“ฟีฟ่า” อนุมัติให้ศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 รอบสุดท้าย ที่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นเจ้าภาพร่วมกัน มีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 32 ทีมเป็นครั้งแรก

โดยจะแบ่งรอบคัดเลือกเป็น 6 โซน มี 29 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบอัตโนมัติ ส่วนอีก 10 ทีมจะได้สิทธิ์ลงเตะรอบเพลย์ออฟเพื่อหาอีก 3 ทีมผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้าย

สำหรับ รอบคัดเลือก “วีเมนส์ เวิลด์ คัพ 2023” แบ่งออกเป็น 6 โซนมีโควตา 29 ทีมที่จะผ่านเข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ประกอบด้วย โซนยุโรปได้โควต้า 11 ทีม, โซนเอเชียได้โควตา 6 ทีม (คัดเลือก 5 ทีม + ออสเตรเลีย โควตาเจ้าภาพ), โซนโอเชียเนียได้โควต้า 1 ทีม (นิวซีแลนด์ เจ้าภาพร่วม), โซนแอฟริกา 4 ทีม, โซนอเมริกาใต้ 3 ทีม และโซนคอนคาเคฟ 4 ทีม

ทั้งนี้ทีมใดที่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบได้ก็ยังมีรอบเพลย์ออฟเพื่อชิงตั๋ว 3 ใบสุดท้าย โดยจะมี 10 ทีมจากโซนต่างๆ ได้สิทธิ์ดังกล่าว แบ่งเป็นเอเชีย 2 ทีม, อเมริกาใต้ 2 ทีม, แอฟริกาใต้ 2 ทีม คอนคาเคฟ 2 ทีม, โอเชียเนีย 1 ทีม และ ยุโรป 1 ทีม

รวมกับ ออสเตรเลีย กับ นิวซีแลนด์ ก็จะร่วมทำการแข่งขันด้วยเพื่อที่จะให้ครบ 12 ทีม และเป็นการทดสอบสนามไปในตัว แต่ผลการแข่งขันของทั้งสองทีมจะไม่มีผลต่อการผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ซึ่งระบบการแข่งขันในรอบนี้จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม แชมป์แต่ละกลุ่มจะได้สิทธิ์ไปเล่น “วีเมนส์ เวิลด์ คัพ 2023” รอบสุดท้าย

นายพาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ถือเป็นเรื่องดีที่โซนเอเชียได้โควตาในฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2023 ถึง 6 ทีมด้วยกัน ที่ผ่านมาสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ มีโครงการ “เดอะ เน็กซ์ ชบาแก้ว” ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อที่จะสร้างทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยในการไปแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2023 อยู่แล้ว โดยมีแนวทางการสนับสนุนฟุตบอลลีกหญิงให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเตะชบาแก้ว

เป้าหมายของเราคือการเป็น 1 ใน 6 ทีมที่ได้โควตาไปฟาดแข้งแบบอัตโนมัติ แม้ว่า ออสเตรเลีย (เจ้าภาพ) , ญี่ปุ่น , จีน , เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ จะได้ไปแข่งขันค่อนข้างแน่ เพราะพวกเขาเป็นทีมที่แข็งแกร่งและติดท็อป 5 ของเอเชียอยู่แล้ว

ดังนั้นในส่วนของทีมชาติไทยตนมองว่าคู่แข่งที่สำคัญของเราคงจะหนีไม่พ้นเวียดนาม และเมียนมา ที่จะต้องเบียดแย่งกันเพื่อเป็นทีมสุดท้ายที่ได้รับโควตาแบบอัตโนมัติ

โดยเฉพาะทีมสกุลเหงียนที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าหากเราต้องหล่นไปเล่นในรอบเพลย์ออฟก็ถือเป็นงานยาก เพราะมีทีมจากโซนที่แข็งแกร่งทั้ง ยุโรป , แอฟริกา ,อเมริกาใต้ , โอเชียเนีย , คอนคาเคฟ มาร่วมคัดพื่อหาตัวแทนแค่ 3 ทีมเท่านั้น

สำหรับ “ชบาแก้ว” ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย เคยไปร่วมฟาดแข้งในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกมาแล้ว 2 สมัยติดต่อกัน ครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา ปี 2015 และครั้งที่ 2 ที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2019

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน