เครือข่ายองค์กรและนักอนุรักษ์ ออกแถลงการณ์เรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ชี้ภารกิจต่างๆอาจะกระทบระบบภายในถ้ำ อนาคตหากพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวควรคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศของถ้ำหลวงด้วย

ภายในถ้ำหลวง

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. เครือข่ายองค์กรและนักอนุรักษ์ ออกแถลงการณ์เรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ถึงผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอง (ศอร.) และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยระบุว่า

ความงดงามของถ้ำหลวง

ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือเยาวชนนักฟุตบอล และครูฝึก ทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จนภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่ประจักษ์แลชื่นชมต่อสายตาชาวโลกผ่าน สื่อต่างๆ จำนวนมาก เพื่อจะช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 คน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ช่วยเหลือต้องปฏิบัติการ ซึ่งกระทบกับระบบนิเวศของถ้ำหลวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะในจุดต่างๆ การเบี่ยงเบนทางน้ำในถ้ำหลวงและบริเวณใกล้เคียง วัสดุแปลกปลอมจากธรรมชาติ

วอนฟื้นฟูระบบนิเวศ

รวมทั้งการที่มีบุคลากรจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแผนการปรับปรุงถ้ำหลวงให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งต้องมีการปรับปรุงสภาพพื้นที่อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ระบบนิเวศแบบถ้ำนั้น เป็นระบบนิเวศที่พิเศษ ต่างจากระบบนิเวศภายนอก เนื่องจากเป็นระบบค่อนข้างปิด ถูกตัดขาดจากสิ่งรบกวนภายนอก จึงเป็นระบบนิเวศที่เปราะบาง และมีความยืดหยุ่นต่ำ สิ่งมีชีวิตภายในถ้ำต้องมีวิวัฒนาการให้สามารถอาศัยอยู่ในความมืด ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการรบกวนโดยฝีมือมนุษย์ได้ง่ายนัก การเปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือแสงสว่างภายในถ้ำหลวง จึงอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น นกแอ่น และปลาที่อาศัยในถ้ำ

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ประเทศไทยมีข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของถ้ำต่างๆ โดยเฉพาะถ้ำหลวงน้อยมาก เนื่องจากไม่เคยมีการสำรวจจริงจังมาก่อน จึงไม่อาจประเมินผลกระทบดังกล่าวได้ถูกต้องแม่นยำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่ทำความเสียหายเพิ่มเติมแก่ถ้ำหลวงโดยที่ยังไม่รู้ผลกระทบแน่ชัด

ทางเครือข่ายองค์กรและนักอนุรักษ์ จึงประสงค์จะแสดงความห่วงใยต่อระบบนิเวศของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน และใคร่เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า 1.เมื่อปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่สำเร็จลงแล้ว ควรมีการประเมินผลกระทบจากกิจกรรมช่วยชีวิตต่อถ้ำหลวงโดยละเอียด และให้มีการหารือกันเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศของถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ทั้งโพรงที่ขุดเจาะและทางน้ำที่ถูกเบี่ยง ทั้งภายในและภายนอกถ้ำ ควรได้รับการแก้ไขซ่อมแซมต่อไป โดยการแก้ไขซ่อมแซมนั้น ต้องเป็นไปให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติมากที่สุด

2.ในอนาคตการวางแผนพัฒนาถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ให้สถานที่ท่องเที่ยวนั้น การดำเนินการจำเป็นอย่างยิ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศของถ้ำหลวงด้วย

ทางเครือข่ายขอแสดงความชื่นชมเป็นอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการและแผนการของ ศอร. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเฉพาะนโยบายในการฟื้นฟูเส้นทางน้ำไหลให้เป็นปกติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการฟื้นฟูนั้นจะขยายไปสู่การฟื้นฟูจุดอื่น ทั้งนี้เพื่อรักษาระบบนิเวศถ้ำ ให้ยังคงอยู่เพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน