กรณีเพจ Youlike โพสต์คลิปนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จับหอยเม่นขึ้นมารับประทาน บริเวณชายหาด เกาะล้าน เมืองพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี นั้น

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. นายธเนศ มั่นน้อย ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีทช. ให้ลงพื้นที่เกาะล้านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กณีที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอนักท่องเที่ยวชาวต่างจับหอยเม่นมารับประทาน จากการสอบถามเบื้องต้นไปทางผู้ประกอบการร่มเตียงพบเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลงไปเก็บหอยเม่นตามแหล่งน้ำตื้น และได้นำมารับประทานโดยไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามที่เป็นข่าวจริง

นายธเนศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวไม่ให้กระทำในลักษณะตามที่เป็นข่าวดังกล่าว และขอให้ระวังถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดิบอันมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษและโรคพยาธิต่างๆ ตามมา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย ถึงแม้ว่าหอยเม่นจะไม่ได้เป็นสัตว์คุ้มครองที่สามารถจับนำมารับประทานได้ แต่หากจับจากพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ หรือเขตคุ้มครองสัตว์น้ำทางทะเลโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมายตาม พ.ร.ก. การประมง2558 มีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท

สำหรับหอยเม่น (sea urchin) เป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังอยู่ในวงศ์เดียวกับพวกปลิงทะเล ปลาดาว โดยหอยเม่นจะพบอยู่ทั่วไปในแนวปะการัง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศตามแนวปะการัง กล่าวคือเป็นสัตว์ที่หากินโดยการครูดไถสาหร่ายตะไคร่ที่ขึ้นบนซากปะการังเป็นอาหาร จึงเป็นการลดปริมาณสาหร่ายตะไคร่มิให้มีมากเกินไป เป็นการเปิดพื้นที่ว่างบนผิวซากปะการังให้ตัวอ่อนปะการังได้ลงยึดเกาะเพื่อเจริญเติบโต และเกิดการฟื้นตัวของแนวปะการังขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่ในกรณีที่แนวปะการังมีปริมาณหอยเม่นมากเกินไปจนเกินสมดุลธรรมชาติ ซากปะการังจะสึกกร่อนกลายเป็นผงทราย ทำให้แนวปะการังนั้นขาดพื้นแข็งสำหรับการลงยึดเกาะของตัวอ่อนปะการัง การฟื้นตัวของแนวปะการังจะเกิดขึ้นได้ยาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน