นครราชสีมา ชาวสวนทุเรียนโคราชระทม ผจญทั้งภัยแล้ง-พายุฤดูร้อน แผดเผา-พัดถล่ม อากาศแปรปรวน ผลผลิตหมอนทอง เสียหายหนักเกิน 2,000 ไร่ ค่าใช้จ่ายพุ่งสูง-รายได้ลดลง

6 พ.ค. 67 – จากสภาพอากาศที่ร้อนแล้งต่อเนื่อง พื้นที่ จ.นครราชสีมา ส่งผลกระทบให้ปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำ รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ คู คลองต่างๆ ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว จนหลายแห้งถึงขั้นแห้งขอด

ทำให้ภาคการเกษตรได้รับความเดือดร้อน ไม่มีน้ำทำการเกษตร พืชผลได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่น สวนทุเรียนในพื้นที่ อ.ครบุรี ที่เกษตรกรปลูกไว้กว่า 2,000 ไร่

เมื่อเจออากาศร้อนจัดและแล้งยาวนาน ทำให้ลูกทุเรียนที่กำลังติดลูก ร่วงหลุดไปเกือบครึ่ง เพราะอากาศร้อนจัด ทำให้โคนต้นทุเรียนแห้งเร็ว ลูกร่วงหล่นเสียหายไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังเกิดปัญหาเพลี้ยและแมลงศัตรูพืชบุกเข้าทำลายต้นทุเรียนเสียหายด้วย

ขณะที่สวนของ นายเฉลิม ปะกายะ อายุ 67 ปี เกษตรกรบ้านหนองไผ่น้อย หมู่ที่ 7 ต.เสิงสาง อ.เสิงสาง ซึ่งอยู่ใกล้กับ อ.ครบุรี ปลูกทุเรียน 5 ไร่จำนวน 150 ต้น เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง อายุไม่ต่ำกว่า 7 ปี เจออากาศร้อนและแล้งมาก ทำให้ลูกทุเรียนร่วง บางต้นแทบไม่มีลูกเหลือเลย ต้องนำเครื่องยนต์ดีเซลมาสูบน้ำช่วยเพื่อให้มีน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นทุเรียน แต่ก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นอีก ผลผลิตที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ สภาพอากาศในช่วงนี้ยังแปรปรวน เกิดพายุฤดูร้อน มีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง พัดถล่มทำให้ผลทุเรียนร่วงหลุด ได้รับความเสียหายอย่างมาก เช่น สวนทูเรียน ของนายโฮม นรมาตร์ อายุ 70 ปี อยู่ที่ อ.เสิงสาง ปลูกทุเรียนเอาไว้ 10 ไร่ จำนวน 300 ต้น ถูกลมพายุพัดกระโชกอย่างรุนแรง ทำให้ต้นทุเรียนโค่นถึง 6 ต้น ซึ่งแต่ละต้นมีลูกทุเรียนที่กำลังเจริญเติบโต ไม่น้อยกว่า 30 ลูก รวมทั้งสวน ถูกพายุกระหน่ำลูกทุเรียนร่วงประมาณ 500 ลูก ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยาได้ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 11 (89/2567) เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 โดยระบุว่า ช่วงวันที่ 6-7 มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง

ในขณะที่ประเทศไทยตอนบน มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าว มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึง อาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ส่วนวันที่ 8-10 พฤษภาคม 2567 แนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าว ยังมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง รวมทั้งมีฝนตกหนักบางพื้นที่

ซึ่ง จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ขอให้ประชาชนเตรียมรับมือกับพายุฤดูร้อน ส่วนเกษตรกร เตรียมป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสัตว์เลี้ยงด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน