“คนข้างบ้านเรียกเราว่า “ไอ้เป๋” ทุกวัน เด็กๆคนอื่นมองเราเหมือนตัวประหลาด ล้อเราต่างๆนานา แต่สิ่งเดียวที่ทำให้พี่สู้ ไม่ท้อ คือพี่มีพ่อมีแม่ เขาเลี้ยงเรามาจนโต เราก็ต้องสู้เพื่อเขา เราแพ้คนอื่นเพียงเพราะคำพูดไม่ได้”

เป็นคำบอกเล่าของ “น้อย” หรือ “ป้าน้อย” วาสนา คูทวีทรัพย์ โรบินฮู้ดสาวคนพิการเบอร์หนึ่งทีมชาติไทย ที่วันนี้คือนักกีฬาคนพิการที่ติดทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 29 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง 19-30 ส.ค.นี้

“น้อย”วาสนา คือนักกีฬาคนพิการคนแรกของกีฬายิงธนู และดีไม่ดีจะเป็นนักกีฬาคนพิการคนแรกๆของไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ มหกรรมกีฬาของคนปกติ

“พี่ประสบความสำเร็จในกีฬาคนพิการระดับหนึ่ง สิ่งเดียวที่เราคิดคือ พี่อยากพิสูจน์ว่าเรามีความสามารถไม่แพ้คนปกติหรอก เราทำได้ และเราก็คัดติดทีมชาติคนปกติในที่สุด โดยแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยติด 1 ใน 8 และคัดตัวทีมชาติเป็นอันดับ 3 ของทีม”

สาวหัวใจแกร่ง เล่าให้ฟังถึงชีวิตวัยเด็กว่า ทางบ้านทำอาชีพปลูกถั่วงอก ฐานะไม่ได้ยากจน แต่ก็ไม่ได้ร่ำรวย ด้วยความที่แม่หลังค่อมตอนตั้งท้องจึงไม่มีใครสังเกตุเห็น และแม่ไม่ได้บอกใคร จนเจ็บท้องคลอดพ่อถึงรู้ว่ามีลูกหลงมาเกิด ร่างกายเราไม่ได้แข็งแรงเป็นโปลีโอที่ขาขวา แต่พ่อแม่ไม่ทอดทิ้ง และสู้ชีวิตเลี้ยงดูลูกสาว อย่างดีไม่ให้รู้สึกว่าด้อยกว่าคนอื่น

แต่สังคมภายนอกกลับไม่มอง “น้อย” ในแบบเดียวกัน “น้อย” เล่าว่า คนข้างบ้านเรียกเราว่า “ไอ้เป๋ ไอ้เป๋”ทุกวัน ล้อเราแบบนี้ตลอด มันทิ่มแทงจิตใจเด็กคนหนึ่งมาก เราเดินเหินไม่สะดวก ก็ต้องใช้ไม้ค้ำเวลาไปโรงเรียน เพื่อนก็ล้อเลียน มองเราเป็นตัวประหลาดอีก

“ตอนนั้นกลับบ้านและทิ้งไม้ค้ำ อยากจะเดินด้วยตัวเองให้เหมือนคนปกติ ก็ใช้เวลาพักใหญ่ๆกว่าจะเดินได้” น้อยเล่าถึงแรงผลักดันแรกๆที่อยากจะพิสูจน์ว่าคนพิการ คือคนเหมือนกับคนปกติ

แม้ว่าโตขึ้นมา จะไม่โดนแรงกดดันจากสังคมรอบด้าน แต่ก็น้อยมักจะถูกมองด้วยสายตาที่ดูถูกเสมอ

“พี่ไปเรียนอาชีพที่ศูนย์คนพิการหยาดทิพย์ ที่จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พอเรียนจบก็ได้งานทำเป็นแคชเชียร์ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง ได้เงินเดือน มีเงินเก็บ ก็เอาเงินไปฝากธนาคาร หวังว่าจะเก็บเงินไว้เป็นทุนสร้างบ้านให้พ่อให้แม่ เงินก้อนแรกเอาไปเข้าธนาคาร รปภ.ก็ถามว่ามาทำอะไร เราก็บอกว่ามาฝากเงิน รปภ.บอกกับเราว่า ฝากขั้นต่ำหนึ่งพันบาทนะ ตอนนั้นเจ็บปวดมาก ทำไมต้องมองเราแบบนั้นด้วย”

นี่เป็นอีกแรงขับที่ โรบินฮู้ดสาว เก็บเอาไว้และรอวันพิสูจน์ตัวเองให้ได้ กระทั่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาคนพิการเฟสปิกเกมส์ เมื่อปี 2541 ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการ ได้รับจดหมายเชิญส่งคนเข้าไปฝึกกีฬา ตอนนั้น “แวว” สายสุนีย์ จ๊ะนะ (ปัจจุบันเป็นนักกีฬาฟันดาบ วิลแชร์ เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ 2 สมัย) เพื่อนร่วมชั้นของเราก็มาชวนให้เราไปเล่นด้วย “แวว”เขาเล่นฟันดาบ แต่คนเยอะแล้ว น้อย เลยไปฝึกยิงธนู ใช้เวลา 4-5 ปีทีเดียวกว่าจะเล่นเป็น และยิงแม่นขึ้นๆ

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเลย อยากทำตัวให้มีประโยชน์ให้รู้ว่าเราไม่ได้เป็นภาระของใคร อยากติดทีมชาติ คนพิการก็สามารถทำเพื่อประเทศชาติ”

จากนั้น น้อย ติดทีมชาติต่อเนื่อง ในยิงธนูประเภทโค้งกลับ จนคว้าเหรียญในระดับอาเซียนพาราเกมส์ เป็นประจำ และคว้าโควต้าไปเล่นพาราลิมปิกเกมส์ ที่เอเธนส์ 2004 และคว้าเหรียญเงินมาได้

“ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดหรอกว่า เราจะเป็นคนสร้างบ้านให้พ่อให้แม่ได้ เพราะเงินเดือนพนักงานมันก็แค่หลักพันบาท พี่สาวสร้างบ้านเอาไว้ แต่ธุรกิจเจ๊งเสียก่อน คิดว่าคงไม่มีทางได้สร้างบ้านจนเสร็จแน่ๆ ตอนเล่นกีฬาใหม่ๆ ไม่เคยคิดฝันจะมาถึงจุดนี้ ติดทีมชาติแรกๆ ก็ไม่มีใครเชื่อ ยังหาว่าเราเป็นคนโกหก จนผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ ได้เหรียญรายการต่างๆ ก็มีออกทีวี ลงหนังสือพิมพ์ เขาถึงจะเชื่อ และยอมรับเรา กระทั่งได้เหรียญเงินพาราลิมปิกเกมส์ ได้เงินรางวัลมา 6 แสนบาท เราก็เอามาสร้างบ้านให้เสร็จทั้งหมด เราสามารถสร้างฝันนี้ให้พ่อกับแม่ได้สำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม การเล่นทีมชาติ จะเรียกว่า เป็นนักกีฬาอาชีพได้ไม่เต็มปาก เพราะจะได้เงินเบี้ยเลี้ยงเฉพาะในช่วงเวลาที่เก็บตัวฝึกซ้อม 5-6 เดือนเท่านั้น เวลาที่เหลือจะไม่มีรายได้เข้ามา

“ยอมรับว่าท้อแท้เหมือนกัน แต่เราถอยไม่ได้ เพราะเราเองก็รักการเล่นกีฬา ช่วงเวลาที่ไม่ได้อยู่ในแผนเก็บตัว ก็จะไปเอาล็อตเตอรี่มาขาย ขี่จักรยานขายบ้าง บางทีก็เอาผ้าปูที่นอนมาขาย เพื่อหาเลี้ยงชีพไปก่อน ซึ่งแต่ก่อนลำบากมาก ตอนนี้ชีวิตก็ดีขึ้นบ้าง จนสามารถทุ่มเทกับการฝึกซ้อมได้”

น้อย ใช้ชีวิตคู่กับสมพงศ์ ทวีทรัพย์ นักกีฬายิงปืนคนพิการ อย่างมีความสุข และเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน โดยสมพงศ์เองเคยเป็นนักกีฬาจักรยานทีมชาติ แต่ประสบอุบัติเหตุรถชนจนเป็นอัมพาตท่อนล่างทั้งหมด

“ทุกวันนี้สังคมเปิดกว้างมากขึ้น สำหรับคนพิการ ผู้คนจำนวนมากมองคนพิการเท่าเทียมกัน แต่คนเราก็อยู่ในสังคมที่แตกต่างกัน บางคนก็ยังโดนเหมือนกับที่เราเจอตอนเด็กๆ แต่อยากให้ทุกคนสู้ เรามีพ่อแม่ พวกเขาเลี้ยงเรามาเหมือนคนปกติ สิ่งที่เราทำได้คือการพิสูจน์ว่าเรามีความสามารถเท่ากันกับคนปกติ หรือมากกว่าคนปกติด้วยซ้ำในบางเรื่อง ก็หวังว่าเราจะเป็นแรงบันดาลใจน้อยๆให้กับคนพิการคนอื่นๆบ้างไม่มากก็น้อย” น้อยกล่าว

ในส่วนของยิงธนูนั้น สหพันธ์กีฬายิงธนูนานาชาติ ให้สิทธิ์คนพิการสามารถแข่งขันในกีฬาคนปกติด้วย เนื่องจากในส่วนของน้อยยืนยิงได้เหมือนคนปกติ จึงไม่ได้มีความได้เปรียบเสียเปรียบ

“ในซีเกมส์ครั้งนี้จะพยายามเต็มที่ เพราะการแข่งขันกับคนปกติเป็นเกมอีกระดับที่นักกีฬาคนพิการอย่างเราไม่เคยเจอมาก่อน เราอาจจะสู้กับคนปกติในประเทศได้แล้ว แต่ประเทศอื่น คงต้องไปวัดกันในสนามแข่งขัน แต่ยืนยันว่าจะสู้อย่างเต็มที่” วาสนา กล่าวทิ้งท้ายด้วยสายตามุ่งมั่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน