ทีมปั่น BMX โอลิมปิกเกมส์ 2020 ถึงไทยเข้าโครงการ ภูเก็ต แชนด์บ็อกซ์ ทันที “น้องฟ้า” ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร ขอพักรักษาอาการบาดเจ็บจากการแข่งขัน พร้อมเผย ครั้งแรกในชีวิตที่แข่งโอลิมปิก เตรียมเอาประสบการณ์ไปแก้ไข พัฒนาฝีมือเพื่อสู้ต่อไปในรายการอื่นๆ ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พิพัฒน์ รัชกิจประการ พร้อมคณะนักกีฬาโอลิมปิก นำสิ่งของจำเป็นไปมอบให้ผู้ป่วย โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต


เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต นายนิติกร โรจนวิภาต ผู้อำนวยการกองการกีฬาเป็นเลิศ พร้อมด้วยนายชินสิช ชาญณรงค์ ผู้แทนสมาคมกีฬาจัหวัดภูเก็ต และนายอัครพร พึ่งพร หัวหน้างานแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ร่วมให้การต้อนรับคณะนักกีฬา และผู้จัดการทีม BMX ทีมชาติไทย ประกอบด้วย “น้องฟ้า”ชุติกาญจน์ กิจวานิชเสถียร, “น้องมิ้ง”วรัญญา แซ่แต้ และ “โค้ชบอส” อัถร ไชยมาโย หัวหน้าผู้ฝึกสอนและผู้จัดการทีม ที่เดินทางกลับจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 โดยสายการบิน สิงโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ0726 ซึ่งนักกีฬาและผู้ฝึกสอนได้รับการตรวจ RT-PCR หาเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อกักตัวในรูปแบบ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ต่อไป

“น้องฟ้า”ชุติกาญจน์ นักปั่น BMX ทีมชาติไทย กล่าวว่า การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกของตน ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ถึงจะไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย คว้าอันดับ 6 ในรอบคัดเลือก เพราะมีอาการบาดเจ็บที่นิ้ว ก่อนไปแข่งขัน และตอนฝึกซ้อมล้ม ข้อเท้าพลิก เอ็นฉีกนิดหน่อย ทำให้ไม่ได้เหรียญกลับมา แต่ตนทำเต็มที่ถึงแม้จะเจ็บแต่ใจสู้ โดยอยากขอบคุณคนไทยทุกคนที่ส่งกำลังใจเชียร์ทั้งในอินเตอร์เน็ต ในเฟสบุ๊คที่คอยส่งข้อความมาให้ตลอด ตนได้อ่านทั้งหมด ถือว่าเป็นกำลังใจที่ดีมาก จากนี้ไป จะรักษาอาหารบาดเจ็บให้หายเพื่อกลับมาฝึกซ้อมให้เต็มที่เตรียมตัวแข่งขันรายการต่างๆ ต่อไป ส่วนการเข้าโครงการ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ตนทราบมาว่าโครงการนี้ดีมาก นักกีฬาที่กลับมาจากโอลิมปิกจะไม่ต้องกักตัวอยู่แต่ในห้อง 14 วัน ถ้าผลตรวจโควิด-19 ผ่าน สามารถใช้ชีวิตปกติได้ใน จ.ภูเก็ต

ด้าน”โค้ชบอส”อัถร ไชยมาโย ผู้จัดการทีมเปิดเผยว่า ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ได้ประสบการณ์อะไรหลายอย่างเยอะมาก ซึ่งเราจะนำจุดต่างๆไปปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมไปแข่งขันต่อไป โดยต้องขอขอบคุณ การกีฬาแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่คอยสนับสนุนพวกเรา รวมทั้งพี่ทีมงานโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว และคุณหมอทุกท่านดูแลเราอย่างดี พวกเราประทับใจกับทุกสิ่งที่ได้รับในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ รวมทั้งกำลังใจจากแฟนๆ กีฬาชาวไทย ขอขอบคุณทุกๆ กำลังใจ

ขณะที่ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี
สารสนเทศ และนักกีฬาทีมชาติไทยชุดโอลิมปิกเกมส์ ได้เดินทางไปมอบของใช้จำเป็น ทั้งพัดลม, ผ้าเช็ดตัว และกระดาษทิชชู ขนาดแพคใหญ่ ให้แก่โรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยมี ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นตัวแทนรับมอบสิ่งของ

รมว.พิพัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะผู้นำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่บูรณาการทุกหน่วยงานของกระทรวง ตั้งแต่ สำหนักปลัดฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมบูรณาการในการที่จะให้การสนับสนุนโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ โดยจะทยอยมอบเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อมาสนับสนุนในการทำโรงพยาบาลสนามที่มีถึง 300 เตียง ซึ่งต้องขอขอบคุณอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้ทำโรงพยาบาลสนาม และสิ่งสำคัญ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่เห็นการขยับและการกระเพื่อมของโควิด 19 ได้มีการประกาศไม่ให้คนไทยที่อยู่นอกพื้นที่ภูเก็ตกลับเข้ามา เพื่อทำการคัดกรองหลังจากปิดตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค. และหวังว่าจะคัดกรองได้ทุกคนในภูเก็ต เพื่อที่จะให้การเป็น ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ที่สดใส บริสุทธิ์กว่าเดิม

ด้าน “น้องเทนนิส”พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 เปิดเผยว่า ตนขอเป็นตัวแทนเทควันโด ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มาทำบุญบริจาคสิ่งของให้กับผู้ป่วยโควิด รู้สึกดีใจ อยากช่วยเหลือทุกคนมากๆ ขณะที่ “จูเนียร์”รามณรงค์ เสวกวิหารี กล่าวว่า ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ได้บริจาคของให้กับผู้ป่วยโควิด ก็อยากให้ทุกคนสู้ๆ ไปด้วยกัน หายไวๆนะครับ

ส่วน ร้อยโทหญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทย วันนี้ได้มาร่วมบริจาคสิ่งของ ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่อยากให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีผู้ป่วยโควิดเกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต ก็มาใช้โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ แต่ถึงอย่างไร อยากจะให้ทุกคนสู้ๆ ดูแลตัวเอง พยายามไม่ออกไปไหน ล้างมือบ่อยๆเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ สามารถรองรับผู้ป่วย covid-19 กลุ่มสีเขียว คือ กลุ่มผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ หรือดีขึ้นหลังจากการรับรักษาในโรงพยาบาลและมีอาการคงที่ เพื่อเข้ารับบริการตามระบบการดูแล และเฝ้าสังเกตอาการในโรงพยาบาลสนามเท่านั้น โดยในขณะนี้มหาวิทยาลัยมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยได้ 300 เตียง มีระบบจัดการความปลอดภัยและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้บริการตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเข้มข้น โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้เตรียมเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ เครื่องเอ็กซเรย์ รวมถึงของใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน