ประกันสังคม ไขข้อสงสัย ทำไมต้องเป็นผู้ประกันตน เป็นแล้วได้อะไร เผย 7 สิทธิประโยชน์มีอะไรบ้าง ถอนตัวได้หรือไม่ เผย หน้าที่นายจ้าง

หลังจากที่ น.ส.รัชนก ศรีนอก ส.ส.กทม. พรรคประชาชน เปิดเผยข้อมูลถึงการใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม ที่มาจากเงินสมทบของผู้ประกันตน พร้อมตั้งคำถามถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ออกมาชี้แจง แต่กลับยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของสำนักงานประกันสังคม พร้อมตั้งข้อคำถามว่า หากไม่ประสงค์เป็นผู้ประกันตนจะสามารถถอนตัวออกมาได้หรือไม่

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเปิดเผยข้อมูลในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533 ได้ระบุถึงการมีอยู่ของ “กองทุนประกันสังคม” ระบุว่า

ให้จัดตั้งกองทุนประกันสังคมเพื่อเป็นทุนในใช้จ่ายให้ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์ทดแทน ซึ่งการส่งเงินสมทบจะประกอบด้วยรัฐบาล ร้อยละ 2.75 นายจ้าง ร้อยละ 5 และผู้ประกันตน ร้อยละ 5 ซึ่งจะหักจากเงินเดือนของลูกจ้าง โดยเงินกองทุนประกันสังคม ร้อยละ 10 ต่อปี จะถูกหักออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานฯ

โดยข้อกำหนดของกองทุนประกันสังคมกำหนดไว้ว่า “นายจ้าง” ผู้ที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมขึ้นทะเบียน “ผู้ประกันตน” ให้ลูกจ้างภายใน 30 วันนับจากวันที่มีการจ้างงาน

“การเป็นผู้ประกันตน” มีความหมายถึงลูกจ้างที่จ่ายเงินสมทบจนเกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มที่ทำงานประจำ ต้องจ่ายเงินสมทบตามกฎหมาย (มาตรา 33)
  2. กลุ่มผู้ที่เคยส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 12 เดือน แต่มีการลาออกจากงาน โดยไม่ได้เข้าสู่การทำงานประจำ และมีความประสงค์ที่จะใช้สิทธิผู้ประกันตนต่อ สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังลาออก
  3. กลุ่มอาชีพอิสระ ที่มีอายุ 15-60 ปี เลือกจ่ายเงินสมทบเองเพื่อให้ได้สิทธิประกันสังคม หรือเรียกว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

ทั้งนี้ หากนายจ้างเจตนาไม่ยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้แก่ลูกจ้างจะมีความผิด ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กองทุนประกันสังคมได้กำหนดสิทธิประโยชน์ทดแทนผู้ประกันตน 7 สิทธิ ได้แก่

  1. ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
  2. กรณีคลอดบุตร
  3. กรณีทุพพลภาพ
  4. กรณีเสียชีวิต
  5. การสงเคราะห์บุตร
  6. กรณีชราภาพ หรือเงินบำเหน็จบำนาญ
  7. การทดแทนกรณีว่างงาน ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 39

ดังนั้น หากดูตามข้อกฎหมายแล้ว นายจ้างผู้มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้แก่ลูกจ้าง เป็นเรื่องที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ เนื่องจากมีบทลงโทษตามกฎหมาย

ทำให้ปัจจุบัน ข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2567 มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมถึง 24.80 ล้านคน แบ่งออกเป็นมาตรา 33 จำนวน 12.07 ล้านคน มาตรา 39 จำนวน 1.72 ล้านคน และมาตรา 40 จำนวน 11.01 ล้านคน

โดยทางประกันสังคมได้มีการจ่ายสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมทั้ง 7 กรณี รวม 38.58 ล้านครั้ง เป็นเงินกว่า 112,829 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน