เครือข่ายกะเหรี่ยง แถลงการณ์ร้อง คืนสิทธิความเป็นคน ให้ชาวบ้านบางกลอย จี้แก้ปัญหา ด้าน ทส.ส่งตัวแทนลงพื้นที่ อ้างเตรียมช่วยเหลือเต็มที่ ขอให้มาบอกเดือดร้อนอะไร

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 29 ม.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค. สำนักข่าวชายขอบ รายงานว่า นายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยคณะข้าราชการ ทส. นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่ราชการจังหวัดเพชรบุรี เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ตรวจพื้นที่ป่าใจแผ่นดิน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสำรวจพื้นที่ภายหลังจากที่ชาวบ้านบางกลอยอพยพกลับไปอยู่ในหมู่บ้านดั้งเดิมตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม หลังจากนั้นทั้งหมดได้เดินทางมายังหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยประชุมร่วมกับชาวบ้านประมาณ 150 คน และนายประยงค์ ดอกลำไย ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ)

นายจงคล้าย ชี้แจงกับชาวบ้านว่า ได้รับโจทย์มาว่าให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาของพี่น้องอย่างไร ดูฐานข้อมูลเดิมก็ต้องยอมรับว่าหน่วยงานไม่ได้ทอดทิ้งพวกเรา สังเกตว่ามีการพัฒนาเรื่อยๆ ปัญหาของบางกลอยบนนั้น มีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ตนจะไม่พูดถึงแล้ว เรามาเริ่มต้นนับกันใหม่ตรงนี้ ในอดีตพอพวกเรามาอยู่ ราชการอาจจะกล้าๆ กลัวๆ อาจจะไม่มีวิธีการที่แน่นอนทำให้พวกเราไม่มั่นคง แต่ปี 2562 เริ่มมีแนวทางชัดเจนขึ้นแล้ว ไม่ได้ใช้แก้ปัญหาพวกเราที่นี่เท่านั้น แต่ใช้ทั่วประเทศมีคนที่อยู่แบบเรากว่า 4 ล้าน ซึ่งต่อไปนี้ทั้งหมดจะได้รับการแก้ไขทั้งหมด

นายจงคล้าย กล่าวอีกว่า สำหรับชาวบ้านบางกลอย 39 คน หรือกว่า 40 คนที่ไปอยู่ข้างบน เรื่องที่เกิดก่อนหน้านี้เราพยายามไม่พูดถึง แต่อยากให้ลงมาพูดคุยทำความเข้าใจกันว่าเดือดร้อน ขัดข้อง มีปัญหาอะไร อยากให้ช่วยเหลืออะไร เท่าที่รู้คือบางคนมีอาชีพรับจ้าง เมื่อเจอสถานการณ์โควิดจึงกลับเข้ามาและไม่มีเงิน ตอนนี้มีทางออกให้ หลายคนไปทำงานกับอุทยานก็เริ่มผ่อนคลายลง

“ผมอยากคัดแยกคนเหล่านี้ ถ้าเป็นคนบางกลอยเดิม หากยังไม่มีอาชีพเป็นเรื่องเป็นราว กลัวว่าจะไม่มีรายได้ เดี๋ยวมาคุยกัน ตอนนี้คนที่ยังมีปัญหาอยู่ มาลงชื่อ แล้วผมจะไล่เช็กทีละคนว่าจะให้ช่วยอะไร และผมก็มีแนวทางเสนอให้ ว่าจะอยู่ด้วยกันอย่างไร จะมีความสุขอย่างไร แต่รับรองได้ว่ามีอะไรให้ทำ ตอนนี้ใครที่เป็นญาติพี่น้องกับคนที่อยู่ข้างบน ให้ไปตามมา แล้วมาคุยกัน จะช่วยแก้ให้ อะไรที่มันไม่เกินเลยจากข้อกฎหมาย จากสิ่งที่พวกผมทำให้ได้ จะทำให้ แต่อาจไม่ตรงใจร้อยเปอร์เซ็น แต่คงพอมีอะไรทำ”นายจงคล้าย กล่าว

เครือข่ายกะเหรี่ยง จี้คืนศักดิ์ศรีความเป็นคนให้ชาวบ้าน

ขณะเดียวกัน เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ออกแถลงการณ์ เรื่อง คืนสิทธิ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กะเหรี่ยงบางกลอย คืนสู่ใจแผ่นดิน ความว่า สืบเนื่องจากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายวราวุธ ศิลปอาชา) ในระหว่างการชุมนุมของพีมูฟระหว่างวันที่ 13 – 15 มกราคม 2563 เกี่ยวกับกรณีปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านบางกลอย

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2563 ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ได้ยื่นหนังสือต่อคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และต่อมา น.ส.กาญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและรับฟังข้อมูลเบื้องต้นในพื้นที่ชุมชนบ้านบางกลอย และพบว่าชาวบ้านประสบปัญหาการขาดแคลนที่ดิน และมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตจริง แต่หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฎว่ามีความคืบหน้าของคณะทำงานฯ แต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 ชาวบ้านบางกลอยจึงได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผ่านผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ (นายนพดล พลเสน) ณ ชุมชนกะเหรี่ยงภูเหม็น จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

กระทั่งวันที่ 14 มกราคม 2564 ปรากฏรายงานข่าวผ่านสื่อว่า ชาวบ้านบางกลอยล่างจำนวนหนึ่ง ได้กลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม เพื่อทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ทำกินเดิมก่อนการถูกอพยพในปี 2539 และ 2554

เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงเดินทางไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผ่านรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 เสนอให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยในระหว่างการดำเนินการขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงรวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายกับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

ในเบื้องต้นขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะทำงานยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และภาคีเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เขตงานตะนาวศรี ในระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2564

โดยคณะได้ลงพื้นที่และรับฟังคำชี้แจงจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (นายมานะ เพิ่มพูล) เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครของมูลนิธิปิดทองหลังพระ และชาวบ้านบางกลอยที่ได้รับผลกระทบ โดยพบข้อเท็จจริงเบื้องต้นดังต่อไปนี้

1.ชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีหลักฐานการก่อตั้งชุมชนไม่ต่ำกว่าปี 2455 ปรากฏหลักฐานตามแผนที่ของกรมแผนที่ทหารบก นอกจากนั้นยังพบหลักฐานตามบัตรประชาชนของปู่คออี้ นายโคอี้ มีมิ ผู้นำจิตวิญญาณของชุมชนบ้านใจแผ่นดิน ที่เกิดในปี 2454 หรือ 30 ปีก่อนมีกฎหมายป่าไม้ฉบับแรก และ 50 ปีก่อนการมีกฎหมายอุทยานฉบับแรก รวมทั้งยังมีหลักฐานอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ยืนยันได้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยและใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นด้วยเดิมที่ตั้งถิ่นฐานมาเป็นเวลานาน

2.หลังการอพยพตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา มีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรที่ดิน ส่วนหนึ่งสามารถปรับตัวอยู่กับวิถีชีวิตใหม่ได้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถปรับตัวและดำรงวิถีชีวิตในพื้นที่ใหม่ได้

นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ตั้งแต่การอพยพในช่วงปี 2539-2541 และ 2553-2554 ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์ 30 ครอบครัว มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย 3 ครอบครัว รวมประมาณ 20 ไร่เศษ อีก 27 ครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเลย คนกลุ่มนี้พยายามปรับตัวด้วยการรับจ้างแรงงานทั้งในและนอกชุมชน แต่มีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

3.มีชาวบ้านบางกลอยล่างที่กลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ประมาณ 62 ราย ในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 20 คน และผู้หญิง 15 คน หนึ่งในนั้นตั้งครรภ์ 8 เดือน

4.เหตุผลที่ชาวบ้านบางกลอยล่างเดินทางกลับขึ้นไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน มีดังนี้

4.1.เหตุผลในเชิงวัฒนธรรม การทำพิธีกรรมส่งดวงวิญญาณปู่คออี้กลับไปยังใจแผ่นดิน ส่วนสำคัญคือลูกหลานต้องปลูกข้าวไร่ด้วยตนเอง เพื่อใช้ในพิธีกรรมและเลี้ยงผู้มาร่วมงาน พิธีกรรมจึงจะสมบูรณ์ ดวงวิญญาณของปู่คออี้จึงจะไปสู่สุคติตามความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ

4.2.ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อพยพตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ยืนยันว่าไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี พวกเขามีฐานะยากจน เนื่องจากมีรายได้จากการรับจ้างแรงงานเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงตัดสินใจกลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ไร่ซากเดิม

5.การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการส่งเสริมอาชีพ พบว่า กลุ่มที่กลับไปยังบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงาน โดยเฉพาะการพัฒนาอาชีพด้านเกษตรกรรม เนื่องจากไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยมีรายได้จากการรับจ้างเพียง 20,000-30,000 บาทต่อปีโดยประมาณ

6.เหตุผลที่กลุ่มผู้ถูกอพยพลงมาตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในขณะนั้นยังไม่ได้รับสัญชาติไทย แล้วมาได้รับสัญชาติภายหลัง กลุ่มเหล่านั้นจึงตกหล่นและไม่สามารถเข้าถึงการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่กล้าแสดงตนเพื่อรับความช่วยเหลือ จากการมีปัญหาด้านสัญชาติ

คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอ เพื่อเยียวยาและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวบางกลอย ดังต่อไปนี้

1.ผ่อนปรนให้ชาวบ้าน ที่เดือดร้อนและประสงค์กลับไปทำไร่หมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรม ในพื้นที่บรรพบุรุษ บริเวณบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถทำได้ ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

2.เร่งรัดดำเนินการ จัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมาย กระบวนการและระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน

3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ลงรายการสัญชาติไทย แก่ราษฎร ในหมู่บ้านบางกลอย

4.ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่างๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันวิชาการ ได้แก่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

5.ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการตามข้อ 1 – 4 โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อธิบดีกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และผู้แทนชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน