เป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเรียกร้องสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศไทย หรือที่ฮ่องกง ที่มีการรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีอุดมการณ์เดียวกัน วันนี้ทาง ข่าวสดออนไลน์ จะมาสรุปเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง ก่อนที่จะมีการจับมือกันระหว่างเยาวชนของทั้งสองดินแดน ภายใต้แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance และ #save12hkyouths

1. เริ่มจากคดีฆาตกรรมสาวชาวฮ่องกงที่เกิดขึ้นที่ไต้หวัน

วันที่ 14 มีนาคม 2561 สื่อของฮ่องกงได้รายงานว่า Chan-Tung-Kai หนุ่มชาวฮ่องกงวัย 19 ปี ถูกตำรวจจับหลังให้รับคำสารภาพว่าเขาฆาตกรรมแฟนสาววัย 20 ปี ขณะที่ทั้งคู่ได้เดินทางไปพักผ่อนที่ไต้หวัน และสารภาพนำศพยัดใส่กระเป๋าและเอาไปทิ้งที่ป่ารกแห่งหนึ่ง

ทั้งคู่คบหากันมาได้ 1 ปี แต่เมื่อกลับมาที่ฮ่องกงแล้วปรากฏว่านาย Chan-Tung-Kai กลับมาเพียงคนเดียว โดยบอกพ่อของฝ่ายหญิงว่าเลิกกันแล้ว แต่พ่อของเธอไม่เชื่อ จึงไปแจ้งความ

จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่ไต้หวันพบว่า นาย Chan-Tung-Kai ลากกระเป๋าเดินทางสีชมพูออกไปจากห้องพัก ก่อนจะเดินทางกลับมาที่โรงแรมตอนเย็น แต่กลับไม่มีกระเป๋าใบดังกล่าวมาด้วย และในเวลาต่อมา ตำรวจได้พบศพของแฟนสาวถูกทิ้งอยู่ในป่ารกบริเวณที่พัก โดยเบื้องต้นคาดว่าโดนรัดคอเสียชีวิต

2.ช่องโหว่ของกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน

จากคดีอาชญากรรมดังกล่าวตามหลักกฎหมายแล้ว ทางฮ่องกงไม่สามารถตั้งข้อหาฆาตกรรมได้ เนื่องจากนาย Chan-Tung-Kai ก่อเหตุที่ไต้หวัน

เจ้าหน้าที่ไต้หวันขอให้ทางการฮ่องกงส่งตัวชายคนดังกล่าวมาดำเนินคดีที่ฮ่องกง แต่เจ้าหน้าที่ฮ่องกงระบุว่า ไม่สามารถทำตามได้ เพราะไม่มีข้อตกลงส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับไต้หวัน

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ทางการฮ่องกงร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่สภานิติบัญญัติ เพื่อให้การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังไต้หวันได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีรายชื่อของ “จีน” ซ่อนไว้ด้วย เนื่องจากไต้หวันยังมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นชาวฮ่องกงจำนวนมากเห็นว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้อาจเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนใช้ช่องทางนี้รุกเข้ามาคุกคาม และจับกุมผู้ที่เคลื่อนไหวประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงฝ่ายต่อต้านจีนที่ลี้ภัยอยู่ในฮ่องกง

3.การประท้วงครั้งแรก

เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2562 เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในฮ่องกง โดยมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่า 1 ล้านคน เป็นการชุมนุมที่มีทั้งนักศึกษา พ่อค้า นักธุรกิจ นักกฎหมาย รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงยังออกมาสนับสนุนประชาธิปไตยในครั้งนี้ด้วยการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นที่แลนด์มาร์กสำคัญ ๆ ในฮ่องกง

TOPSHOT – Protesters attend a rally against a controversial extradition law proposal in Hong Kong on June 9, 2019. – Hong Kong witnessed its largest street protest in at least 15 years on June 9 as crowds massed against plans to allow extraditions to China, a proposal that has sparked a major backlash against the city’s pro-Beijing leadership. (Photo by DALE DE LA REY / AFP)

ก่อนที่จะมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ในช่วงค่ำของวันที่ 12 มิ.ย. เป็นการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาครั้งแรงสำหรับการสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมถูกจับกุมตัวไปทั้งหมด 7 คน และบาดเจ็บอีกหลายราย

หลังจากนั้น เหตุการณ์การประท้วงในฮ่องกงก็เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ผู้ชุมนุมเข้าไปชุมนุมที่สภานิติบัญญัติ รวมถึงการปะทะที่สนามบินฮ่องกง

4.#MilkTeaAlliance #ชานมข้นกว่าเลือด หรือ มิตรภาพชานม

แฮชแท็กทวิตเตอร์ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเดืองเมษายนที่ผ่านมา เป็นการร่วมมือการเรียกร้องประชาธิปไตรที่รวมตัวกันของ 3 กลุ่มคือ ผู้ชุมนุมในไทย ฮ่องกง และไต้หวัน

ที่ไต้หวัน มีการจัดกลุ่มที่ชื่อว่า Taiwan Alliance for Thai Democracy เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย นอกจากนี้ ยังมีประชาชนชาวฮ่องกง ไต้หวัน สับเปลี่ยนมาร่วมปราศรัย เพื่อเล่าประสบการณ์อันขมขื่นที่ตนเองประสบมา

ถ้ากล่าวโดยภาพรวมแล้ว #MilkTeaAlliance เป็นจุดเริ่มต้นของชาวเน็ตที่หยิบยกกระแสการเมืองระหว่างไทยและจีนออกมาได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น #StopMekongDam แฮชแท็กที่ว่าถ้าไทย-จีนคือพี่น้องอย่างที่จีนอ้างไว้ พร้อมหยิบยกประเด็นการสร้างเขื่อน และผลกระทบต่อแม่น้ำโขง

5.โจชัว หว่อง

นักเคลื่อนไหววัยรุ่นที่โดดเด่นสุดในการประท้วงฮ่องกง เขาเป็นแกนนำคัดค้านการบรรจุหลักสูตรการศึกษา เนื่องจากเชื่อว่าหลักสูตรดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของจีนแผ่นดินใหญ่ เขาก็ได้มีบทบาทการประท้วงมาตั้งแต่ Umbrella Protest ตั้งแต่ปี 57

Pro-democracy activist Joshua Wong (R), a candidate of Kowloon East constituency, shakes hands with a resident as he campaigns during a primary election in Hong Kong on July 11, 2020. (Photo by May JAMES / May James / AFP)

และหลังจากนั้นไม่นาน เขาได้ตำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเดโมซิสโต ในปี 2559 โดยหัวใจหลักของพรรคคือเขาต้องการให้ประชาชนชาวฮ่องกงสามารถกำหนดอนาคตของตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่ในระบอบชาตินิยมของจีน เขายืนยันที่จะเรียกร้องประชาธิปไตยและรัฐบาลเป็นของประชาชนชาวฮ่องกง

6.เยาวชนและการเมือง

การเพิ่มจำนวนของวัยรุ่นชาวฮ่องกงที่สนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเมืองได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการลงทะเบียนเลือกตั้งของคนอายุ 18-35 ปี เพิ่มขึ้นจาก 58 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2000 เพิ่มไปที่ 70 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2016

(AP Photo/Vincent Yu)

ขณะที่ประเทศไทยนั้นจำนวนวัยรุ่นที่มีอายุ 18 ปี และยังไม่เคยเลือกตั้ง นับตั้งแต่ปี 2555-2560 มีทั้งหมดกว่า 5 ล้าน 6 แสนคน ถือว่าเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด โดยที่กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ยังไม่เคยสัมผัสบรรยากาศของระบอบประชาธิปไตย

7.#save12hkyouths

แคมเปญเรียกร้องขอให้ปล่อยตัววัยรุ่นชาวฮ่องกง 12 คนที่ถูกจับกุมตัวไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ทั้ง 12 คนที่โดนจับตัวไปถูกส่งไปดำเนินคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ และขาดการติดต่อตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยรัฐบาลฮ่องกงได้ลบประวัติการติดต่อของหน่วยปฏิบัติการของหน่วยการบินของรัฐบาล

แต่ทว่า นาย โจชัว หว่อง ได้รับข้อมูลจากผู้มีเบาะแสและยืนยันว่าเป็นการปฏิบัติการของทางตำรวจอย่างแน่นอน มีการจับกุมเกิดขึ้นเมื่อเวลา 04.00-08.45 น. วันที่ 23 สิงหาคม

ขณะนี้ประชาชนชาวฮ่องกงได้ลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวเยาวชนทั้ง 12 คนที่ถูกส่งตัวไปที่จีน #save12hkyouths ได้ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อเรียกร้องคือ 1.ขอสิทธิ์ในการเลือกทนายได้ด้วยตนเอง 2.ขอสิทธิ์ที่จะได้รับการปฐมพยาบาลหรือได้รับยารักษาเมื่อเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ 3.ส่งตัวกลับฮ่องกง และ 4.ต้องอนุญาตให้เยาวชนมีการติดต่อกับบุคคลที่บ้านได้

เยาวชนที่โดนลักพาตัวไปมีอายุระหว่า 16-30 ปี คุณแม่ของเยาวชนที่โดนจับตัวไปได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า คำขอร้องของฉันนั้นช่างง่ายดายและอ่อนน้อมมาก ๆ มันสิทธิขั้นพื้นฐานที่ฉันต้องการใช้ทนายของตัวเองเพื่อปกป้องลูกชาย ไม่ใช่ทนายที่นำมาจากแผ่นดินใหญ่

8.เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผูู้คนจำนวนมาก

ไม่ว่าจะเป็นสาว Greta Thunberg วัย 17 ปี นักกิจกรรมภูมิอากาศสาวชาวสวีเดนที่เคยสร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้ใหญ่ทั่วโลกมาแล้ว

รวมถึง Gregory Wong Chung-yiu นักแสดงหนุ่มชื่อดังชาวฮ่องกง ที่ออกมาร่วมแคมเปญนี้พร้อมทั้งติด #Whatshappenonginthailand อีกด้วย

และนาย Alistair Carmichael สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรม วัย 24 ปี นักเคลื่อนไหวชาวไทยได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ระบุว่าประชาชนฮ่องกงออกมาช่วยกระจายข่าวการต่อสู้ของคนไทยให้ทั่วโลกรู้ รวมถึงแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่นั่นด้วย พวกเราเองก็มาช่วยคนฮ่องกงที่ถูกกดขี่เสรีภาพด้วยกันโดยติด #save12hkyouths รณรงค์และกดดันให้รัฐบาลจีนและฮ่องกงปล่อยตัวเยาวชน 12 คนที่จีนจับตัวอยู่ให้กลับฮ่องกงโดยสวัสดิภาพทันที

9.วันที่ 18 ต.ค.2563 โจชัว หว่อง โพสต์

โจชัว หว่อง โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับการชุมนุมของไทย เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ว่าไฟฉายหรือแสงหิ่งห้อยแต่ละดวงนั้น แสดงถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่ในการต่อสู้ในประเทศไทย เพื่อความยุติธรรม อนาคตที่ดีกว่า และประชาธิปไตยที่ถูกขโมยไป ขอให้โลกได้โปรด #StandWithThailand ในการต่อสู้ของพวกเขา แม้รถไฟฟ้าใต้ดินจะปิด แต่ผู้กล้าชาวไทยฝ่าฝืนกฎหมายเข้มงวด แห่ไปตามท้องถนนและส่งเสียงดัง ปณิธานของพวกเขาสำหรับประชาธิปไตยไทยไม่สามารถยับยั้งได้พร้อมติดแฮทแทค #WhatIsHappeningInThailand #MilkTeaAlliance

นอกจากนี้ นาย โจชัว หว่อง ยังแชร์รูปภาพของรถพยาบาลที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านกลุ่มผู้ชุมนุมของทั้งฮ่องกงและประเทศไทยเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสันติ

10. เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล โพสต์

เนติวิทย์โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์เมื่อช่วงเช้าว่า “เพื่อนของผม @โจชัว หว่อง บอกผมว่าพรุ่งนี้เวลา 16.00 นาฬิกา เขาจะไปชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพื่อคนไทย ที่หน้ากงศุลใหญ่ในฮ่องกง #MilkTeaAlliance #save12hkyouths” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นการช่วยเหลือกันระหว่าง 2 ประเทศเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยคืนให้ประชาชน

ขอขอบคุณที่มา npr.org thestandard.com.hk

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน