กะเหรี่ยงสาละวิน ร้อง กสม. อุทยานฯแย่งพื้นที่ทำกิน จับกุมชาวบ้านฟ้องศาล ทั้งที่อยู่มาก่อน โดยเป็นไร่เหล่า ที่ถูกพักจากการทำไร่หมุนเวียน วอนขอความเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 7-8 ส.ค. 2567 คณะทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีที่ชาวบ้านที่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติ (อช.) สาละวินถูกดำเนินคดีและถูกยึดที่ทำกิน
โดยในวันที่ 7 สิงหาคม ได้จัดประชุมร่วมกับชาวบ้านในหย่อมบ้านต่างๆ ในพื้นที่ หมู่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อาทิ บ้านแม่ก๋อน แม่สะบา ห้วยยาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาถูกดำเนินคดี
โดยในที่ประชุมได้หารือกันถึงข้อมูลพื้นที่ทำกินที่ถูดยึด ซึ่งกสม. ได้รับข้อมูลดังกล่าวจากอุทยานแห่งชาติสาละวินเช่นกัน มีการดำเนินคดีและยึดที่ดินทำกิน บ้านแม่ก๋อน จำนวน 6 แปลง บ้านแม่สะบา จำนวน 3 แปลง บ้านแม่ละมอง จำนวน 3 แปลง และบ้านห้วยยาก จำนวน 7 แปลง
จากนั้นในวันที่ 8 สิงหาคม คณะทำงาน กสม. ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านแม่ละมอง ร่วมกับชาวบ้านพร้อมทั้งรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านและผู้นำชุมชน ในขณะที่มีฝนตกหนักทั้งวันและเส้นทางสัญจรเป็นดินโคลนเนื่องจากขึ้นไปบนดอย
นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกัน เห็นชัดเจนว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินไร่เหล่า (ไร่หมุนเวียนที่เว้นระยะเพื่อการฟื้นฟูของชาวบ้าน)
เช่น กรณีของนายหม่อง ส่วยนุ มีลูก 8 คน แปลงที่อุทยานฯ ยึดไปนั้นมี 2 แปลง เจ้าของที่ดินบอกว่าได้รับที่ดินนี้มาจากพ่อแม่ เป็นที่ดินมรดก 40-50 ปี เนื่องจากเป็นไร่หมุนเวียน ได้มอบให้ลูก ต่อมามีการดำเนินการ “แม่ฮ่องสอนโมเดล” จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาสำรวจ จับพิกัด GPS และนำมาสู่การจับกุม
นายสะท้านกล่าวว่า กรณีที่ดินของนายมงคล มี 6 ไร่ ตอนนี้เหลือเพียงไร่ครึ่ง เนื่องจากอุทยานฯ แจ้งว่าไม่ปรากฎในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ทั้งที่ชาวบ้านยืนยันว่าเป็นไร่เหล่า ไม่ใช่ขยายเข้าไปในพื้นที่ป่าแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับที่บ้านห้วยยาก เป็นพื้นที่ไร่เหล่าเช่นกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาเดินสำรวจ แต่จากนั้นอุทยานฯ ก็มาติดป้ายและดำเนินคดีชาวบ้านสองคนสามีภรรยา จนมีคำพิพากษาปรับจำนวน 2.3 แสนบาท รอลงอาญ ซึ่งชาวบ้านทั้งสองได้จ่ายไปแล้ว 2 งวด รวม 1.1 แสนบาท
“จู่ๆ ครอบครัวต้องมีหนี้สิน ที่ทำกินก็ถูกยึดไป ทั้ง 2 คนทำกินในพื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนในโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแม่ฮ่องสอนโมเดล ชาวบ้านวางแผนว่าจะร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ช่วยผลักดันแก้ไขปัญหา
เพราะเป็นปัญหาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ทำกินไม่ได้ ที่ผ่านมาอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่มาประชุมกับชาวบ้าน บอกว่าให้ทำกินได้ทุกแปลง แม่ฮ่องสอนโมเดล ตามพรบ.ใหม่”นายสะท้าน กล่าว
นายนุ ชำนาญคีรีไพร ผู้นำชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การลงพื้นที่ของ กสม. ครั้งนี้มีการเตรียมเอกสาร แผนที่โมเดล เอกสารของชาวบ้าน หารือปัญหาและแนวทางการแก้ไข ว่าชาวบ้านถางไร่ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ แต่การรังวัดของอุทยานฯ กลับไม่ตรงกัน ไม่ตรงกับโมเดล
“กสม. มาลงพื้นที่ ชาวบ้านก็พาไปดู ฝนตกทางเละก็อยากพาไปดูว่าเป็นพื้นที่ทำกินของเราจริงๆ ไม่ได้บุกรุกป่า แต่เราทำไร่หมุนเวียน สืบทอดกันมาป่าก็ไม่เคยหมดไป เป็นการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ป่า วันนี้ชาวบ้านบอกว่าขอให้กสม. ลงมาดูปัญหาก่อน ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรในพื้นที่ หากจำเป็นก็ไปขั้นตอนต่อไป พยายามแบบนี้ไปก่อน” นายนุ กล่าว
ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านหมู่บ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน กว่า 20 คน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อาศัยอยู่และทำกินในป่าบริเวณนี้มาก่อนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการจัดการที่ดินของโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล โดยทางอุทยานแห่งชาติสาละวิน เข้ามายึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน และยังดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกป่า