รู้จัก “อาฟเตอร์ช็อก” คืออะไร-เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จึงต้องเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา และวิธีรับมือ

จากกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด ความลึก 10 กม. โดยมีจุดศุนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา และส่งแรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพฯ สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับ “อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock)” ที่จะตามมา วันนี้มารู้จักอาฟเตอร์ช็อกกัน ทำไมหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จึงต้องมีอาฟเตอร์ช็อก

อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) คืออะไร?

อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) หรือ แผ่นดินไหวตาม คือ แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลัก (main shock) มักจะเกิดในพื้นที่เดียวกัน หรือใกล้เคียงกับแผ่นดินไหวใหญ่

ระยะเวลาที่จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกนั้นไม่สามารถระบุได้แน่นอน เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของแผ่นดินไหวหลัก ความลึกของจุดศูนย์กลาง และลักษณะของรอยเลื่อน อาฟเตอร์ช็อกอาจจะเกิดทันทีในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หรืออาจเกิดหลัง 1-2 วัน หรือผ่านไปแล้วเป็นเดือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

สาเหตุการเกิดอาฟเตอร์ช็อก

แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นหินขนาดใหญ่เลื่อน เคลื่อนที่ หรือแตกหัก และเมื่อแผ่นดินหยุดไหวแล้ว เปลือกโลกก็จะถูกดึงดูดให้เข้าหากันในสภาพเดิมโดยธรรมชาติ ช่วงระหว่างที่เปลือกโลค่อย ๆ เคลื่อนกลับเข้าสู่ที่เดิมคือช่วงที่มักเกิดอาฟเตอร์ช็อก

การรับมือกับอาฟเตอร์ช็อก

หากอยู่ในอาคาร สำรวจทางหนีที่ปลอดภัย รู้ทางออกฉุกเฉินของอาคาร ไม่ควรใช้ลิฟต์ หากอยู่ในบ้านให้หลบใต้โต๊ะที่แข็งแรง ป้องกันศีรษะด้วยแขนหรือหมอน

หากอยู่นอกอาคาร อยู่ให้ห่างจาก สายไฟฟ้า ต้นไม้ เสาไฟ และสิ่งของที่อาจหล่นมาได้

จัดเตรียมกระเป๋าฉุกเฉิน พกสิ่งของจำเป็น อาทิ ไฟฉาย, วิทยุ, แบตสำรอง, น้ำดื่ม, อาหารแห้ง, ยา, เอกสารสำคัญ และชาร์จโทรศัพท์เต็มไว้เสมอ

ติดตามข่าวจากกรมอุตุฯ, ศูนย์เตือนภัยพิบัติ หรือสื่อหลักทางการ และอย่าเชื่อข่าวลือหรือแชร์ข้อมูลที่ยังไม่ยืนยัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน