ชาวเชียงราย ค้านสุดตัว ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ชี้ไทยอาจเสียดินแดน กระทบระบบนิเวศ จี้รบ.ทบทวน

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงแก่น จ.เชียงราย จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อผลการศึกษาร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งแรก หรือโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง โดยมีผู้แทนบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และผู้แทนบริษัท CCCC Second Harbor Consultants จำกัด ร่วมชี้แจง ซึ่งมีผู้นำชุมชน และชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเข้าร่วมประมาณ 200 คน

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

นายสุจิต สุชาติ นายอำเภอเวียงแก่น กล่าวว่า ขอให้ชาวบ้านออกความเห็นกันเต็มที่ในเวทีซึ่งจะมีผลทางกฎหมาย ขอให้หันหน้าคุยกัน เรื่องนี้จุดแตกหักไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่รัฐบาลในการพิจารณาอีกครั้ง

ด้าน นายหลิว ลีหัว รองประธานบริษัท CCCC Second Harbor กล่าวว่า ผลการสำรวจแก่งแม่น้ำโขง 15 จุด ระยะ 96 กิโลเมตร ที่ผ่านมาไทยและลาว ตั้งแต่ 3 เหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ถึงแก่งบ้านโคกหลวง อ.เวียงแก่น หากจะให้เรือขนาด 500 ตัน ที่มีความยาวประมาณ 57 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร สามารถผ่านได้ โดยเรือสามารถขนตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 300 TEU ได้ ความลึกของร่องน้ำต้องประมาณ 2.5 เมตร กว้าง 30-50 เมตร วงเลี้ยว 330 เมตร ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงเกาะแก่งสกัดหินออกและขุดลอก จำนวน 13 จุด

ยืนยันว่าจะสกัดหินเท่าที่จำเป็นและมีการสร้างที่ป้องกันตลิ่ง ส่วนขั้นตอนโดยผลการศึกษาจะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญจาก 4 ประเทศ ดูรายละเอียด ทั้งจีน ไทย ลาว เมียนมา ซึ่งกำลังจะประชุมร่วมกัน ในวันที่ 9 มกราคม ที่ประเทศจีน ก่อนส่งไปยังรัฐบาลแต่ละประเทศที่จะพิจารณาว่าผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ก่อนเสนอกลับมายังคณะกรรมการร่วม 4 ประเทศในการดำเนินโครงการหรือไม่อย่างไรอีกครั้ง โดยยืนยันว่าบริษัทฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลจีน แต่เป็นการรับดำเนินการภายใต้ความเห็นชอบร่วมกันของสี่ประเทศ

ขณะที่ ดร.ตวงสรวง สกุลกลจักร ตัวแทนบริษัททีมฯ กล่าวว่า ข้อกังวลของชาวบ้านจากการสำรวจคือ การกัดเซาะเกินการควบคุม การพังทลายของตลิ่ง เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเดิน ความเร็ว ปริมาณ และระดับน้ำ กระทบต่อความมั่นคงตามแนวชายแดน และการเปลี่ยนแปลงแนวเขตแดนระหว่างประเทศ กระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำโขงที่เป็นไปตามวิถีของคนริมฝั่งปัจจุบัน เพราะคลื่นกระแทกจากการเดินเรือขนาดใหญ่ รวมถึงสัตว์ป่าและสัตว์น้ำที่อาศัยระบบนิเวศแม่น้ำโขงจะได้รับผลกระทบด้วย

ด้าน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า จากการอ่านรายงานผลการศึกษา ยังเป็นความเห็นเชิงกายภาพและศึกษาไม่ครอบคลุมระบบนิเวศน์ทั้งระบบ รวมถึงผลกระทบชุมชน และสภาพแวดที่คนท้องถิ่นอาศัย

จึงยังยืนยันมีความเห็นคัดค้าน จากการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขงมา 18 ปีแล้ว รับรู้ว่าแม่น้ำโขงกำลังป่วย และยังมีปัญหาเรื่องการปักปันเขตแดน ที่ไทยเสียประโยชน์แน่นอน เพราะร่องน้ำลึกที่ติดทางฝั่งไทย เกาะดอนจะเป็นของฝั่งลาวเกือบทั้งหมด

หากจะระเบิดหินออกกว่า 20,000 ตัน แล้วใช้หินไปถมแอ่งน้ำลึก นั่นแสดงถึงความไม่รู้เรื่องเพราะนั่นคือ โคกที่มีความสำคัญระบบนิเวศน์แม่น้ำ และยังกระทบต่อเนื่องป่าสงวนแห่งชาติแม่โขงฝั่งขวา ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่อิงฝั่งขวา และป่าแม่งาว ซึ่งยืนยันว่าจะเดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุด

รัฐบาลต้องทบทวน การไม่ทำร้ายแม่น้ำโขงดีที่สุด ให้จีนลดขนาดเรือลง หรือใช้ถนน R3A และทางรถไฟได้ใช้ให้เต็มที่ สิ่งสำคัญคือ กระบวนการนี้ผิดขั้นตอนมาตั้งแต่ต้น จีนเป็นผู้สรุปรายงานและลงทุน เขาก็ต้องคิดถึงประโยชน์ในมุมของประเทศเขา ตัวแทนประเทศไทยเป็นเพียงร่วมศึกษาเก็บข้อมูล ถ้าเสียหายไปแล้วเอาคืนไมได้ หยุดได้แล้ว พอได้แล้ว อย่างสร้างความกังวลให้ชาวบ้าน” นายนิวัฒน์กล่าว

ส่วน นายทองสุข อินทวงศ์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก ต.หล่ายงาว กล่าวว่า ชุมชนได้รับผลกระทบและความเสียหาย เราจึงต้องคัดค้านอย่างแน่นอน ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อนมาตลอด หากกระทบถึงอาชีพ จะทำให้คนเอาตัวรอด หันไปหาสิ่งผิดกฎหมายจากการปรับตัวไม่ทัน การเดินเรือของชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเรือเล็ก ได้รับผลกระทบจากการเดินเรือขนาดใหญ่แน่นอน

ทั้งนี้ระหว่างการประชุม นายนิวัฒน์ ได้สอบถามผู้เข้าร่วมประชุมถ้าใครไม่เห็นด้วยให้ทำสัญลักษณ์กากบาท ซึ่งส่วนใหญ่ในห้องประชุมมีท่าทีคัดค้านโครงการระเบิดแก่ง และพร้อมเดินหน้าร่วมคัดค้าน ขณะที่ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า กระทรวงต่างประเทศ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยืนยันว่าจะมีการนำความเห็นชาวบ้านที่ได้รับจากเวทีรับฟังความเห็น ไปประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่รับผิดชอบตามขั้นตอน

ก่อนรายงานความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างรอบคอบตามขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องเขตแดนที่ยังไม่เรียบร้อยและต้องมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยอมรับกว่าปัญหายังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนที่ยังต้องมีการหารือกัน และมีข้อตกลงเห็นชอบร่วมกันระหว่างสองประเทศคือ ไทยกับลาว โดยจะไม่ดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน