โควิด: เว้นระยะอย่างเคร่งครัด – วันที่ 20 เม.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานบรรยากาศการชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ภายในจัตุรัสราบิน กลางใจกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอล เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ภายใต้แนวปฏิบัติการเว้นระยะทางสังคมอย่างระมัดระวัง ในห้วงเวลาของการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ผู้จัดการชุมนุมทำเครื่องหมายกากบาท 2,800 จุด ด้วยระยะห่าง 2 เมตร เพื่อให้ผู้ประท้วงยืนกัน ทำให้จัตุรัสแห่งนี้ดูเหมือนเต็ม ทั้งที่ความจริงพื้นที่ดังกล่าวรองรับคนมากถึงหลายหมื่น นอกจากนี้ อีกจำนวนหนึ่งยืนอยู่บนถนนรอบจัตุรัส

แม้ว่าในสัปดาห์นี้ อิสราเอลเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดทางสังคมเข้มงวดเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่การชุมนุมยังได้รับอนุญาตหากยังปฏิบัติตามระเบียบของรัฐบาล

กลุ่มผู้ประท้วงสวมหน้ากากอนามัย ถือธงชาติอิสราเอลและธงสีดำเรียบเป็นสัญลักษณ์ เพื่อโจมตีนายเนทันยาฮูว่าต่อต้านระบอบประชาธิปไตยของประเทศ ผู้ประท้วงคนหนึ่งถือป้ายข้อความว่า “ฉันจะไม่เงียบเพราะโฉมหน้าประเทศของฉันเปลี่ยนไป”

AP Photo/Oded Balilty

ชิกมา ชวาร์ซมันน์ ผู้จัดการชุมนุม กล่าวถึงคำพูดของกลุ่มผู้ประท้วงว่า “จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เพิ่มเป็นทวีคูณ แต่สิ่งเดียวที่คุณเห็นเพิ่มเป็นทวีคูณอย่างแท้จริงคือ จำนวนของผู้ตั้งใจยืนหยัดและปกป้องชาติและประชาธิปไตยของชาติตัวเอง”

ขณะที่ ยาอีร์ ลาปิด สมาชิกสภาอิสราเอล ปราศรัยตอนหนึ่งในการชุมนุม วิจารณ์นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู และเบนนี กันต์ซ ประธานสภาอิสราเอล ว่า “คุณไม่ต่อสู้กับการทุจริตจากภายใน หากคุณอยู่ภายใน คุณก็เป็นส่วนหนึ่งนั่นแหละ “ และว่า “เราอยู่ที่นี่เพื่อบอกว่า เราจะไม่ยอมแพ้ เพราะคนดีจำนวนมากยอมแพ้ไปแล้ว”

ด้าน ไอมัน โอเดฮ์ ผู้นำรายชื่อร่วมของกลุ่มพรรคการเมืองอาหรับ เรียกร้องให้พันธมิตรพรรคการเมืองยิวและอาหรับเอาชนะนายเนทันยาฮู

“พวกเราพลเมืองอาหรับไม่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานด้วยตัวเองได้ แต่สิ่งนี้ไม่สามารถทำได้เมื่อปราศจากพวกเรา” และว่า “ระหว่างวิกฤตนี้ มีโอกาสแท้จริงที่จะสร้างค่ายประชาธิปไตย และแนวหน้าชาวยิว-อาหรับอย่างกว้างขวาง เพื่อสันติภาพและประชาธิปไตย”

AP Photo/Oded Balilty

ทั้งนี้ ยาอีร์ ลาปิด กับเบนนี กันต์ซ แตกหักกันเมื่อเดือนที่แล้ว หลังเบนนี กันต์ซ ตกลงทำงานร่วมกับเนทันยาฮูที่จะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจ้าตัวสัญญาที่จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรณรงค์การหาเสียงให้เครือพันธมิตรฟ้า-ขาว ฝ่ายตรงข้ามนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู

ปรากฏการณ์ “งูเห่า” ของเบนนี กันต์ซ นำมาสู่การแตกหักภายในของเครือพันธมิตรฟ้า-ขาว โดยที่ยาอีร์ ลาปิด นำพรรคเยชอาทิดของตัวเอง มาเป็นฝ่ายค้าน ส่วนเบนนี กันต์ซ เดินหน้าการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติกับนายเนทันยาฮูต่อไป

ล่าสุด เบนนี กันต์ซ และนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู เพิ่งสามารถตกลงจัดตั้งรัฐบาลฉุกเฉินแห่งชาติได้แล้ว สิ้นสุดภาวะชะงักงันการเมืองในประเทศ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายตกลงเงื่อนไขกันไม่ได้จนยืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งปี ซึ่งประเทศจัดการเลือกตั้งทั่วไปถึงสามครั้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน