ญี่ปุ่นครบรอบ 10 ปี สึนามิ ญาติยังคงโทรหา-พูดคุยกับปลายสายที่ไร้ผู้รับ ผ่านโทรศัพท์ที่ไม่ได้ต่อสายไว้ โดยใช้ใจบอกผ่านไปทางสายลม

Reuters

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.64 สำนักข่าว รอยเตอร์ นำเสนอเรื่องราวชาวญี่ปุ่นที่สูญเสียคนรักไปจากภัยพิบัติสึนามิ พวกเขาได้สื่อสารความในใจถึงคนรักที่จากไป ผ่านทางโทรศัพท์ที่ไม่ได้ต่อสายไว้ โดยใช้ใจบอกผ่านไปทางสายลม

ตามหาคุณไปทั่วทุกหนแห่ง

ณ สวนแห่งหนึ่งบนเนินเขา ใต้ต้นซากุระ มีตู้โทรศัพท์สีขาวตั้งโดดเด่นกลางแจ้ง ภายในตู้โทรศัพท์มีชายคนหนึ่ง ชื่อ นาย คาสึโยชิ วัย 67 ปี กำลังบอกเล่าความในใจถึง นาง มิวาโกะ ภรรยาที่จากไปในเหตุการณ์สึนามิ

คาสึโยชิ เล่าถึงโศกนาฏกรรมครั้งนั้นว่า หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เขาตามหาภรรยาอยู่หลายวัน ทั้งไปหาที่ศูนย์อพยพ และที่เต็นท์เก็บศพ รวมถึงซากปรักหักพังที่บ้านของพวกเขา

คาสึโยชิ ซาซากิ / Reuters

“ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเร็วมาก ผมยังจำได้ไม่ลืมจนถึงทุกวันนี้ ผมส่งข้อความหาคุณ บอกคุณว่าผมอยู่ที่ไหน แต่คุณไม่ได้เปิดอ่าน พอผมกลับมาถึงบ้านและมองขึ้นบนฟ้า ผมเห็นดาวหลายพันดวง เหมือนกำลังดูกล่องอัญมณีเลย ผมร้องไห้แล้วร้องไห้อีก ผมรู้ว่ามีคนมากมายที่ต้องตาย”

คาสึโยชิ รู้จักและรักมิวาโกะมานานเกือบทั้งชีวิต เขาสารภาพรักกับเธอครั้งแรกเมื่อครั้งมัธยมต้น ซึ่งมิวาโกะกล่าวปฏิเสธทันที คาสึโยชิ ใช้เวลาอีก 10 ปี จนกระทั่งเขาชวนมิวาโกะออกเดทได้สำเร็จ ในที่สุดแล้ว พวกเขาก็แต่งงานกันและมีลูก 4 คน

คาสึโยชิ บอกภรรยาของเขาผ่านทางโทรศัพท์สายลมว่า เขาเพิ่งย้ายบ้าน และลูกชายคนเล็ก กำลังสร้างบ้านใหม่ที่เขาจะได้อยู่กับหลาน ๆ และก่อนที่จะวางสาย คาสึโยชิ บอกมิวาโกะว่า การตรวจสุขภาพครั้งล่าสุด เขาสามารถลดน้ำหนักได้แล้ว

คาสึโยชิ ซาซากิ / Reuters

“ผมจะดูแลตัวเองดี ผมมีความสุขมากที่ได้พบกับคุณ และ ขอบคุณมาก ๆ ส่วนตอนนี้พวกเราทุกคนกำลังทำในสิ่งที่สามารถทำได้ แล้วผมจะมาคุยกับคุณอีกนะ”

นอกจากภรรยา คาสึโยชิ ยังสูญเสียญาติพี่น้องและเพื่อนมากมายไปจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011 ที่มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน

ความเหงาของผู้รอดชีวิต

ตู้โทรศัพท์สายลมนี้ มีผู้แวะเวียนมาโทรศัพท์คุยกับญาติที่หายสาบสูญไปจากโศกนาฎกรรม รวมถึง นาง ซาชิโกะ โอคาวะ วัย 76 ปี เธอโทรหา โทอิชิโระ สามีที่จากไป เธอถามเขาว่า แต่ละวันของเขาเป็นอย่างไรบ้าง

ซาชิโกะ โอคาวะ / Reuters

“ฉันเหงา” ซาชิโกะ พูดด้วยเสียงที่สั่นครือ และขอให้สามีที่จากไปช่วยคุ้มครองครอบครัว “ลาก่อนนะ แล้วจะกลับมาหาใหม่เร็วๆนี้” ซาชิโกะ บอกว่า บางครั้งเธอรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงโทอิชิโระที่ปลายสาย และตู้โทรศัพท์ช่วยให้เธอรู้สึกดีขึ้นบ้าง

ซาชิโกะ ทราบเรื่องตู้โทรศัพท์บนเนินเขาจากเพื่อน และเธอได้พาหลายชายทั้งสองมาที่นี่เพื่อที่ทั้งคู่จะได้พูดคุยกับคุณปู่

ซาชิโกะ โอคาวะ และหลายชาย เรโอะกับไดนะ / Reuters

“คุณปู่ครับ ผ่านมา 10 ปีแล้วนะ ตอนนี้ผมกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมแล้ว” ไดนะ หลานชายอายุ 12 ปีกล่าว “ตอนนี้มีไวรัสใหม่ที่ทำให้คนตายมากมายด้วยนะ ทำให้พวกเราทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย พวกเราปฏิบัติตามอย่างดี”

เรื่องราวที่ถูกส่งต่อ

อิตารุ ซาซากิ วัย 76 ปี เจ้าของสวน เป็นผู้สร้างตู้โทรศัพท์สายลม ซึ่งเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “คาเซะโนะเด็นวะ” ซึ่งสวนดังกล่าว ห่างจากโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 500 กิโลเมตร โดยไม่กี่เดือนก่อนเหตุโศกนาฏกรรม อิตารุได้สูญเสียลูกพี่ลูกน้องจากโรคมะเร็งไป

อิตารุ ซาซากิ ผู้สร้างตู้โทรศัพท์สายลม (คาเซะโนะเด็นวะ) / Reuters

“มีผู้คนมากมายที่ไม่มีโอกาสได้กล่าวคำอำลา มีหลายครอบครัวที่หวังว่า จะได้พูดอะไรบ้าง แม้จะรู้อยู่แล้วว่าพวกเขาไม่มีโอกาสได้คุยกันอีกแล้วก็ตาม”

ตู้โทรศัพท์แห่งนี้ มีผู้คนจากทั่วประเทศแวะเวียนมาอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ตู้โทรศัพท์นี้ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้รอดชีวิตจากสึนามิอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีไว้สำหรับผู้ที่สูญเสียคนรักจากโรคร้ายหรือการฆ่าตัวตายเช่นเดียวกัน

เรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันกับตู้โทรศัพท์สายลม (The phone of the wind) นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน อิตารุ เปิดเผยว่า มีผู้มาติดต่อขอติดตั้ง ตู้โทรศัพท์ในแบบเดียวกันที่ประเทศอังกฤษและโปแลนด์ เพื่อให้ผู้คนโทรหาญาติที่จากไปด้วยโควิด-19 ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน