แฉขุดขายทราย-ฝ่าแซงก์ชั่นยูเอ็น (ซีเอ็นเอ็น) – นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ลูคัส กั๋ว และ ลอเรน ซ่ง นักวิเคราะห์จากศูนย์กลาโหมขั้นสูงศึกษา (C4ADS) องค์การไม่แสวงหากำไรในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบปัญหาความปลอดภัยด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ จับตาสถานการณ์จราจรในน่านน้ำเกาหลีเหนือ หลังสังเกตความผิดปกติของเรือมากกว่า 100 ลำ ที่แล่นไปรวมกันอย่างลึกลับในน่านน้ำใกล้เมืองแฮจูของเกาหลีเหนือ

C4ADS

เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีเหนือถูกกล่าวหาว่าขายถ่านหินและทรัพยากรล้ำค่าอื่นๆ บางครั้งเป็นปริมาณมหาศาลจากทะเลผืนใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรต่างประเทศจับได้และต้องบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือของสหประชาชาติ เกาหลีเหนือจึงหันมาใช้วิธีการโอนถ่ายสินค้าจากเรือลำหนึ่งไปอีกลำหนึ่งภายในทะเล และปกปิดแหล่งที่มาของสินค้า แทนการขนย้ายสินค้าไปที่ท่าเรือปลายทางก่อนทำการค้ากัน สามารถทำเงินหลายสิบล้านดอลลาร์สหรัฐแก่รัฐบาลเกาหลีเหนือ

สิ่งที่นักวิเคราะห์ทั้งสองค้นพบคือเรือ 279 ลำ ที่ใช้ขุดและขนส่งทราย ทั้งที่เกาหลีเหนือถูกห้ามส่งออกทรายและหินภายใต้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของสหประชาชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2560 และการค้าทรายของเกาหลีเหนือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กระนั้น ผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติชี้แจงในรายงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เกาหลีเหนือทำรายได้จากการส่งออกทรายเมื่อปีที่แล้วถึง 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 682 ล้านบาท) ขณะที่หน่วยข่าวกรองระบุว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือส่งทรายออกนอกประเทศ หลายสิบล้านตัน ตั้งแต่เดือนพ.ค.-ธ.ค. 2562

C4ADS

ความสำคัญของทราย

อารยธรรมสมัยใหม่ก่อร่างสร้างตัวด้วยทรายหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในคอนกรีต แก้ว และแม้แต่ตัวประมวลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เราใช้งานกัน มนุษย์ใช้ทรายราว 50,000 ล้านตันต่อปี มากกว่าทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ บนโลกยกเว้นน้ำ แม้ว่าปริมาณทรายอาจดูไร้ขีดจำกัด แต่จำนวนมากต้องขุดขึ้นมาจากพื้นโลกซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผืนทรายที่ปกคลุมทะเลทราบของโลกมีความบริสุทธิ์เกินกว่าใช้งานในการก่อสร้าง เนื่องจากไม่มีการยึดเกาะกันดี ทรายแม่น้ำเป็นชนิดดีที่สุดสำหรับการทำซีเมนต์ ส่วนทรายจากก้นมหาสมุทรก็ใช้งานได้ แต่ต้องนำมาทำความสะอาด และขจัดเกลือจากน้ำทะเลออกไป ก่อนใช้งานได้

รัฐบาลเกาหลีเหนือดูจะมีรายได้จากการค้าทรายมาหลายปี หลายปีก่อนที่สองเกาหลีทำธุรกิจสำคัญๆ ร่วมกัน ทรายเป็นสินค้ามีค่าที่สุดของเกาหลีเหนือที่ส่งออกไปเพื่อนบ้านทางใต้ จากตัวเลขเมื่อปี 2558 เกาหลีเหนือขายทรายให้เกาหลีใต้ ด้วยมูลค่า 73.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 2,285 ล้านบาท) แต่ต่อมาไม่นาน เกาหลีใต้ยุติการซื้อทรายจากเกาหลีเหนือ

แต่ยังมีลูกค้าสำคัญกว่าที่ติดกับเกาหลีเหนือ นั่นคือ จีน ชาติผู้ซื้อทรายไปใช้จำนวนมากที่สุดในโลก การก่อสร้างในจีนบูมเป็นประวัติการณ์ในโลกระหว่างทศวรรษที่ 2010 ปริมาณการใช้คอนกรีตในปี 2554-2556 มากกว่าของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ทั้งศตวรรษที่ 20 แม้ว่าวันนี้การเติบโตการก่อสร้างจะลดลงเมื่อเทียบกับจุดสูงสุดที่ผ่านมา แต่จีนยังใช้คอนกรีตมากกว่าทั่วโลกรวมกันอยู่ดี

AFP

เกิดอะไรขึ้น?

ไม่มีใครรู้ว่าทรายหลายตันจะถูกนำไปใช้อะไร หลังถูกขนส่งไปท่าเรือต่างๆ ทั่วชายฝั่งของจีน การลักลอบขนทรายเป็นปัญหาใหญ่ๆ ในจีน และการค้าขายเป็นของเกาหลีเหนือเป็นเรื่องดำมืดที่ฉาวโฉ่
สื่อรัฐบาลจีนรายงานว่า เมื่อต้นปีที่แล้ว กระทรวงความปลอดภัยสาธารณะของจีนเปิดตัวปฏิบัติการปราบปรามการลักลอบขุดทรายอย่างผิดกฎหมายริมแม่น้ำแยงซี ต่อมา เดือนตุลาคมของปีก่อน ทางการจีนสอบสวนเครือข่าย 90 กลุ่ม ตามมณฑลต่างๆ ของจีน 10 แห่ง พร้อมยึดเงินสด 251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,800 ล้านบาท) เรือขุดทราย 305 ลำ และทราบ 2.88 ลูกบาศก์เมตร

รัฐบาลจีนจนถึงตอนนี้ปฏิเสธข้อครหาดังกล่าวถึงการทำผิดใดๆ จากการที่เกาหลีเหนือขุดทรายขาย กระทรวงการต่างประเทศของจีนชี้แจงต่อซีเอ็นเอ็นในแถลงการณ์ว่า จีนปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือของสหประชาชาติ

รายงานของสหประชาชาติระบุว่า จีนตอบโต้ข้อครหาเหล่านี้โดยกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเบาะแสที่ได้รับจากคณะกรรมการเกี่ยวกับการลักลอบขนทราย แต่เจ้าหน้าที่ทางการไม่สามารถยืนยันได้ว่า ทรายถูกขนส่งไปยังท่าเรือต่างๆ ของจีนจริงหรือไม่ ขณะที่เกาหลีเหนือไม่แสดงท่าทีตอบโต้ต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่มักอ้างถึงการลงโทษทางเศรษฐกิจว่า เป็นการกระทำไม่เป็นมิตร พร้อมตั้งคำถามความชอบธรรมของแซงก์ชั่นดังกล่าวด้วย

จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าใครขุดทรายและขุดไปทำไม คำถามที่ใครดูจะยากหน่อย เนื่องจากเรือ 279 ลำ ที่ C4ADS ติดตามไม่มีหมายเลขประจำเรือที่ผูกกับอุปกรณ์ระบุพิกัด ซึ่งต้องลงทะเบียนกับประเทศต้นสังกัด เรือบางลำมีธงชาติจีน หรือชื่อภาษาจีนด้วย

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมมีคำตอบเป็นไปได้สองทาง ทางแรกคือเกาหลีเหนือขายสิทธิ์ขุดลอกให้กับบริษัทเอกชนจีน เพราะถึงแม้ว่าการขุดทรายไม่ใช่เรื่องนี้ แต่เป็นภาระหนักตามมา ทั้งค่าใช้จ่ายในการล้างทรายในมหาสมุทร จัดเก็บ และขนส่ง จึงไม่ได้กำไรเป็นพิเศษ หากไม่ได้ทำเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จริงจัง

อีกทางคือรัฐบาลเกาหลีนเหนือสนใจทำเงินจากทรายน้อยลง และต้องการขุดลอกหรือขยายท่าเรือเมืองแฮจูมากขึ้น เกาหลีเหนือจึงอาจทำสัญญากับบริษัทจีนที่มีกองเรือที่ประจำในจีนเพื่อทำการขุดลอกให้ และให้เรือเหล่านี้ดูดทรายเพื่อเป็นผลตอบแทนประโยชน์จากเกาหลีเหนือได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน