“การสื่อสารเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งในการพัฒนาสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการรักษาความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศด้วย ยิ่งในสมัยปัจจุบันที่สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ย่อมมีความสำคัญมากเป็นพิเศษ…

…สำคัญที่สุดควรจะได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิชาการและเทคโนโลยีอันทันสมัยให้ลึกซึ้งและกว้างขวาง แล้วพิจารณาเลือกเฟ้นส่วนที่ดี มีประสิทธิภาพแน่นอนมาปรับปรุงใช้ด้วยความฉลาดริเริ่ม ให้พอเหมาะพอสมกับฐานะและสภาพของบ้านเมืองของเรา”

พระราชดำรัสในโอกาสครบรอบสถาปนา 100 ปี กรมไปรษณีย์โทรเลขและวันสื่อสารแห่งชาติ 4 ส.ค. 2526

นักประดิษฐ์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
2
พระอัจฉริยภาพด้านวิทยุสื่อสาร เป็นพระอัจฉริยภาพหนึ่งในหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สนพระราชหฤทัยศึกษาวิชาไฟฟ้า และวิทยุสื่อสาร สิ่งที่ทรงประดิษฐ์และทดลองใช้คือเครื่องรับวิทยุกระจายเสียง

ดังความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่องเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า

“เครื่องวิทยุที่บ้านไม่ทรงมีสิทธิที่จะแตะต้อง มีไว้ฟังข่าวเท่านั้น แต่เมื่ออายุสัก 10 ปีได้ ก็มีโอกาสสร้างของตัวเองขึ้นมาได้ ที่โรงเรียนมีการขายสลากในงานของโรงเรียนงานหนึ่ง ท่านก็ได้สลากเป็นคอยล์ (Coil) ท่านก็ศึกษาถามผู้รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นวิทยุออกมาได้ เขาก็บอกให้ท่านซื้อแร่สีดำ (Galena หรือ galenite หรือ PbS) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเครื่อง คือที่รับฟังไฟฟ้าในอากาศที่เป็นคลื่นวิทยุ และหูฟังอีกคู่หนึ่ง ทั้งหมดราคาประมาณ 10 แฟรงค์ มาต่อกันอย่างไรไม่ทราบ ทรงสามารถฟังวิทยุที่เขาส่งได้ ยังแบ่งกันฟังคนละหูกับพระเชษฐา”

สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต
3
หลังเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงติดตามข่าวสารเกี่ยวกับประเทศไทยต่อเนื่อง เมื่อเสด็จนิวัตพระนครในปี พ.ศ.2494 ขณะประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานอยู่ระหว่างซ่อมแซม รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์น้อมเกล้าฯ ถวายและติดตั้งเครื่องส่งวิทยุคลื่นยาวและคลื่นสั้น โดยกรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้กำหนดความถี่ถวายเมื่อ ก.ย. พ.ศ.2495 ดัดแปลงจากเครื่องส่งคลื่นสั้นจอห์นสันไวกิ้ง รุ่น PC -610 (johnson Viking PC-610) แบบที่ทหารใช้กันในสงครามโลกครั้งที่ 2

ได้พระราชทานนามสถานีวิทยุแห่งนี้ว่า “สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต” ชื่อย่อมาจาก “อัมพรสถาน” ซึ่งเป็นสถานที่ออกอากาศครั้งแรกใช้รหัสสถานีว่า HS 1 AS ออกอากาศจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต จนถึงปี พ.ศ.2500 จึงย้ายสถานีวิทยุไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเป็นที่ตั้งของสถานีในปัจจุบัน

ออกอากาศไปได้ระยะหนึ่งปรากฏว่าได้รับความนิยมจากผู้ฟัง ทั้งในและต่างประเทศที่รับฟังได้ทางคลื่นสั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่งจาก 100 วัตต์ เป็น 1 กิโลวัตต์

สื่อสารเพื่อพสกนิกร
7
ปี พ.ศ.2509 มีพระราชดำริให้จัดหาเครื่องส่งขนาด 10 กิโลวัตต์ พร้อมทั้งพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อเครื่อง Collins Mofel 820 F1 เริ่มออกอากาศด้วยกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ในปี พ.ศ.2525 จึงได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ความถี่ 104 เมกะเฮิร์ตซ์ เพิ่มขึ้นอีกระบบหนึ่ง กรมประชาสัมพันธ์ถือว่าสถานีนี้เป็นเครือข่ายของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและเป็นสถานีวิทยุเพียงแห่งเดียวที่กรมไปรษณีย์โทรเลขอนุญาตให้ส่งคลื่นสั้นได้จนบัดนี้

สถานีวิทยุ อ.ส.กระจายเสียงครั้งแรกในปี พ.ศ.2495 โดยการเผยแพร่รายการทั้งในด้านบันเทิง ข่าวสาร ความรู้ และความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการสาขาต่างๆ ให้แก่ประชาชน นอกจากนั้นในยามที่ประเทศชาติประสบภัยพิบัติและเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ เช่น เมื่อคราวโรคโปลิโอระบาดในปี พ.ศ.2495 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในระหว่างปี พ.ศ.2501-2502 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ทางภาคเหนือในปี พ.ศ.2504 เกิดมหาวาตภัยภาคใต้ แหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ.2505

พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่ผู้ประสบภัย ตลอดจนทรงจัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มข้าวของเครื่องใช้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. เป็นสื่อกลางนำพาน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาธิคุณไปสู่ประชาชน และเป็นสื่อกลางนำความจงรักภักดีและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของประชาชนที่แสดงออกในลักษณะต่างๆ ไปสู่พระองค์ท่าน

ทรงรับพระราชภาระต่างๆ ในการดำเนินการของสถานีวิทยุ อ.ส.ด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ ด้วยพระบรมราโชบายหลักเกี่ยวกับการบริหารจัดการงานของสถานีที่สำคัญคือ “ประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ามากที่สุด” โปรดเกล้าฯ ให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุด เจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครซึ่งมีหน้าที่การงานประจำทั้งสิ้น และโปรดเกล้าฯ ให้ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ เป็นนายสถานีและปฎิบัติหน้าที่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สัญญาณเรียกขาน “กส.9-น.9”

ทรงเริ่มปฏิิบัติการวิทยุสื่อสาร โดยทรงใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุ VHF/FM FM-5 เพื่อติดต่อกับข่ายวิทยุตำรวจแห่งชาติ “ปทุมวัน” โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขาน “กส.9” และศูนย์รวมข่าวตำรวจนครบาล ข่าย “ผ่านฟ้า” โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขาน “น.9” พระองค์ทรงใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุในการเฝ้าฟังและติดต่อกับข่าย “ปทุมวัน” และ “ผ่านฟ้า” เป็นครั้งคราว เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจอื่น

ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่ติดต่อกับพระองค์ท่านไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ และทรงจดจำสัญญาณเรียกขาน ประมวลคำย่อ (โค้ด “ว”) ได้อย่างแม่นยำและทรงใช้ได้อย่างถูกต้อง

ทรงทราบข่าวรายงานเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ข่าวโจรกรรม อัคคีภัย และการจราจรได้ทุกระยะ และทรงใช้บรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดของประชาชนเนื่องจากการปิดถนนในเส้นทางที่ขบวนรถที่ประทับผ่าน

สนพระราชหฤทัยที่จะตรวจซ่อมและปรับแต่งเครื่องรับ-ส่งวิทยุสื่อสารที่ทรงใช้งานอยู่ด้วยพระองค์เอง เมื่อเครื่องรับ-ส่งวิทยุ FM-5 ที่ทรงใช้งานอยู่ในขณะนั้นเกิดขัดข้อง โดยจะทรงทำในเวลากลางคืนหลังจากเสร็จสิ้นพระราชภารกิจประจำวันแล้ว

ทรงปรับแต่งเครื่องรับ-ส่งวิทยุบ่อยจนทรงมีความชำนาญสูง และปรากฎผลบ่อยครั้งว่า เครื่องรับ-ส่งวิทยุที่ทรงปรับแต่งแล้วมีขีดความสามารถเหนือกว่าที่ระบุไว้คู่มือมาก กล่าวคือ ทรงปรับแต่งเครื่องรับ-ส่งวิทยุ FM-5 ให้มีกำลังส่งสูงถึง 7 วัตต์ และภาคเครื่องรับมีความไวสูงถึง 0.35 ไมโครโวลต์ นับว่าดีเยี่ยมเป็นประวัติการณ์สำหรับเครื่องรับ-ส่งวิทยุในยุคนั้น
4
สายอากาศสุธี

ในการปฏิบัติหน้าที่ถวายการอารักขาของกรมตำรวจและกรมราชองครักษ์ ได้นำเครื่องรับ-ส่งวิทยุ VHF/FM ทั้งชนิดมือถือและนำติดตัวมาใช้รายงานเหตุการณ์ต่างๆซึ่งเกิดปัญหาสัญญาณรบกวนกัน สนพระราชหฤทัยศึกษาและทดลองชนิดหามรุ่งหามค่ำ

หลังจากนั้นอีกหลายปี ปรากฎหลักฐานในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศกล่าวเน้นความสำคัญของ INTERMODULATION ซึ่งสรุปแล้วตรงกับผลการทดลองและวิเคราะห์ของพระองค์

ยังทรงจับจุดสำคัญของการรับ-ส่งวิทยุสื่อสารได้ประการหนึ่งคือ สายอากาศ โดยได้รับสั่งว่า “การรับวิทยุก็ดี การส่งวิทยุก็ดี ถ้าไม่มีสายอากาศหรือมีสายอากาศไม่ดี จะใช้เครื่องส่งกำลังสูงเพียงใด เครื่องรับจะดีเพียงใดก็ไม่สามารถช่วยให้การติดต่อสื่อสารทางวิทยุมีประสิทธิภาพสูงได้”

กลางปี พ.ศ.2513 โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตต์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอม เกล้าพระนครเหนือ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมากขึ้น เพื่อพัฒนาการใช้งานของเครื่องวิทยุให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทรงกำหนดวัตถุประสงค์ของงานที่จะใช้และคุณสมบัติทางเทคนิคด้วยพระองค์เอง

เมื่อนำขึ้นน้อมเกล้าฯถวาย จะทรงทดลองใช้งานและพระราชทานคำแนะนำเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปทุกครั้ง จนเกิดเป็นสายอากาศ สุธี 1, สุธี 2, สุธี 3 และ สุธี 4 ต่อมา โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้สายอากาศทั้ง 4 แบบดังกล่าวไว้ในราชกิจจานุเบกษา

นอกจากนี้ ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสให้กรมอู่ทหารเรือทดลองออกแบบ และสร้างสายอากาศหาทิศการแพร่คลื่นวิทยุย่านความถี่สูงมาก ตามคุณสมบัติที่ทรงกำหนดขึ้น เพื่อใช้กับเครื่องวิทยุสื่อสารส่วนพระองค์ โดยให้สามารถกวาดสายอากาศไปรอบๆ ตัวแบบสายอากาศเรดาร์ โดยไม่ต้องหันกลับ ทำให้เกิดการประดิษฐ์ระบบเฝ้าตรวจย่านความถี่สูงมาก โดยมีสายอากาศขับหมุนรอบตัวโดยต่อเนื่องได้ ทั้งแบบตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา

สนพระราชหฤทัยวิทยุสมัครเล่น

และโปรดเกล้าฯ ให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทดลองเชื่อมโยงข่ายวิทยุสื่อสารของกรมตำรวจในกรุงเทพฯ ไปออกอากาศ ณ จ.เชียงใหม่ ระหว่างที่เสด็จ แปรพระฐานไปประทับ ณ ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นแนวทางการปรับปรุงการเชื่อมโยงข่ายวิทยุเข้ากับระบบสื่อสารโทรศัพท์ทางไกลขององค์การโทรศัพท์ เป็นผลสำเร็จในปีต่อมา ทำให้ข่ายวิทยุของกรมตำรวจในกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกับข่ายเฉพาะกิจในพระตำหนักต่างๆ และสถานที่อื่นๆ ที่มีการเสด็จแปรพระราชฐานได้

ทั้งนี้ กรมไปรษณีย์โทรเลขได้ก่อตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัคร หรือ VR (Voluntary Radio) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายสัญญาณเรียกขาน VR 009 พระองค์ทรงใช้วิทยุติดต่อในข่ายวิทยุอาสาสมัครเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2528 และทรงติดต่อทางวิทยุศูนย์สายลมกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อการทดลองสัญญาณหลายครั้ง บางโอกาสพระราชทานคำแนะนำทางด้านเทคนิคและวิธีการแก้ไข ทรงติดตาม monitor การรับส่งสัญญาณของเครื่องวิทยุคมนาคมในเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น และพระราชทานความช่วยเหลือต่างๆ ตลอดมา
6
เหตุการณ์สำคัญที่พระราชทานความช่วยเหลือ คือ เมื่อครั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ธ.ค.2528 พระราชทานคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาการรบกวนของเครื่องวิทยุถ่ายทอดสัญญาณซึ่งจะใช้เครือข่ายสื่อสารของคณะกรรมการต่างๆ จนเครื่องวิทยุถ่ายทอดสัญญาณสามารถใช้งานได้ตามปกติ ทำให้งานของประเทศชาติไม่เสียหาย

คราวเกิดวาตภัยที่ตำบลสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ทรงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์สายลม พระราชทานคำแนะนำวิธีการติดตั้งข่ายสื่อสาร เพื่อติดต่อระหว่างผู้ที่จะเข้าไปยังพื้นที่กับนักวิทยุสมัครเล่นในกรุงเทพฯ ทำให้การดำเนินงานช่วยเหลือของกลุ่มนักวิทยุสมัครเล่นประสบผลสำเร็จ

ที่มา: หนังสือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 72 พรรษา มหาราชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน