผ่นดิน ก่อเกิดความกังวลถึงความปลอดภัยของพี่น้อง และปัญหาความขัดแย้งครั้งใหม่

เช่นกรณีของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงที่เคยเกิดขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่สามารถหาคนกระทำผิดมาลงโทษจากการกระทำที่โหดเหี้ยมครั้งนั้นได้ และเราไม่อยากให้ประวัติศาสตร์และภาพจำที่เลวร้ายเกิดขึ้นอีกไม่ว่ากับใคร

ดังนั้น กลุ่มผู้รักความเป็นธรรมและภาคี #saveบางกลอย จึงขอเข้าพบกับรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขความชัดเจนในจุดยืนและแนวทางในการคืนความเป็นคนและความเป็นธรรมให้กับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ในฐานะที่เป็นหัวหน้าองค์กรที่ควรแสดงภาวะผู้นำ และในฐานะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยขอเข้าพบในเวลา 11.00 น. ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พบ และเสียงของประชาชนครั้งนี้จะถูกได้ยิน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยทันที

นายพฤ โอโดเชา ชาวกะเหรี่ยง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เผยว่า ขณะนี้ชาวบ้านบางกลอยถูกโจมตีว่าเข้าไปถางป่า แต่นั่นคือวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านที่ต้องการปลูกข้าว ส่วนที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้ จึงต้องอพยพกลับใจแผ่นดิน พวกเขายอมที่จะขึ้นไปแม้ต้องเสี่ยงถูกจับ เพราะที่ดินคืนชีวิตของชาวบ้าน เราไม่อยากให้รัฐใช้กฎหมายกับพวกเรา แต่ต้องเข้าใจวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านด้วย

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านระบุว่า หาก นายวราวุธ ไม่มาพบกลุ่มชาวบ้าน และนั่งหัวโต๊ะเพื่อเจรจาในเวลา 11.00 น. กลุ่มชาวบ้านจะขับเคลื่อนและจะมีการแถลงที่หน้ากระทรวงทรัพยากรฯ อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.ติดงานราชการที่ต่างจังหวัด

ขณะเดียวกัน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า ได้รับทราบถึงการที่ผู้บริหารระดับสูงในกรมอุทยานฯ ห้ามนำข้าวและอาหารที่หลายฝ่ายช่วยกันระดมเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอยเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดผ่านด่านอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นเรื่องเศร้าที่สุดในชีวิตทำงานตั้งแต่สอนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี

ที่ผ่านมาชาวบ้านบางกลอยถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ถูกอพยพลงกว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังถูกจำกัดเสรีภาพ โดยชาวบ้านจะเข้าหรือออกจากหมู่บ้านเพื่อลงมาทำกิจกรรมด้านล่างต้องถูกควบคุม หลายครั้งครูพานักเรียนออกมาเล่นกีฬาในอำเภอแก่งกระจาน แต่พอหลัง 6 โมงกลับเข้าหมู่บ้านบางกลอยไม่ได้ เพราะด่านปิด ต้องหาที่นอนกันอยู่ด้านล่าง

ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยงานราชการที่ดูแลดูแลทรัพยากรธรรมชาติไม่ควรมีพฤติกรรมเช่นนี้ ขนาดในสงครามสู้รบเขายังยอมให้คนกลางเข้าไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยขาดแคลนและได้รับความทุกข์ยากจากการต่อสู้ แต่นี้ไม่ใช่สงคราม กรมอุทยานฯ มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรของชาติและต้องทำงานกับคน

แต่เมื่อบุคลากรภายในกรมอุทยานฯ มีทัศนคติเป็นลบต่อคนที่ต้องเจรจาด้วยและดำเนินการในลักษณะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการกีดขวางไม่ให้นำข้าวของไปถึงมือชาวบ้าน ควรต้องถูกประณามและผู้บังคับบัญชาควรลงโทษ ไม่ควรปล่อยให้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

“จริงๆ แล้วอุทยานฯและเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจ หรือมีสิทธิห้ามกิจกรรมที่เข้าไปช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ชาวบ้านเขาขาดแคลนข้าวเพื่อการยังชีพ การห้ามเช่นนี้เป็นการลุแก่อำนาจ ไม่คำนึงถึงคนที่ตกทุกข์มา 20 ปี เมื่อมีคนเข้าไปช่วยเหลือยังขัดขวาง ไม่รู้ว่าหัวใจทำด้วยอะไร ชีวิตคนไม่มีความหมายหรืออย่างไร ทำไมคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ มีการศึกษาดีที่ประชาชนมอบหมายให้ทำงานจึงไม่อยู่บนฐานมนุษยธรรม”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

นักวิชาการอิสระ กล่าวด้วยว่า การที่ผู้บริหารอุทยานฯ บางคนอ้างเรื่องโควิด จริงๆแล้วการเข้าไปบริจาคข้าวของให้ชาวบ้านบางกลอย เป็นคนละพื้นที่กับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญการเอาข้าวและอาหารเข้าไปไม่เกี่ยวข้องกับโควิด เป็นการเอาข้าวและอาหารไปช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จึงไม่มีเหตุผลต้องขัดขวาง และข้าวส่วนใหญ่ก็ยังเอาไปทำบุญเรียกขวัญข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านบางกลอยทำสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่สำคัญคือเป็นการเยียวยาจิตใจอันบอบช้ำของชาวบ้านด้วย

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน