สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นหนังสือ ทส.-อุทยานฯ จี้แจงรายละเอียด “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ชี้คุกคาม ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’

เกาะติดข่าว กดติดตามไลน์ ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

วันที่ 3 มี.ค.64 น.ส.วราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขอให้แจ้งรายละเอียดการปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และระงับการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่มีลักษณะคุกคามชาวบ้านบางกลอย และขอเสนอให้มีการดำเนินการศึกษาข้อมูลสิทธิชุมชนชาติพันธ์ดั้งเดิม โดยรายละเอียดของหนังสือมี ดังนี้

จากกรณีที่ตัวแทนชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 จากการปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และการดำเนินการอื่นของหน่วยงานรัฐอันกระทบต่อสิทธิของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน

ใจแผ่นดิน ถิ่นฐานเดิมกะเหรี่ยงบางกลอย

สมาคมฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานทำกินอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน ได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐถึงความมีอยู่ของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดิน มาตั้งแต่ก่อนประกาศเขตป่าสงวนและเขตอุทยานแห่งชาติ

แต่ต่อมาเมื่อประมาณปี 2539 กลับมีการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐทำการอพยพโยกย้ายชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน มาอยู่รวมกับชุมชนบ้านโป่งลึก โดยมิได้จัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนได้อยู่อาศัยตามวิถีของชาติพันธุ์อย่างเดิมตามข้อตกลง แม้กระทั่งที่ดินสำหรับปลูกบ้านอยู่อาศัยก็ไม่ได้จัดสรรให้ครบถ้วนตามจำนวนครัวเรือน ทำให้ชุมชนได้รับความเดือนร้อนลำบากจนชาวบ้านส่วนใหญ่กลับขึ้นไปอยู่อาศัยและทำกินตามวิถีในที่ดินเดิมบริเวณบางกลอย-ใจแผ่นดิน

ต่อมาเมื่อประมาณปี 2554 หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการอพยพโยกย้ายชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน อีกครั้ง โดยใช้ชื่อปฏิบัติการว่า “ยุทธการตะนาวศรี” การปฏิบัติการในครั้งนี้พบว่ามีการกระทำด้วยความรุนแรงต่อชุมชนโดยมีการรื้อ เผา ทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และอพยพชาวบ้านให้มาอยู่รวมกับชุมชนโป่งลึกโดยไม่ได้จัดสรรที่ดินอยู่อาศัยและทำกินให้แก่ชุมชนในการดำรงชีวิตตามวิถี

ชาวบ้านต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากเนื่องจากไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงชีพได้ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาชาวบ้านมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการอาศัยข้าว อาหาร และสิ่งของบริจาคจากคนภายนอกมาโดยตลอด ชาวบ้านบางคนต้องออกไปรับจ้างในเมือง ต้องละทิ้งวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ จนกระทั่งเมื่อประมาณต้นเดือนมกราคม 2564 ชาวบ้านได้ตัดสินใจเดินทางกลับขึ้นไปอยู่อาศัยเพื่อทำกินตามวิถีในพื้นที่เดิมที่ตนเองและบรรพบุรุษได้เคยทำกินไว้ ตามที่ปรากฏจาการรายงานข่าวของสื่อมวลชนต่าง ๆ อันเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว

ชาวบ้านยื่นหนังสือขอทำ ‘ไร่หมุนเวียน’

ทางสมาคมฯ ยังได้พบข้อเท็จจริงอีกว่า ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับรองสิทธิในการทำกินตามวิถีไร่หมุนเวียนในที่ดินเดิมของบรรพบุรุษในผืนป่าแก่งกระจานมาหลายครั้ง ดังปรากฏตามหนังสือชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2563 เรื่อง ข้อเรียกร้องในการจัดการที่ดินแบบแปลงรวมเพื่อทำไร่หมุนเวียนของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิม

จากนั้นในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน โดยมีข้อเรียกร้องว่า ต้องการสิทธิในการอาศัยและทำกินตามวิถีไร่หมุนเวียนในที่ดินดั้งเดิมของบรรพบุรุษ จนได้มีการเจรจาและจัดทำบันทึกข้อตกลงขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ท่านในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว

โดยมีสาระสำคัญในข้อ 1 ว่า ให้ชาวบ้านกลับไปทำไร่หมุนเวียนและดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมในที่ดินของบรรพบุรุษอยู่ที่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน โดยการรับรองสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม และข้อ 4 ยุติการใช้กำลังจับกุม ดำเนินคดี และการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมในรูปแบบไร่หมุนเวียน ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้วนั้น

หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้วกลับปรากฏว่า ได้มีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในลักษณะที่มีการจัดสนธิกำลังติดอาวุธ ทั้งจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจตระเวนชายแดน กดดัน คุกคามชาวบ้านที่ได้กลับขึ้นไปอาศัยและทำกินในพื้นที่เดิม มีการขู่เข็ญ บังคับ ชักจูงให้ชาวบ้านต้องกลับลงมาที่หมู่บ้านข้างล่าง สกัดเส้นทาง ปิดล้อม ไม่ยินยอมให้มีการขนส่งข้าว อาหาร และสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่น ๆ ที่ชาวบ้านข้างล่างต้องการนำขึ้นไปให้การช่วยเหลือ

สกัดกั้นมิให้สื่อมวลชน นักวิชาการ และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ที่ประสงค์จะให้การช่วยเหลือชาวบ้านเดินทางเข้าพื้นที่ จนกระทั่งชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องถูกบังคับขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของเจ้าหน้าที่กลับลงมาโดยไม่สมัครใจ มีการควบคุมตัวชาวบ้านทำบันทึกให้ลงลายมือชื่อ พิมพ์ลายนิ้วมือ โดยไม่แจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าเป็นการกล่าวหาว่ากระทำความผิดหรือไม่ อย่างไร

เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการแถลงข่าวว่าปฏิบัติการนี้ใช้ชื่อว่า “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” เพื่อตรวจยึด จับกุมผู้กระทำความผิด ซึ่งต่อมา น.ส.เนตรนภา งามเนตร ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ว่า ได้ตรวจยึดพื้นที่ที่ผู้กระทำผิดบุกรุก แผ้วถางป่า จำนวน 18 แปลง ขอให้พนักงานสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด การกระทำของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้กระทำไปแม้จะได้มีหนังสือจากชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินถึงท่านขอให้เคารพข้อตกลงกับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อขอให้ระงับการกระทำที่เป็นการใช้กำลังกดดันต่อชุมชนที่กำลังรอผลการเจรจาและศึกษาข้อมูลร่วมกับหน่วยงานของรัฐ

สมาคมฯ เห็นว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมาข้างต้น เป็นการกระทำที่ไม่เอื้อต่อการเจรจาเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานราชการผู้รับผิดชอบดูแลผืนป่าแก่งกระจานมีกับชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในผืนป่า เราเห็นว่า สาระสำคัญของปัญหาความขัดแย้งนี้มาจากปัญหามูลฐาน 2 ประการ คือ ประการแรก ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาก่อน และได้รับการรับรองสิทธิของการดำรงอยู่เป็นชาติพันธุ์ตามวิถีชีวิตดั้งเดิมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประการต่อมา การดำรงอยู่ของชาติพันธุ์ดังกล่าวซึ่งต้องอาศัยวิถีการดำรงชีพและพึ่งพาทรัพยากรป่าไม้ในแบบวิถีไร่หมุนเวียน เป็นวิถีการทำกินที่ทำให้ทรัพยากรป่าไม้เสื่อมโทรมหรือต้องสูญสลายไปโดยสาระสำคัญหรือไม่ หรือเป็นวิถีทำกินที่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่หน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาป่าตามกฎหมายกับชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมิได้มีแต่เพียงข้อขัดแย้งของพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดินเท่านั้น

แต่ยังเป็นปัญหาร่วมกันของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ประสงค์จะดำรงชีวิตตามวิถีชาติพันธุ์ดั้งเดิมอีกเป็นจำนวนมากมายหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย การหาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างเหมาะสมจะเป็นวิถีทางที่ยั่งยืนสำหรับการจัดการดูแลทรัพยากรป่าไม้อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมประเทศไทยโดยรวม ซึ่งการค้นหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานี้จำเป็นจะต้องได้รับการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริงทางวิชาการ ศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจากพื้นที่ที่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอาศัยทำกินอยู่

ดังนั้น ในการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบจะพิจารณาแต่เพียงอำนาจหน้าที่ที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายป่าไม้และอุทยานแต่เพียงด้านเดียว จึงไม่สอดคล้องกับประโยชน์ในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน และไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ที่แท้จริงของกฎหมาย จึงควรจะใช้กรณีบางกลอย-ใจแผ่นดิน เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

สมาคมฯ จึงเห็นว่า วิธีการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ จึงควรจะอาศัยการเจรจา การศึกษาร่วมกัน เพื่อสร้างฉันทามติในการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่ส่งเสริม ดูแลทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเชื่อว่าหากได้มีการทำการศึกษาร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ หน่วยงานทางวิชาการ และชุมชนท้องถิ่น จะสามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมมากกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเอาชนะในทางคดีความหรือทางกฎหมาย หากแต่ควรจะร่วมกันเพื่อสร้างหนทางในการปรับปรุงเพิ่มเติมบทกฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิในวิถีชีวิตของผู้คนให้สมบูรณ์มากขึ้น

ยื่น 4 ข้อ จี้กรมอุทยานฯทำตาม

ในเบื้องต้นสมาคมฯ จึงขอความร่วมมือจากท่านได้โปรดดำเนินการตามข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. ควรตรวจสอบและระงับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของท่าน ซึ่งอาจมีความเข้าใจผิดไปจากแนวทางที่ท่านประสงค์จะใช้การเจรจาแก้ไขปัญหากับชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดิน การที่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นที่มิได้มีความเข้าใจในกรณีปัญหานี้ให้ทำการกล่าวโทษต่อชาวบ้านชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดิน หรือกล่าวโทษต่อนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน ที่มีความเห็นสนับสนุนข้อเรียกร้องของชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อาจทำให้โอกาสในการที่จะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงที่ดีและเหมาะสมต้องกระทบกระเทือนเสียหายไป

2. ระงับการใช้กำลังในการปิดล้อมเส้นทาง สกัดขัดขวางการเดินทาง จำกัดการเข้า-ออกสถานที่ หรือการส่งข้าว อาหาร ที่อาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจไปว่าเจ้าหน้าที่มีวัตถุประสงค์ที่จะข่มขู่ บีบคั้น หรือเตรียมตัวใช้กำลังจับกุม ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการหาทางออกด้วยการเจรจา

3. กรุณาแจ้งข้อมูลในการปฏิบัติการในยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรทั้งหมด ทั้งรายละเอียดของหน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติการ วัตถุประสงค์ และขั้นตอนในการปฏิบัติการ รายละเอียดในการดำเนินคดีว่ามีการดำเนินคดีกับชาวบ้านคนใด ในฐานความผิดใดหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อแสดงความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของท่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย

4. ขอให้ดำเนินการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง ตามที่ได้ทำความตกลงไว้กับชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินต่อไป เพื่อใช้ในการเจรจาหาทางออกที่เหมาะสม

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเชื่อมั่นในความปรารถนาดีของท่านที่จะดำเนินการอย่างเหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ทั้งในการดูแลทรัพยากรป่าไม้และรักษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์ในผืนป่าแก่งกระจาน โดยยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป และขอให้ท่านได้โปรดมีหนังสือชี้แจงให้แก่สมาคมฯ เพื่อจะได้นำไปสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน