จีนแจง 4 ข้อ สถานการณ์แม่น้ำโขง ภาคปชช. ซัดย้อนแย้ง ชี้สถิติน้ำโขงสุดผันผวน ฤดูฝนน้ำแล้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เว็บไซต์สถานทูตจีนประจำประเทศไทย และ เพจ New Silk Road ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้เผยแพร่คำแถลงคำแถลงของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ว่าด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกี่ยวกับจีนในปัญหาน้ำแม่น้ำโขง

โดยระบุว่าเมื่อเร็วๆ นี้สื่อมวลชนบางสื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาน้ำแม่น้ำโขง ด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์จีนอันเป็นเท็จ ซึ่งข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ไม่มีหลักฐานและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยมองข้ามความพยายามของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงจีนและไทยในการผลักดันความร่วมมือในด้านทรัพยากรน้ำแม่น้ำโขง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับประชาชนในภูมิภาค ทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยน ซึ่งได้ทำลายบรรยากาศความร่วมมืออันดีในอนุภูมิภาคฯ

เพจ New Silk Road รายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้ 1. เกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง โดยแม่น้ำโขงได้ผูกเชื่อมจีน ไทย กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม 6 ประเทศอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงธรรมชาติและมนุษย์ในหลายมิติ จีนได้ทุ่มกำลังในการผลักดันการพัฒนาแบบสีเขียวไร้มลภาวะ “การอนุรักษ์ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมเสมือนการปกป้องดูแลลูกตาเราเอง การปฏิบัติต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเสมือนการปฏิบัติต่อชีวิตเราเช่นกัน”

และเข้าร่วมความร่วมมือกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงด้วยแนวความคิดดังกล่าว ทั้ง 6 ประเทศได้สร้างศูนย์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนิน “แผนโครงการแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงสีเขียวไร้มลภาวะ” และ “แผนปฏิบัติการความร่วมมือด่านทรัพยากรน้ำระยะ 5 ปี” ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ทั้ง 6 ประเทศได้ดำเนินการสร้างและการลงทุน การจัดหาทุนในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ยั่งยืนอย่างแข็งขัน

2. เกี่ยวกับข่าวที่เรียกว่า “การระเบิดแก่งหิน” งานเตรียมล่วงหน้าโครงการปรับปรุงร่องน้ำแม่น้ำโขงระยะที่สอง ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) ได้เริ่มดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2560 ตามความเห็นพ้องต้องกันของรัฐบาลจีน ไทย พม่า ลาว 4 ประเทศ

โดยผู้เชี่ยวชาญของทั้ง 4 ประเทศได้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคมของโครงการภายใต้เงื่อนไขบังคับก่อนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติทางภูมิศาสตร์ธรรมชาติแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยงานเตรียมล่วงหน้าได้เชิญฝ่ายต่างๆ เข้าร่วม รวมทั้งเอ็นจีโอด้วย ได้รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ อย่างเต็มที่ จนถึงปัจจุบันนี้ ทั้ง 4 ประเทศยังไม่มีแผนโครงการใดๆ จึงไม่มีสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติการ “ระเบิดแก่งหิน” ใดๆ เลย ในตอนนี้

3. เกี่ยวกับบทบาทของสถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันได การเกิดภัยแล้งและภัยน้ำท่วมบ่อยในลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบันนี้ เป็นปรากฏการณ์อากาศผิดปกติในขอบข่ายทั่วโลก การที่ฝ่ายจีนสร้างเขื่อนแบบขั้นบันไดตามแม่น้ำล้านช้าง เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ สถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันไดนั้นปล่อยน้ำในหน้าแล้ง กักเก็บน้ำในหน้าฝน ซึ่งจะเป็นการ “ปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้ง” ต่อแม่น้ำโขง

หลังการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำที่ไหลออกนอกประเทศของแม่น้ำล้านช้างได้เพิ่ม 70% ในหน้าแล้ง และลดลง 30% ในหน้าฝนเมื่อเทียบกับสภาพแบบธรรมชาติเดิม ซึ่งได้ลดค่าเสียหายทางเศรษฐกิจของมวลประชาชนสองฟากฝั่งอันเกิดจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงผิดปกติ

ปัจจุบันนี้ น้ำแม่น้ำโขงช่วงจากเชียงแสนถึงเวียงจันทร์ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 30%-50% และระดับน้ำสูงขึ้น 0.6-1.9 เมตรในหน้าแล้ง และจะมีปริมาณน้ำลดน้อยลง 10%-20% ระดับน้ำลดลง 0.4-1.3 เมตรในหน้าฝน ผู้ประกอบกิจการเดินเรือขนส่งสองฟากฝั่ง สามารถเดินเรือได้ในหน้าแล้งเป็นครั้งแรกในแม่น้ำโขงตอนกลางและตอนบนที่มีน้ำตื้นแก่งหินเยอะภายใต้บทบาท เพิ่มน้ำหน้าแล้งซึ่งได้อำนวยรูปแบบการขนส่งคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นและเป็นสีเขียวปราศจากมลภาวะแก่ประชาชนสองฟากฝั่ง

ช่วงพ.ศ. 2556 และ พ.ศ.2559 แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงประสบภัยแล้งอย่างร้ายแรงในทั่วลุ่มแม่น้ำ จีนได้อดทนดำเนินการเพิ่มน้ำฉุกเฉินต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง ช่วยประชาชน 60 ล้านคนตามแม่น้ำโขงตอนล่างได้ผ่านพ้นภัยแล้งอย่างปลอดภัย ทั้งๆ ที่ตนเองก็ประสบภัยแล้งอย่างลำบากมาก”เว็บไซต์ดังกล่าวระบุ และว่า

เว็บไซต์ของคณะกรรมการแม่น้ำโขงได้รายงานบทความเมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยชี้ว่า “ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงไม่ได้เกิดจากสถานีกำเนิดไฟฟ้าที่ตอนบนของแม่น้ำ ตรงกันข้าม การปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้งของเขื่อนแม่น้ำตอนบน ได้มีบทบาทสำคัญในขณะที่เกิดความแห้งแล้งภายใต้เงื่อนไขภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงสุดขั้ว

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

4. เกี่ยวกับการแจ้งข้อมูลอุทกวิทยา (Hydrological information) ในฐานะประเทศแม่น้ำโขงตอนบน ฝ่ายจีนให้ความสำคัญอย่างสูงแต่ต้นจนปลายต่อความห่วงใยและความต้องการของประเทศแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยได้รักษาการติดต่อสื่อสารกับประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างอย่างแน่นแฟ้น และทุ่มกำลังดำเนินความร่วมมือในด้านการแบ่งปันข้อมูลอุทกวิทยากับประเทศที่เกี่ยวข้อง

ฝ่ายจีนเริ่มให้ข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำล้านช้างในหน้าฝนแก่ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม 4 ประเทศผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยแจ้งแผนการปรับน้ำเขื่อนล่วงหน้า ซึ่งทางคณะกรรมการแม่น้ำโขงและประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างได้แสดงความขอบคุณหลายๆ ครั้ง

สิ่งที่ต้องชี้ให้เห็นเป็นพิเศษคือ ผลการประเมินของคณะกรรมการแม่น้ำโขงเมื่อปี พ.ศ. 2559 ปรากฏว่า ยอดรวมปริมาณน้ำในเขื่อนของประเทศต่างๆ ตามแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง มีมากกว่ายอดปริมาณน้ำในเขื่อนขั้นบันไดของแม่น้ำล้านช้างสายหลักของฝ่ายจีน ปริมาณน้ำแม่น้ำล้านช้างที่ไหลออกนอกประเทศจีน เป็นเพียง 13.5% ของปริมาณน้ำแม่น้ำโขงตอนปากน้ำออกทะเล

ทั้งนี้ภายหลังจากการออกคำแถลงการณ์ของโฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาและความเคลื่อนไหวจากประชาชนริมแม่น้ำโขงอย่างกว้างขวาง โดยเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงระบุว่า

1. ภายใต้ทรัพยากรแม่น้ำโขง ที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาตั้งแต่อดีต ได้รับการจัดการอย่างเป็นธรรมในทุกประเทศ จากระบบของธรรมชาติ เป็นทรัพยากรร่วมของประชากลุ่มต่างๆ ทั้งหาปลา เดินเรือ การเกษตร แหล่งน้ำบริโภคอุปโภค ฯลฯ

แต่เมื่อเกิดแนวคิดในการพัฒนาแม่น้ำโขง โดยโครงกรพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา การระเบิดเกาะแก่งเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ ฯลฯ เราพบว่าทรัพยากรแม่น้ำโขงถูกทำลายและถูกจัดการอย่างไม่เป็นธรรม โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรร่วมนี้สิ่งที่เราเผชิญคือ การแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชนท้องถิ่น ไปสู่กลุ่มทุนขนาดใหญ่

2. โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หรือโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ แม่น้ำล้างช้าง-แม่น้ำโขง ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ตามข้อตกลงการเดินเรือเสรี ที่ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ลงนาม โดยมีโครงการการระเบิดเกาะแก่งเป็นส่วนหนึ่ง จวบจนปัจจุบัน โครงการได้ถูกดำเนินการไปแล้วที่แม่น้ำโขงตอนบน ในจีน และพรมแดนพม่า-ลาวลงมาจนถึงสามเหลี่ยมทองคำ

ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวสร้างผลกระทบด้านต่างๆ ต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายน้ำ ทั้งนี้รัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา พ.ศ. 2546- 2547 ได้ตัดสินใจชะลอโครงการ เนื่องจากเหตุผลด้านความมั่นคง และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ได้ฟื้นกลับมาอีกครั้งเมื่อมีการนำเสนอในที่ประชุมกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้างแม่น้ำโขง (LMC) โดยรัฐบาลจีน ประเทศไทยได้ยอมรับให้มีการสำรวจออกแบบ ในพื้นที่พรมแดนไทยลาว เป็นระยะทาง 97 กิโลเมตร

“เครือข่ายฯ เห็นว่าการตัดสินใจในการสำรวจเกาะแก่ง หิน ผา หาด ดอน เพื่อการปรับปรุง ระเบิด และขุดลอก เป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลประโยชน์ โดยครบถ้วนในทุกมิติ ครอบคลุมถึงผลกระทบข้ามพรมแดน แต่รัฐบาลกลับอนุญาตให้มีการสำรวจ โดยไม่คำนึงถึงประเด็นที่อ่อนไหว

จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนไม่ได้หยุดยั้งในการผลักดันโครงการปรับปรุงร่องน้ำฯ แต่อย่างใด ในเวทีให้ข้อมูลในเดือนมกราคม ที่ อ.เวียงแก่น อ.เชียงของ และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ประชาชนที่เข้าร่วมต่างแสดงความกังวลต่อโครงการฯ

โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า การสำรวจออกแบบเพื่อปรับปรุงแก่งหิน 13 จุด เห็นในรูปในแผนที่ เป็นเพียงก้อนหินเล็กๆ แต่หากไปดูที่แม่น้ำโขง จะได้เห็นว่าแก่งเหล่านี้มีขนาดใหญ่ เอกสารบอกว่าย้ายหิน ซึ่งก็คือการระเบิดหิน นั่นเอง แผนการขุดลอกแม่น้ำโขง รวมระยะทาง 6 กม. เป็นปริมาณหินมากถึง 20,000 ตัน

ผู้เข้าร่วมในเวทีชี้ว่าเป็นความไม่เข้าใจ ระหว่างมุมมองทางวิศวกรรม และธรรมชาติ เอกสารระบุว่า ระเบิดหินออกเอาไปไว้ริมตลิ่ง ถมแอ่งน้ำลึก แต่สำหรับประชาชนเรารู้ว่านั่นคือคก คือวังน้ำลึก คือระบบนิเวศสำคัญที่ปลาอาศัยอยู่ และหมายถึงฐานทรัพยากรของชุมชน เรือใหญ่มาไม่ได้วิ่งวันเดียว แต่จะวิ่งทุกวัน เอกสารบอกชัดเจนว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยมาสิบกว่าปีแล้ว”คำชี้แจงระบุ

3. เกี่ยวกับบทบาทของสถานีกำเนิดไฟฟ้าแบบขั้นบันได เรียกให้ชัดเจนคือ เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ในมณฑลยูนนาน ซึ่งสร้างไปแล้วถึง 10 เขื่อน ความผันผวนของระดับน้ำแม่น้ำโขงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น หากมองย้อนหลังจากสถิติก่อนการสร้างเขื่อน ไม่เคยมีความผันผวนของแม่น้ำโขง ระดับน้ำที่ขึ้นลง เป็นไปตามฤดูกาลแล้งและฝน

แต่เมื่อมีเขื่อนสร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบน ก็เห็นได้ชัดว่าระดับแม่น้ำโขงทางท้ายน้ำ โดยเฉพาะบริเวณพรมแดนไทยลาว ไม่เป็นไปตามฤดูกาล แต่ขึ้นกับการควบคุมน้ำของเขื่อนในจีน มาตลอดระยะเวลา 20 ปี การปล่อยน้ำในหน้าแล้ง กักเก็บน้ำในหน้าฝน “ปรับลดน้ำท่วม เพิ่มน้ำหน้าแล้ง” นับเป็นการคิดที่วิปริต และขัดแย้งต่อธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องจากโดยวงจรธรรมชาติ ในฤดูฝนแม่น้ำโขงต้องท่วมหลาก สิ่งมีชีวิต ปลา ฯลฯ ต้องว่ายมุ่งสู่ลำน้ำโขงตอนบนและลำน้ำสาขา เพื่อวางไข่ ขยายพันธุ์ เมื่อเขื่อนตอนบนปรับลดระดับน้ำในฤดูฝน ทำให้วงจรของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำโขงมีปัญหา พื้นที่ชุ่มน้ำไม่สามารถมีน้ำหลาก ส่งผลกระทบต่อเนื่อง

4. เกี่ยวกับการแจ้งข้อมูลอุทกวิทยา การแจ้งข้อมูลที่ผ่านมาซึ่งผ่านหน่วยงานรัฐ พบว่ามีการรับรู้น้อย ไม่สามารถแก้ไขบรรเทาปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนปัญหาที่สำคัญคือ แม้ว่าจะมีการแจ้งปริมาณน้ำที่กักเก็บและระบายจากเขื่อน แต่การดำเนินการของเขื่อนก็ไม่เป็นไปตามฤดูกาล และวงจรของน้ำแม่น้ำโขงตามธรรมชาติ การแจ้ง จึงไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อระบบนิเวศและชุมชนท้ายน้ำได้

“ตามคำแถลงที่ว่า ปริมาณน้ำแม่น้ำล้านช้างที่ไหลออกนอกประเทศจีน เป็นเพียง 13.5% ของปริมาณน้ำแม่น้ำโขงตอนปากน้ำออกทะเล” เป็นความจริงเพียงส่วนหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่พรมแดนไทย ณ สามเหลี่ยมทองคำ เป็นน้ำที่มาจากจีนเกือบ 100% โดยเฉพาะในฤดูแล้ง

การใช้งานเขื่อนที่จีน (เขื่อนจิงหง) ย่อมส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทยลาว อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดื่มน้ำแม่น้ำสายเดียวกัน ไม่ได้เป็นการเชื่อมร้อยกันระหว่างรัฐต่อรัฐเท่านั้น การที่จะสร้างการมีส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของคนลุ่มน้ำโขง ต้องให้เกียรติ รับฟัง และมีความร่วมมือทั้งรัฐบาลและประชาชนทั้งลุ่มน้ำอย่างแท้จริง”คำชี้แจงของภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงระบุ และว่า

ทั้งนี้ ข้อมูล หลักฐาน เกี่ยวกับความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้น เครือข่ายฯ จะมอบให้แก่เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เมื่อมีการนัดหมายเพื่อหารือ และแลกเปลี่ยนหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง การจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจน ก่อนที่ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงจะรุนแรงมากไปกว่านี้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ได้มีข่าวการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่เขื่อนจีนชะลอการปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขง จนทำให้น้ำแห้งผิดปกติทั้งๆที่เป็นช่วงฤดูฝน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน