ไต้หวันไม่ถูกเชิญเข้าการประชุมสมัชชาอนามัยโลก แม้รับมือโควิดระดับสากล จีนเย้ยต้องระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน ยุโรป-สหรัฐ ร่วมลงชื่อให้ไต้หวันได้สังเกตการณ์

การประชุมสมัชชาอนามัยโลกจะจัดขึ้นที่เมืองเจนีวาในวันจันทร์ แต่ไต้หวันยังไม่ได้รับเชิญแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการจัดการกับโควิด -19 ก็ตาม /AFP

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 สำนักข่าว อัลจาซีรา รายงานว่า ไต้หวันเปิดเผยว่าไม่ได้รับเชิญไปในงานประชุมขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ผ่านมา ซึ่งมีหัวข้อในเรื่อง โรคระบาด โควิด-19 ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยสะสมโควิด-19 ถึง 50 ล้านคน

สำหรับการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 73 นี้ มีรายชื่อผู้แทน เข้าร่วมมากถึง 83 หน้า แต่หน่วยงานกลับตัดสินใจไม่รวมตัวแทนจากไต้หวัน ซึ่งจีนอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนปกครองตนเองแห่งนี้มาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวันตำหนิ “การขัดขวาง” จากจีน

ขณะที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมเสมือนจริงแทน

WHA / News EU

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศไต้หวันแถลงว่า ไต้หวันยังไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับรัฐสมาชิก 194 ประเทศ ซึ่งแม้แต่องค์การสหประชาชาติ หรือคณะผู้สังเกตการณ์ที่เป็นตัวแทนของชาวปาเลสไตน์และวาติกันก็ยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้แสดงความเสียใจและไม่พอใจอย่างยิ่งที่จีนขัดขวางไต้หวันในการเข้าร่วมการประชุม องค์การอนามัยโลกยังคงละเลยต่อสุขภาพและสิทธิมนุษยชนของประชากร 23.5 ล้านคนของไต้หวัน การปฏิเสธที่จะเชิญไต้หวันจากการพิจารณาเงื่อนไขทางการเมือง ถือเป็นเรื่องน่าขบขันต่อจุดประสงค์การทำงานขององค์การที่ว่า “สุขภาพดีสำหรับทุกคน”

ไต้หวันถูกกีดกันจากองค์กรระดับโลกส่วนใหญ่ เช่น องค์การอนามัยโลก เนื่องจากการคัดค้านของจีน ซึ่งจีนถือว่าเกาะแห่งนี้เป็นหนึ่งในมณฑลของตน โดยไม่มีสิทธิ์ในอธิปไตยของตนเอง

องค์การอนามัยโลกระบุว่าขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกว่าจะเชิญไต้หวันหรือไม่ ซึ่งไต้หวันได้รับการยกย่องในระดับสากลว่ามีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในวิกฤตโรคโควิด-19 แพร่ระบาด ซึ่งการร่วมประชุมครั้งนี้จะมีการลงนามในร่างมติในการแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพด้วย

Tedros Adhanom Ghebreyesus / Reuters

“เราสามารถเอาชนะ COVID-19 ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แม้ว่านี่จะเป็นวิกฤตระดับโลก แต่หลายประเทศและเมืองต่างๆก็ประสบความสำเร็จในการป้องกันหรือควบคุมการแพร่เชื้อด้วยแนวทางที่ครอบคลุมตามมาตรฐาน” องค์การอนามัยโลกระบุในแถลงการณ์ก่อนประชุม

ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 200 วันแล้วที่ไต้หวันไม่มีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ และไต้หวันกระตือรือร้นที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของตน เนื่องจากประเทศอื่นๆ กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเกาะไต้หวัน และสมาชิกรัฐสภาเกือบ 650 คนจาก 25 ประเทศในยุโรป ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ในสัปดาห์ที่แล้วเพื่อเรียกร้องให้ไต้หวันได้รับเชิญในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมถึง แพทยสมาคมโลก ก็ได้เขียนประกาศถึงผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก โดยย้ำถึงการเรียกร้องให้เกาะนี้ได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์เช่นกัน

Frank Ulrich Montgomery / Law and Crime News

“การแพร่ระบาดของโควิด -19 เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความร่วมมือและกับระบบการดูแลสุขภาพทั้งหมดในโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงถือว่าน่าเหยียดหยามและเราขอต่อต้านการที่ WHO จะยกเว้นไม่ให้ผู้แทนด้านสุขภาพจากไต้หวันเข้าร่วมในสมัชชาอนามัยโลกและการประชุมทางเทคนิคอยู่เรื่อย ยิ่งไปกว่านั้นเนื่องจากไต้หวันมีความเชี่ยวชาญและความช่วยเหลือเชิงวัตถุอีกมากมาย” ดร. แฟรงค์ มอนต์โกเมอรี ประธานแพทยสมาคมโลก กล่าว

แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะระบุว่ามีการร่วมมือกับไต้หวันในเรื่องสุขภาพ รวมถึงประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม แต่ที่ผ่านมาไต้หวันถูกบังคับให้ออกจากองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ.2515 เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าแทนในตำแหน่ง และกลายสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ระหว่างปี 2552 ถึง 2559 แต่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ได้เพิ่มแรงกดดันเกาะไต้หวันตั้งแต่ประธานาธิบดี ไช่ อิง เหวิน ได้รับเลือกตั้ง

จีนกล่าวต่อองค์การสหประชาชาติในนครเจนีวาเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พ.ย. โดยยืนยันว่าไต้หวันสามารถมีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้ หากไต้หวันยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไต้หวันปฏิเสธที่จะทำอย่างแน่นอน

Tsai Ing Wen / BBC

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน