เป็นโพสต์ความรู้กฎหมายแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับโควิด ซึ่งยังนับว่าเป็นโรคระบาด ที่เมื่อเจ็บป่วยแล้วจะต้องกักตัว เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อในวงกว้างให้คนอื่น เพราะเป็นไวรัสที่ยังมีความรุนแรงได้กับบางคนแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม จึงต้องเฝ้าระวังให้ระบาดในวงแคบ

ล่าสุด เพจ กฎหมายแรงงาน ได้เขียนให้ความรู้เกี่ยวกับวันลา ซึ่งพบว่า มีคำถามเรื่อง ติดโควิด แพทย์ให้หยุด 10 วัน แต่ให้ลาป่วย 3 วัน ลาพักร้อนอีก 7 วันได้หรือไม่ โดยระบุว่า “จากคำถามนี้ ต้องเข้าใจว่าการติดโควิด 19 คือ การป่วย ที่แปลว่า มีการผิดปกติทางร่างกายอันเนื่องมาจากเชื้อโรค
และกรณีนี้มีเหตุให้เชื่อได้ว่า “จริง” เพราะมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งแพทย์เขาไม่กล้าออกใบรับรองถ้าไม่ป่วยจริง เพราะมีกฎหมายและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

พูดถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนเคยมีกรณีบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งพนักงานลาป่วย แต่แพทย์เขียนในใบรับรองว่า “มาตรวจจริง” แบบนี้แปลว่าแพทย์ไม่ได้รับรองว่าป่วยกลับมาที่ปัญหาว่าการติดโควิด 19 แล้วขอลาป่วย แต่ฝ่ายบุคคลแจ้งว่าให้ลาได้เพียงแค่ 3 วัน ที่เหลือให้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี(ลาพักร้อน) ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการป่วย ก็ต้องใช้สิทธิลาป่วยตามมาตรา 32

ซึ่งกฎหมายเขียนรับรองสิทธิไว้ชัดว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง” เมื่อป่วยจริง 10วันก็ต้องให้ลาป่วยได้ตามจริงจะให้ไปใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี(ลาพักร้อน) ไม่ได้เพราะจะทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี

กล่าวคือ เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายในมาตรา30 ที่ว่า “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน…” ตามกฎหมายให้หยุดได้ ๖ วัน แต่กรณีจากคำถามวันหยุดพักผ่อนประจำปีนายจ้างอาจให้หยุดมากกว่า ๖ วัน เพราะถูกบังคับให้หยุดไปแล้ว 7 วัน นั่นเท่ากับว่าปีนี้จะเสียสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี(ลาพักร้อน) ไปเลย

ทั้งนี้ พบว่าประเด็นดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจาก หลายคนติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ ทำให้เกิดการถกเถียงกัน อีกฝ่ายก็ระบุว่า แม้ติดเชื้อไม่มีอาการแต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้และต้องกักตัวตามมาตรการ จึงควรให้พิจารณาเป็นวันลาป่วยตามคำสั่งแพทย์ โดยพบว่า เพจทางการแพทย์ก็ยังได้แชร์เรื่องดังกล่าวไป ซึ่งพบว่ามีพนักงานบริษัทหลายคนที่ประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า การลาป่วยส่งผลต่อหน้าที่การงาน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน