อ่างเก็บน้ำแห้งขอด ชาวลำปาง พลิกวิกฤตเป็นโอกาส แห่หาปลาทำอาหาร-สร้างรายได้

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. จากปัญหาน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายพื้นที่ลดปริมาณลงจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในอ่าง ทำให้ส่งผลต่อปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร ผู้สื่อข่าว จ.ลำปาง ลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำแม่ทะ (อ่างเก็บน้ำวังเฮือ) ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของ จ.ลำปาง พบบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ เกิดน้ำแห้งขอดจนเห็นสภาพของพื้นดินที่แตกระแหง และมีแอ่งน้ำอยู่ตรงกลางเพียงเล็กน้อย ส่วนด้านหน้าสันอ่าง ห่างจากท้ายอ่างประมาณ 500 เมตร พบมีน้ำอยู่ระดับหนึ่ง

จากรายงานสรุปสภาพน้ำอ่างเก็บน้ำระดับกลาง วันที่ 22 ก.ค. 62 พบว่าน้ำในอ่างมีอยู่ 0.24 ล้าน ลบ.ม.หรือเทียบเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ จากปกติอ่างเก็บกับน้ำได้ประมาณ 2.5 ล้าน ลบ.ม.โดยพบว่า ระดับน้ำต่ำกว่าท่อระบายน้ำล้น ของอ่างไปจนถึงตัวฐานรากกว่า 10 เมตร เมื่อน้ำแห้งลงไม่สามารถไหลผ่านช่องระบายน้ำล้นของอ่างได้แล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ และต่างพื้นที่ได้นำอุปกรณ์มาจับปลาในอ่างเก็บน้ำกันคึกคัก เพื่อหารายได้เสริมและนำไปประกอบอาหาร

ชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่อาศัยมากว่า 40 ปี กล่าวว่า ตนมีอาชีพหาสัตว์น้ำในอ่างแห่งนี้และทำสวนเกษตรทั่วไปโดยใช้น้ำในอ่าง แต่ปีนี้ฝนทิ้งช่วง ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแห้งแล้งอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำแห้งขอดลงไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นวิกฤต แต่โชคดีที่เมื่อวันที่ 21 ก.ค. มีฝนตกลงมาบ้าง ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ถือว่าดีกว่าหลายวันที่ผ่านมา

ด้านนายธนิต คำมีอ้าย หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานลำปาง กล่าวว่า สภาพน้ำในอ่าง เก็บน้ำแม่ทะ หรือ อ่างเก็บน้ำวังเฮือ มีสภาพที่แห้งถึงขั้นวิกฤต แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ เพราะอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ สร้างอยู่ในเขต อ.เมืองลำปาง แต่น้ำถูกปล่อยไปใช้ประโยชน์แก่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ด้วย โดยมีฝายรองรับอีก 7 ตัว

นายธนิต กล่าวต่อว่า การปล่อยน้ำแต่ละครั้งจะมีการเรียกประชุมชาวบ้านในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบทุกปี เมื่อเข้าสู่ฤดูทำนาก็จะแจ้งประชุมปล่อยน้ำจากอ่าง เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูก ปีละ 2 ครั้ง ทุกปีก็จะร่วมกับชาวบ้านในการพัฒนาอ่างน้ำแห่งนี้เป็นประจำ จนชาวบ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากอ่างแห่งนี้จะเตรียมพร้อมรับมือการบริหารจัดการน้ำทุกครั้ง

นายธนิต กล่าวอีกว่า ในปีนี้ฝนทิ้งช่วงและไม่มีน้ำเติมในอ่างจึงทำให้ระดับน้ำลดลงและถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็ยังรักษาระดับน้ำเพื่อคงสภาพตัวสันเขื่อนให้แข็งแรง เพื่อที่จะรอฝน คาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า น้ำจะเติมเต็มในอ่างเหมือนทุกปี ส่วนผู้ประกอบการแพ ในอ่างที่สภาพแพเกยตื้นไม่สามารถประกอบกิจการได้ เบื้องต้นทราบว่า ทางผู้ประกอบการได้ยุติการประกอบกิจการมานานแล้ว ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำในอ่างแห้งแต่อย่างใด


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน