ศธ. ระดม 149 สนาม สอบ ม.1 ม.4 เข้มมาตรการป้องกันโควิด เพิ่มห้องสอบเด็กติดเชื้อ เตรียมอุดมฯ เปิดอิมแพค สอบ 5 มี.ค. ส่วน ‘ทีแคส’ จัด 6 ศูนย์สอบเฉพาะ

วันที่ 2 มี.ค.65 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่มีอาการไม่รุนแรงหรือระดับสีเขียวสามารถเข้าสอบเพื่อศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ม.4 และระดับอุดมศึกษา ในระบบระบบกลางบุคคลเข้าศึกษในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ปีการศึกษา 2565

ทั้งนี้จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นร่วมกันว่า ส่วนของการสอบเข้าม.1 และม.4 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งม.1 จะสอบวันที่ 26 มี.ค. ส่วน ม.4 สอบวันที่ 27 มี.ค. ใน 149 สนามสอบจะดำเนินการตามมาตรการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัด

ซึ่งเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ก็จะมีการแยกสนามสอบไม่ให้ปะปนกับเด็กทั่วไป และมีการแยกทางเข้าออก หากใช้พื้นที่สอบเดียวกัน ให้ผู้จัดสนามสอบจัดพื้นที่สอบสำหรับผู้ติดเชื้อ เป็นพื้นที่เปิดโล่ง หากมีเครื่องปรับอากาศ ต้องมีพัดลมดูดอากาศ และผู้คุมสอบต้องใส่ชุดPPE เพื่อป้องกันโรค เว้นระยะห่าง 2 เมตร

สิ่งที่กังวลคือ สนามสอบในจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างกรุงเทพฯ จะมีรถแท็กซี่จิตอาสาที่จะรับส่งนักเรียนติดโควิด-19 ที่จะเข้าสอบฟรี แต่เด็กต่างจังหวัด ก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร

นายสุภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้น ทาง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยืนยันว่า ไม่สามารถจัดห้องแยกให้สำหรับผู้ติดเชื้อได้ทุกสนามสอบ โดย อว.มีสนามสอบ รวม 213 แห่ง

แบ่งเป็นสอบ วิชาความถนัดทั่วไป หรือ GAT วิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ วันที่ 12-15 มีนาคม สอบวิชาสามัญ วันที่ 19-20 มีนาคม และมีสอบวิชาเฉพาะของ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) วันที่ 26 มีนาคม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การสอบวิชาเฉพาะของกสพท. จะตรงกับวันสอบเข้า ม.1 ส่งผลให้บางจังหวัดต้องใช้สนามสอบที่เดียวกัน แต่แยกตึก เพราะไม่สามารถเปลี่ยนสนามสอบได้

โดยสนามสอบทีแคสสำหรับเด็กที่ติดเชื้อโควิดประกอบด้วย 6 สนามสอบ กรุงเทพฯ ที่ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต

ภาคใต้ ศูนย์สอบมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นและ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ภาคเหนือ ศูนย์สอบ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยจะต้องลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า 7 วันก่อนเข้าสอบ

ทั้งนี้อาจมีการเตรียมสนามสอบเพิ่มตามสำหรับผู้ติดเชื้อตามที่จังหวัดกำหนด ขอย้ำว่า นักเรียนที่จะเข้าสอบดูแลตัวเองให้ดี เพื่อไม่ให้ได้รับเชื้อ และไม่เกิดปัญหาตามมา

“โดยสรุปการจัดสอบเข้าม.1-ม.4 และสอบเข้ามหาวิทยาลัย จะต้องมีมาตรการสำหรับผู้ติดเชื้อ ให้เป็นไปตามมาตรการของสธ.การเตรียมสถานที่สอบของแต่ละจังหวัด ขอความอนุเคราะห์ผู้ว่าราชการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัด ประสานเตรียมสถานที่ตามความเหมาะสม

โดยเน้นไปในสถานที่ที่ทำเป็นตั้งศูนย์โควิดชุมชนระดับอำเภอ Community Isolation หรือ CI อยู่แล้วในจังหวัดนั้น หรือประสานสถานที่กับสถานศึกษาในจังหวัด

ส่วนผู้เข้าสอบที่ติดเชื้อ ให้เดินทางโดยไม่ใช้รถสาธารณะ ประสานรถจิตอาสา เพื่อนำส่งผู้ป่วยไปยังสถานที่สอบ กรณีไม่มีรถส่วนตัว และให้ศธ. สธ. ประสานหน่วยงานให้บริการรถรับส่งด้วยอีกทางหนึ่ง ส่วนการจัดสอบข้อสอบจะต้องมีมาตรการฆ่าเชื้อตามมาตรการของสธ.อย่างเคร่งครัด” นายสุภัทร กล่าว

ด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำหรับการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2565 จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มโรงเรียนแข่งขันสูงทั่วไป กับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภูมิภาค มีกำหนดการ รับสมัคร 19-23 กุมภาพันธ์ สอบคัดเลือกวันที่ 5 มีนาคม ประกาศผล 12 มีนาคม รายงานตัว 15 มีนาคม มอบตัว 21 มีนาคม อย่างไรก็ตาม การสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

กรุงเทพฯ วันที่ 5 มีนาคมนี้ จัดสอบที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่ง ศบค.ได้อนุมัติให้จัดสอบเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่านักเรียนทุกคนที่สมัครสอบสามารถเข้าสอบได้ทุกคน แม้จะมาแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง ทางโรงเรียนจะจัดห้องสอบเป็นการเฉพาะ

นายอัมพร กล่าวว่า ส่วนการสอบเข้า ม.4 ในโรงเรียนอื่นๆ จะสอบคัดเลือก วันที่ 27 มีนาคมนี้ ซึ่งมีประมาณ 200 กว่าแห่งทั่วประเทศ ตนมอบหมายให้สถานศึกษาจัดทำแผนการจัดสอบร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อ แต่ละจังหวัด ให้ดำเนินการจัดห้องสอบไม่ให้เกินจำนวนที่กำหนดไว้ โดยภาพรวมยังไม่พบปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน