นักวิจัยอิสราเอลชี้ – ซีเอ็นเอ็น รายงานการศึกษาการแพทย์ล่าสุดเกี่ยวกับผู้มี อาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะขาดเลือด หรือ อาการหัวใจวาย (Heart attack) สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตระยะยาวได้ด้วย การกลับมามีกิจกรรมทางเพศระดับปกติ สวนทางกับความเชื่อที่ว่าผู้ป่วยโรคดังกล่าวไม่น้อยหยุดมีเพศสัมพันธ์เพราะอาจเกิดอาการอื่นๆ ตามมา

การศึกษาดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ป้องกันโรคหัวใจของยุโรป (European Journal of Preventive Cardiology) ระบุว่า คณะนักวิจัยจากอิสราเอลติดตามกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย 495 คน และคู่สมรส เป็นเวลา 22 ปี พบว่า คู่ไหนรักษาหรือเพิ่มความถี่ในการมีกิจกรรมทางเพศใน 6 เดือนแรก หลังมีอาการหัวใจวาย มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าคู่รักหยุดหรือลดความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์ถึง 35%

 

ศาสตราจารย์ยารีฟ เกอร์เบอร์ แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ ผู้เขียนการศึกษา ระบุว่า “ความรู้สึกทางเพศและกิจกรรมทางเพศเป็นเครื่องหมายแห่งความอยู่ดีมีสุข การกลับมามีกิจกรรมทางเพศอีกครั้ง ไม่นานหลังมีอาการหัวใจวาย อาจเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้ตนเองในฐานะคนมีพลังหนุ่มสาว ร่างกายทำงานได้ดี และสุขภาพแข็งแรง อาจนำไปสู่วิถีชีวิตสุขภาพแข็งแรงขึ้นโดยภาพรวม”

 

คณะนักวิจัยระบุว่า การออกแรงอย่างกะทันหัน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้อาการหัวใจวายกำเริบ แต่ปัญหาความเสี่ยงระยะยาวต่อโรคหัวใจจะลดลงจากการออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนี้ กิจกรรมทางเพศบางช่วงอาจเกิดปัญหากับหัวใจในบางกรณี แต่ผู้ป่วยออกกำลังกายเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่ำกว่าเช่นกัน

 

สำหรับรายละเอียดกลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วย 495 คน มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ลงมา ส่วนอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 53 ปี และ 90% เป็นผู้ชาย ทั้งหมดเคยนอนโรงพยาบาลด้วยอาการหัวใจวายครั้งแรกในปี 2536 คณะนักวิจัยพบว่า 22 ปีต่อมา ผู้ป่วย 211 ราย หรือ 43% ของกลุ่มตัวอย่าง เสียชีวิต

 

จากนั้น คณะนักวิจัยปรับองค์ประกอบในการศึกษา เช่น โรคอ้วน การออกกำลังกาย และสถานะเศรษฐกิจสังคม เพื่อกำหนดความแตกต่างในความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตระหว่างผู้ป่วยสองกลุ่ม (กลุ่มยังมีชีวิตอยู่กับกลุ่มเสียชีวิตแล้ว) พบว่าการอยู่รอดส่วนใหญ่มาจากการลดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคมิใช่หลอดเลือดหัวใจ เช่น มะเร็ง หรือกล่าวในนัยหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในกลุ่มเสียชีวิตเพราะโรคอื่น มิใช่โรคหัวใจ

 

ศาสตราจารย์เกอร์เบอร์บอกซีเอ็นเอ็นว่า ผู้ป่วยสามารถเดินขึ้นบันได วิ่งเหยาะๆ หรือเดิน 1 ไมล์ (1.6 กิโลเมตร) แล้วไม่รู้สึกลำบาก จะกลับมามีเพศสัมพันธ์อีกครั้งอย่างปลอดภัย และผู้ป่วยควรกลับมามีกิจกรรมทางเพศเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน 2-3 วัน หลังออกจากโรงพยาบาล” ศาสตราจารย์เกอร์เบอร์กล่าว แต่เสริมว่า ความรุนแรงของอาการหัวใจวาย ตลอดจนภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว (Heart failure) หรือ หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation) อาจส่งผลต่อระยะเวลาเหมาะสมที่จะกลับมามีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละคนควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว

 

แม้ว่าการศึกษาดังกล่าวจะไม่ได้ทดสอบความถี่เหมาะสมที่สุดในการมีกิจกรรมทางเพศ แต่คณะนักวิจัยของศาสตราจารย์เกอร์เบอร์เคยทำการศึกษาก่อนหน้านี้และพบว่า ความถี่ในการมีเพศสัมพันธ์แม้จะน้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง มีความสัมพันธ์กับการอยู่รอดระยะยาวดีขึ้น เทียบกับการไม่มีเพศสัมพันธ์เลย

 

ศาสตราจารย์เกอร์เบอร์กล่าวว่า กิจกรรมทางเพศเป็นเครื่องหมายสำหรับการฟื้นฟูดีขึ้น เนื่องจาก สมรรถภาพร่างกายดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสแข็งแรงขึ้น และความสามารถจิตใจที่จะใช้เวลาภายในไม่กี่เดือนเพื่อกลับสู่สภาวะปกติจากอาการช็อกครั้งแรก

 

“ผู้เชื่อว่าตัวเองมีสุขภาพไม่ดีอาจมีโอกาสน้อยที่จะกลับมามีกิจกรรมทางเพศอีกครั้ง และยังมีโอกาสน้อยที่จะเข้ารับการคัดกรองมะเร็งหรือการตรวจสุขภาพอื่นๆ สิ่งนี้อาจอธิบายความสัมพันธ์ที่มีการผกผันอย่างมาก ระหว่างการเริ่มมีกิจกรรมทางเพศอีกครั้งและการเสียชีวิตจากมะเร็งที่พบในการศึกษาของเรา” ศาสตราจารย์เกอร์เบอร์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เกอร์เบอร์ตั้งข้อสังเกตถึงกลุ่มตัวอย่างว่า ตัวเลขอายุค่อนข้างน้อย และจำนวนผู้หญิงน้อยกว่า อาจเป็นข้อจำกัดด้านความแข็งแรงของกลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ป่วยหญิง และย้ำว่า การศึกษาดังกล่าวมิได้พิจารณาว่า กิจกรรมทางเพศเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราการรอดชีวิตเพียงอย่างเดียว

 

“ปัจจัยสุขภาพร่างกายและสังคมจิตใจจำนวนมากจำเป็นต่อการรักษาระดับความถี่ในการมีกิจกรรมทางเพศอย่างสม่ำเสมอ ในแง่นี้ ประโยชน์สุทธิของกิจกรรมทางเพศยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่” แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟทิ้งท้ายว่า “ผลการศึกษาน่าจะแสดงให้ผู้ป่วยไม่ควรกังวลถึงการกลับมามีกิจกรรมทางเพศไม่นานหลังมีอาการหัวใจวาย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน