นักกฎหมายยัน ฟ้องปู่คออี้ไม่ได้ คำพิพากษาระบุชัดเป็นคนดั้งเดิม ชี้พญาเสือขัดคำสั่งศาลมีความผิด

ฟ้องปู่คออี้ไม่ได้นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีความเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ให้สัมภาษณ์ว่า การที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งความต่อชาวบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ทั้ง 6 คนนั้น ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และยังขัดคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้ยุติการจับกุม และให้คุ้มครองชาวบ้าน

โดยศาลปกครองสูงสุดระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บ้างบางกลอยบน และใจแผ่นดินนั้น เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ได้บอกว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก

ตลอดจนยืนยันว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค.2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ในส่วนของการจัดการทรัพยากรที่ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม

เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องไปพิสูจน์ว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน หรืออยู่มาหลังที่มีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ถ้าชาวบ้านอยู่มาก่อน ก็ต้องอนุญาติให้เขาอยู่ในพื้นที่ แต่ถ้าเข้ามาอยู่ที่หลัง ก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมายได้

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ถือเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งศาล และขัดต่อกฎหมาย ฉะนั้นนอกจากเจ้าหน้าที่ที่ไปแจ้งความต้องรับผิดชอบแล้ว อธิบดีกรมอุทยานฯ รวมไปถึงปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ถ้ามีส่วนรู้เห็นกับการแจ้งความดังกล่าวต้องมีส่วนรับผิดชอบในการกระทำครั้งนี้ด้วย ซึ่งนอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว

ยังมีความผิดตาม มาตรา 172 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และ มาตรา 173 ผู้ใดไม่ได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท

“หลังจากนี้ชาวบ้านจะยื่นเรื่องต่อสู้กับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯหรือไม่นั้น คงต้องหารือกันก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร เรายืนยันว่าคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้ระบุว่าชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก โดยระบุว่าเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นคำตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ชาวบ้านมีสิทธิ และมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนของตนเอง” หัวหน้าทีมช่วยเหลือชาวบ้าน กล่าว

ทั้งนี้จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในหน้าที่ 49 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอยบน และบ้านใจแผ่นดิน ถือเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเท่ากับว่าชาวบ้านผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ไม่ได้เป็นผู้บุกรุก แต่เป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนแล้ว

 

อ่านข่าว ปู่คออี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน