โวย คชก.-กรมชล “ลักไก่” ผ่านโครงการผันน้ำสาละวิน สู่เขื่อนภูมิพล เตรียมชงบอร์ดสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ชาวบ้านต่างไม่เห็นด้วย-กลับเดินหน้าทีเผลอช่วงวิกฤตโควิด

วันที่ 9 ก.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (คชก.) ครั้งที่ 19/2564 ซึ่งเป็นการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีพื้นที่ในการดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 มีพื้นที่ชลประทานเกิน 80,000 ไร่ ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ (จากลุ่มน้ำสาละวินมายังลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา) และอยู่ในป่าโซน C มากกว่า 500 ไร่ เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA

ข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบโดยมีมติให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงรายงานตามความเห็นของ คชก. ให้ครบสมบูรณ์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยข้อมูลของกรมชลประทานระบุว่าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่รับประโยชน์ในเขตโครงการชลประทานตามแนวแม่น้ำปิงตอนล่าง 286,782 ไร่ มีพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.6 ล้านไร่ คาดว่าจะได้รับการจัดสรรน้ำประมาณ 1,495 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการเจ้าพระยาใหญ่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพลประมาณ 1,323,244 ไร่

นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำเงา ยวม เมย สาละวิน กล่าวว่าเครือข่ายได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการผันน้ำเมย-ยวม เติมเขื่อนภูมิพลและขอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาEIA ซึ่งการประชุม คชก. เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาในขั้นตอนต่อไปนั้น ที่ผ่านมาพวกเราในนามเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน ได้มีแสดงจุดยืนทั้งการส่งหนังสืออย่างเป็นทางการและแสดงทางสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยกับดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่มาตลอด

โดยเฉพาะประเด็นการรับฟังเสียงของประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบในพื้นที่โครงการ ที่ไม่ครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งทำให้เกิดคำถามและความกังวลใจมากมายกับประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งได้เสนอให้มีการทบทวนรายงานการศึกษาให้มีความครอบคลุมรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ตลอดโครงการในพื้นจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และจังหวัดตาก เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการเจาะอุโมงค์ผ่านป่าและภูเขา มีการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ส่งผลให้มีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงในวงกว้าง

“ขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำเมย-ยวมเพื่อไปเติมเขื่อนภูมิพล เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างร้ายแรงทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งที่ผ่านมาการศึกษารายงาน EIA ยังขาดการศึกษาที่รอบด้านและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

และผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ ก็ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปทั้งในด้านของงบประมาณจำนวนมหาศาล ในขณะที่ประเทศไทยกำลังตกอยู่ภาวะวิกฤตโรคระบาด และสิ่งแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์รวมไปถึงวิถีชีวิตดั่งเดิมของชุมชนที่จะต้องล่มสลายไป” นายสะท้าน กล่าว

ด้าน นายวันชัย ศรีนวล ผู้ใหญ่บ้านห้วยแม่งูด หมู่ 6 ต.นาคอเรือ อ.ฮอด กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่มีการจัดประชุมเพื่อผ่านรายงานEIA ทั้งๆ ที่ประชาชนในพื้นที่ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการผันน้ำเนื่องจากจะสร้างผลกระทบ ตนมองว่ากระบวนการอย่างนี้เป็นการปิดหูปิดตา อยู่ๆ ก็จัดประชุมโดยที่ไม่ฟังข้อคิดเห็นและข้อกังวลของประชาชน

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีคณะทำงานที่ไม่ทราบสังกัด ลงพื้นที่สำรวจและนำแบบสอบถามส่งให้แก่ผู้นำชุมชนในพื้นที่ตามแนวที่จะมีการขุดอุโมงค์และกองดิน ที่ อ.อมก๋อย และอ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เป็นเอกสารสำรวจการประเมินชดเชยทรัพย์สิน และสำรวจข้อมูลครัวเรือนด้านเศรษฐกิจ โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้ชาวบ้านลงชื่อในแบบสำรวจแต่หากไม่ลงชื่อยินยอมก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวระบุว่าจัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ลงวันที่เดือนเมษายน 2564

อนึ่งสำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล ตามข้อมูลจากรายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธาน ระบุข้อมูลว่าเป็นโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอย่างน้อย 4,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ระยะแรกดำเนินโครงการผันน้ำแนวส่งน้ำยวม-ภูมิพล ปริมาณน้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

โดยการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมก่อนไหลลงสู่น้ำเมย (ลำน้ำสาขาของสาละวิน) ที่อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งสถานีสูบน้ำข้ามภูเขาลงสู่เขื่อนภูมิพล ระยะที่สองผันน้ำแนวส่งน้ำสาละวิน-ยวม โดยสูบน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาเติมในเขื่อนน้ำยวม

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าเป็นโครงการซึ่งกรมชลประทานกำหนดไว้ในแผนงานโครงการผันน้ำยวม ลุ่มน้ำสาละวิน มูลค่า 7 หมื่น-1 แสนล้านบาทล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่แม่น้ำยวม ระหว่าง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยจะมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยวมห่างจากจุดบรรจบกับแม่น้ำเมยไปทางเหนือน้ำ 13.8 กิโลเมตร เป็นเขื่อนคอนกรีต มีความสูง 69.50 เมตร ยาว 180 เมตร เพื่อยกระดับน้ำให้กับสถานีสูบน้ำที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย และจะสูบน้ำขึ้นไปยังบ่อพักน้ำก่อนที่จะส่งลงสู่อุโมงค์คอนกรีตดาดเหล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 8.30 เมตร

โดยความยาวของอุโมงค์ราว 63.47 กิโลเมตร เพื่อผันน้ำไปลงที่ห้วยแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งจุดที่เป็นปากอุโมงค์ อยู่ริมห้วยแม่งูด ซึ่งหมู่บ้านแม่งูดมีประชากรราว 700 คน ส่วนใหญ่มีเชื้อสายกะเหรี่ยง และเคยได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนภูมิพลเมื่อ พ.ศ.2507

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน