กรมอุทยานฯ จัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก 31 ก.ค. นี้ เพื่องเชิดชูเกียรติเจ้าหน้าที่ ขณะที่วันเสือโคร่งโลก ชูแนวคิด “Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป…Tigers”
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต รองโฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมแถลงข่าวการจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) และวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ปฏิบัติงานเป็นแนวหน้าในการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองทั้งป่าไม้และทะเล และเพื่อเป็นการรำลึกเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้เป็นหัวใจหลัก หรือแนวหน้าในการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครอง
ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงได้ร่วมกันจัดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลกขึ้นในวันที่ 31 ก.ค. 2567 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและการทำงานอันเสียสละของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก และยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อีกด้วย
ส่วนงานวันเสือโคร่งโลก 2567 กรมอุทยานฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า จัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 27 ก.ค. 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก “Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป…Tigers” ณ ลาน Zpotlight ชั้น จี ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จ.ปทุมธานี โดยมีพิธีเปิดวันที่ 25 ก.ค. 2567 พร้อมด้วยกิจกรรมและงานเสวนาเกี่ยวกับเสือโคร่งด้วย
สำหรับสถานการณ์เสือโคร่งในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 13 ประเทศ ที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยสำคัญของเสือโคร่ง และยังได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในปี 2553 และที่ประชุมได้กำหนดให้วันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี เป็นวันเสือโคร่งโลก ซึ่งเสือโคร่ง ถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศปัจจุบัน จากการสำรวจโดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์และประเมินประชากรประเทศไทยมีเสือโคร่งในธรรมชาติ 179-223 ตัว