เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัด 6 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา และสำนักงานเขตที่มีพื้นที่รอยต่อ ติดกับจังหวัดใกล้เคียงทั้ง 21 เขต ตลอดจนกรมปศุสัตว์พร้อมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวภายหลังการประชุม ว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ลดลงจนเป็นศูนย์ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าเสียชีวิต โดยหลังจากนี้ทุกจังหวัดในพื้นที่รอยต่อ จะทำงานร่วมกับ กทม.แบบบูรณาการ พร้อมประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทั้งการหาอาสาสมัครมาฝึกอบรมการฉีดวัคซีน ตลอดจนของความร่วมมือจากนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ มาช่วยกันระดมกำลังฉัดวัคซีนให้กับสุนัขและแมว ที่มีเป็นจำนวนมาก ยอมรับกังวลมากที่สุด คือจังหวัดสมุทรปราการ ที่มีประชากรในทะเบียนราษฎร์เกือบ 1 ล้านคน แต่กลับมีประชากรแฝงไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน ซึ่งมีพื้นที่รอยต่อ ติดกับเขต กทม. มากถึง 5-6 อำเภอ

ส่วนกรณีที่มีเด็ก ถูกสุนัขกัดในพื้นที่สมุทรปราการ จนชาวบ้านไล่ตีสุนัขเสียชีวิตเมื่อวานนี้ ผู้แทนจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์อำเภอเข้าไปสอบสวนโรค และเก็บชิ้นส่วนหัวสุนัข ส่งตรวจตามขั้นตอน คาดว่า วันพรุ่งนี้จะทราบผลว่า สุนัขตัวนั้นมีเชื่อพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ยืนยัน มีมาตรการเข้มข้น เน้นจับสัตว์จรจัดฉีดวัคซีนเร่งด่วน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมมีการหารือกรณีการฝังไมโครชิพ ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ กทม.ตั้งแต่ปี 51 ดำเนินการฝังไปแล้วกว่า 100,000 ตัว และยังเหลือไมโครชิพอีก 30,000 อัน ที่พร้อมให้บริการประชาชน ส่วนกรณีที่มีบางจังหวัดชาวบ้านดำเนินการเซตซีโร่สุนัขนั้น ยืนยัน ในพื้นที่ กทม.ไม่ดำเนินการเด็ดขาด ขอให้ประชาชนแจ้งมายังสำนักงานเขต เพื่อนำไปดูแลต่อที่ศูนย์พักพิง เขตประเวศ ก่อนส่งต่อไปยัง อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี

นอกจากนี้แต่ละจังหวัดหากประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน กทม.ยินดีให้หยิบยืม เพราะเข้าใจถึงปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับใหม่ ทำให้ขั้นตอนมีความยุ่งยาก ล่าช้าถึง 3 เดือน ทั้งนี้ยืนยันวัคซีนของ กทม. ไม่มีของปลอม มีแต่วัคซีนที่ได้มาตรฐานตามสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด ซึ่งวัคซีนจะมีการระบุวันเดือนปีที่ผลิต จึงทำให้ไม่มีวัคซีนเก่าตกค้าง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไว้ 250,000-300,000 โดส ซึ่งฉีดไปแล้วกว่า 1 แสนโดส เพียงพอต่อความต้องการแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กทม.เชิญชวนผู้มีสัตว์เลี้ยง นำสัตว์มาจดทะเบียน ลีดไมโครชิพได้ที่ คลินิกสัตวแพทย์ ที่มีอยู่ 8 แห่งทั่วกรุงเทพ ได้แก่ 1. ศูนย์บริการสาธารณสุข 4 ดินแดง เขตดินแดง 2. ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง เขตวัฒนา 3. ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา เขตบางรัก 4. ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน เขตจตุจักร 5. ศูนย์บริการสาธารณสุข29 ช่วง นุชเนตร เขตจอมทอง 6. ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 วัดเจ้าอาม เขตลางกอกน้อย 7. ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ และ 8. ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี เขตมีนบุรี

ภายใต้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 ที่เจ้าของมีหน้าที่ต้องนำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน ซึ่งมีโทษสูงสุด จําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

“ทั้งนี้ห้ามประชาชน หาซื้อวัคซีน ไปฉีดให้กับสัตว์เลี้ยงด้วยตัวเอง เพราะผู้ที่จะฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ซึ่งการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงจะต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ.2545 หากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน