HRW จี้บูร์กินาฟาโซ – วันที่ 8 ก.ค. บีบีซี รายงานว่า องค์การสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์วอตช์ (HRW) ออกรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน บูร์กินาฟาโซ ชาติแอฟริกาทางตะวันออก หลังพบศพผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 ราย ในหลุมศพที่ถูกฝังร่วมกัน ในเมืองจีโบ ทางเหนือของประเทศ

“หลักฐานที่มีอยู่ชี้ว่า กองกำลังรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตนอกกฎหมาย” HRW ระบุและเรียกร้องให้รัฐบาลคุมตัวผู้เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ขณะที่ นายเชริฟ มูมินา รัฐมนตรีกลาโหมบูร์กินาฟาโซ กล่าวว่า รัฐบาลจะสอบสวนข้อกล่าวหาดังกล่าว และชี้ว่า การสังหารอาจเกิดขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธที่ขโมยเครื่องแบบและอุปกรณ์ทหารมาปลอมตัว

“เป็นการยากสำหรับประชากรที่จะแยกแยะกลุ่มผู้ก่อกการร้ายกับกองกำลังกลาโหมและความมั่นคง” นายมูมินาระบุ

AFP

โครินน์ ดุฟคา ผู้อำนวยการ HRW ประจำซาเฮล เขตรอยต่อระหว่างทะเลทรายซาฮาราและทุ่งหญ้าสะวันนาซูดาน กล่าวว่า เมืองจีโบได้กลายเป็น “ทุ่งสังหาร”

HRW ระบุว่า รัฐบาลบูร์กินาฟาโซควรแสวงหาความช่วยเหลือจากสหประชาชาติ และองค์การอื่นๆ เพื่อดำเนินการขุดศพขึ้นมาอย่างเหมาะสม ส่งคืนศพแก่ครอบครัว

HRW ระบุด้วยว่า 180 ศพ ถูกยิงตามใต้สะพาน กลางทุ่งนา และริมถนนหลักต่างๆ ทั้งหมดกระจายมากถึง 20 จุด ภายในรัศมี 5 กิโลเมตร ของเมืองจีโบ ระหว่างเดือนพ.ย. 2562- มิ.ย. 2563

AP

HRW สัมภาษณ์ชาวเมืองจีโบ 23 คน รวมถึงเกษตร พ่อค้า คนเลี้ยงสัตว์ พนักงานพลเรือน ผู้นำชุมชน และผู้ทำงานช่วยเหลือคน ทั้งหมดเชื่อว่า กองกำลังความมั่นคงคุมตัวชายผู้เสียชีวิตทั้งหมดในฐานะผู้ต้องสงสัยเป็นสมาชิกและผู้ให้การสนับสนุนกองกำลังอิสลาม

ผู้นำชุมชนคนหนึ่งบอก HRW ว่า คนตายจำนวนมากถูกปิดตา ถูกมัดมือ และถูกยิงเข้าที่ศีรษะ จากนั้น ถูกนำไปทิ้งกลางดึกนอกเมืองจีโบ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพที่ลาดตระเวนและประกาศเคอร์ฟิว ก่อนที่ชาวบ้านจะพบศพเมื่อรุ่งเช้าและจัดการฝัง

บรรดาผู้อยู่อาศัยเมืองจีโบเล่าว่า ไม่พบศพเหล่านี้หลายวันช่วงที่ชาวบ้านทราบข่าวการปะทะหรือการต่อสู้ระหว่างกองกำลังความมั่นคงของรัฐและกลุ่มนักรบ

“ตอนดึกหลายครั้งฉันได้ยินเสียงยานพาหนะหลายคัน แล้วตามด้วย ปัง! ปัง! ปัง! และเช้าถัดมา เราเห็นหรือได้ยินข่าวพบศพที่นั่นและที่นั่น” เกษตรคนหนึ่งบอก HRW

 

ทั้งนี้ บูร์กินาฟาโซ ประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล กำลังต่อสู้กับพวกกบฏอิสลามที่มีความสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลให้พลเรือนหลายร้อยรายถูกสังหาร และเกือบล้านคนต้องพลัดถิ่น ความขัดแย้งดังกล่าวกระทบเพื่อนบ้านอย่าง ไนเจอร์ และ มาลี ด้วย

แม้จะให้คำมั่นที่จะสอบสวนและดำเนินคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบอกว่า รัฐบาลบูร์กินาฟาโซดำเนินการเพียงเล็กน้อย

ส่วนวิกฤตความมั่นคงในเขตซาเฮลเริ่มต้นเมื่อพันธมิตรแบ่งแยกดินแดนและนักรบอิสลามยึดพื้นที่ทางเหนือของมาลีเมื่อปี 2555 และฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงการทหาร

แม้จะมีการลงนามสันติภาพเมื่อปี 2558 แต่ไม่เคยปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ กลุ่มติดอาวุธใหม่ๆ เกิดขึ้นมา รวมถึงกลุ่มที่เชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์และไอเอส แผ่ขยายอิทธิพลไปถึงตอนกลางของประเทศแอฟริกาต่างๆ ทั้งมาลี บูร์กินาฟาโซ และไนเจอร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน