ราชทัณฑ์ เผยที่ประชุม อ.ก.พ. มีมติไล่ออกข้าราชการ 8 ราย และออกจากราชการอีก 3 ราย พบพฤติการณ์ฉาว ขนยาแก้ไอ-ซิมมือถือ ให้นักโทษในคุก ยันกรมไม่ได้นิ่งเฉยต่อบุคคลที่กระทำความผิด มุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมภายนอก

ราชทัณฑ์ / เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 ก.ค. พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เปิดเผยว่า กรมราชทัณฑ์ได้จัดการประชุม อ.ก.พ.กรมราชทัณฑ์ ครั้งที่ 4/2561 ที่อาคารชวนชม ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติพิจารณาลงโทษข้าราชการกรณีกระทำผิดวินัย อีก 11 ราย โดยมีมติไล่ออกจากราชการ 8 ราย โดยมีพฤติการณ์ต่างๆ ได้แก่ 1.ลักลอบนำยาทรามาดอลเข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ 2.เป็นสื่อติดต่อกับผู้ต้องขังโดยได้รับผลประโยชน์เป็นเงินจากผู้ต้องขัง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

3.ซุกซ่อนนำยาแก้ไอ 1,000 เม็ด เข้าไปในเรือนจำเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ต้องขังโดยไม่มีหน้าที่ 4.ใช้เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขังไปเบิกจ่ายซ้ำ โดยนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว 5.ไม่นำเงินฝากของผู้ต้องขังเข้าบัญชีตามระเบียบของทางราชการ โดยนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า 6.ไม่รายงานการตรวจค้นพบโทรศัพท์มือถือในเรือนจำ เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังไม่ถูกดำเนินคดีอาญาและทางวินัย 7.ให้บุคคลภายนอกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของทัณฑสถานและเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทนโดยไม่มีอำนาจ และ 8.มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าไปแสวงหาประโยชน์ในเรือนจำ

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า อีกทั้ง ที่ประชุมยังมีมติปลดออกจากราชการอีก 3 ราย มีพฤติการณ์ต่างๆ ได้แก่ 1.ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกิน 15 วัน โดยมีพฤติการณ์ไม่มารายงานตัวเพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการ 2.ละทิ้งราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกิน 15 วัน โดยมีพฤติการณ์ไม่มาปฏิบัติหน้าที่ราชการบ่อยครั้ง และ 3.รับฝากสิ่งของที่มีซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือซุกซ่อนอยู่จากญาติของผู้ต้องขังและนำเข้าไปให้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำ

“กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการเน้นย้ำให้ข้าราชการในสังกัดกรมราชทัณฑ์ ยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด แต่ยังมีข้าราชการส่วนน้อยที่มีพฤติการณ์กระทำผิด และกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้นิ่งเฉยต่อการกระทำของบุคคลเหล่านั้นแต่อย่างใด ซึ่งในแต่ละปีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการพิจารณาลงโทษข้าราชการที่กระทำผิด เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างกับข้าราชการอื่นๆ ตลอดจนเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมภายนอกในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการกรมราชทัณฑ์ต่อไป” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน