กมธ.ต่างประเทศ รับฟังปัญหา ชาวบ้านรอบกองบิน บน.23 อุดรธานี เดือดร้อนเสียงเครื่องบินเอฟ 16 สิงคโปร์ ฝึกบิน เด็กเล็กต้องใช้มืออุดหู ประตู หน้าต่างสั่นสะเทือน ขณะที่ ทอ.ไทย แจงปรับเวลาไม่ให้กระทบโรงเรียน ชุมชนแล้ว อีก 3-4 ปีจะให้ย้ายไปฝึกที่ขอนแก่นแทน

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 ก.ย.2564 ที่กองบิน 23 จ.อุดรธานี นายศราวุธ เพชรพนมพร ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร นายเกียรติ สิทธิอมร รองประธานฯ นายจักพล ตั้งสุทธิธรรม โฆษกฯ ร่วมประชุมติดตามผลกระทบทางเสียงจากการฝึกบินเครื่องบิน เอฟ 16 กองทัพอากาศสิงค์โปร์ ร่วมกับ กองทัพอากาศไทย โดยมี นายปราโมทย์ ธัญญพืช รอง ผวจ.อุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายก อบจ.อุดรธานี น.อ.สุรศักดิ์ เสสะเวช ผบ.บน.23 ชี้แจงการแก้ไขปัญหา

โดยตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบทั้ง มณฑลทหารบกที่ 24 อุดรธานี รพ.ค่ายประจักษ์ศิลปาคม โรงเรียนอนุบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม และ โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา ได้ชี้แจงที่ประชุมระบุว่า เครื่องบินที่ขึ้นลงแบ่งเป็น เครื่องบินพาณิชย์, เครื่องบิน บน.23 สองส่วนนี้ได้รับผลกระทบน้อย

ฝึกบิน

” แต่เครื่องบิน เอฟ 16 ของกองทัพอากาศสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบมาก เพราะขึ้นลงตลอดทั้งวัน ครูต้องหยุดสอนชั่วคราว ขณะเครื่องบินขึ้น-ลง หรือบินผ่าน เด็กเล็กต้องใช้มืออุดหู หากเสียงมีความดังมาก วัดจากสัญญาณกันขโมยรถยนต์จะดังแจ้งเตือน รวมไปถึงรุนแรงจนประตู หน้าต่าง ของอาคารสั่นสะเทือน หลังคากระเบื้องสไลด์หลุดลงมา แม้ในช่วงหลังความรุนแรงลดลงแต่ก็ยังเดือดร้อนอยู่ เสนอย้ายการฝึกของสิงคโปร์ไปที่อื่น ”

ด้าน น.อ.สุรศักดิ์ ชี้แจงว่า รับทราบประเด็นข้อทุกข์ร้อน ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขในระยะสั้นคือปรับห้วงเวลาการบินหลีกเลี่ยงกระทบสถานศึกษาและชุมชนเป็นวันละ 2 ช่วง เช้าขึ้น 08.30 น. ลง 09.40 น. บ่ายขึ้น 11.40 น. ลง 12.50 น.ในวันราชการ ปรับวิธีการบินขึ้น-ลง ให้เสียงกระทบลดลง กำกับดูแลเส้นทางและความสูงหลีกเลี่ยงการบินผ่านชุมชนและกิจกรรมมวลชนในชุมชนรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไข

ผบ.บน.23

“ส่วนแก้ไขปัญหาระยะกลางและยาว เนื่องจากปัจจุบันความเจริญ ขยายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ เส้นทางเดิมที่ใช้ฝึกก็มีชุมชน ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู เส้นทางการบินก็ต้องปรับแก้ขณะที่กองทัพอากาศมีแผนปรับปรุง สนามบินน้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สนามบินที่ บน.23 รับผิดชอบอยู่ และมีรันเวย์ยาวเพียงพอ ให้เป็นศูนย์ฝึกบินขนาดใหญ่ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว กองทัพอากาศก็มีแผนอีก 3-5 ปี จะย้ายการฝึกของกองทัพสิงคโปร์ไปที่นั่น”

ขณะที่ นายวิชญ์วารุตม์ สมจันทร์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า กรมฯได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเสียงอากาศยาน บริเวณหัว-ท้ายรันเวย์ด้านละ 2 จุด คือที่ รพ.ค่ายประจักษ์ฯ , รร.อนุบาลค่ายประจักษ์ฯ , รร.อุดรพิชัยรักษ์พิทยา และวัดป่าบ้านถ่อน ผลการตรวจวัดยังไม่สมบูรณ์ ผลเบื้องต้นที่ รร.อุดรพิชัยรักษ์ ค่าเฉลี่ย 65.2 เดซิเบล และที่วัดป่าบ้านถ่อน ค่าเฉลี่ย 64.8 เดซิเบล ไม่เหมาะใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะต้องมีการปรับปรุงแหล่งกำเนิด หรือสาธารณูปการ ส่วนระดับเสียงสูงสุดคือ 101 เดซิเบล

สนามบินทอ.

ส่วน นายเกียรติ ระบุว่า เห็นว่ากองบิน 23 และกองทัพอากาศ มีความตั้งใจแก้ไขปัญหา ทั้งเรื่องปัญหาระยะสั้นและยาว ที่อนาคตจะย้ายไปฝึกในสนามบินอื่น ระหว่างรอการย้ายจะทำอย่างไรได้บ้าง เพราะหากเปรียบกับค่ามาตรฐาน สนามบินในอเมริกาและยุโรป ค่าเฉลี่ยกลางวันไม่เกิน 75 เดซิเบล กลางคืนไม่เกิน 65 เดซิเบล ซึ่งตอนนี้จุดสูงสุดหลังปรับปรุงแล้ว 101 เดซิเบล แนะนำให้หาอุปกรณ์ใส่หูเด็ก ลดเสียงลงกว่านี้ก่อนได้หรือไม่ หรือการทำความเข้าใจกับสิงคโปร์ ลดจำนวนเที่ยวบินที่อุดรฯ ลงอีก เชื่อว่าสิงคโปร์เข้าใจ

ขอบคุณภาพประกอบจาก เพจเฟซบุ๊ก Thaifighterclub

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน