อนามัยโลกเผยงานวิจัย – วันที่ 17 พ.ค. บีบีซี รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ของสหประชาชาติ รายงานการศึกษาครั้งแรกในโลกเกี่ยวกับ ชั่วโมงการทำงานยาวนาน เผยว่า เป็นสาเหตุคร่าชีวิตผู้คน 745,000 ราย ในปี 2559 จากโรคหลอดเลือดและหัวใจ โดยคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตกได้รับผลกระทบมากที่สุด

REUTERS

การวิจัยพบว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสูงขึ้น 35% และเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงขึ้น 17% เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานสัปดาห์ละ 35-40 ชั่วโมง

การศึกษาจัดทำโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยังเผยว่า เกือบ 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากการทำงานเป็นเวลานานเป็นชาววัยกลางคนหรือสูงอายุ บ่อยครั้งการเสียชีวิตเกิดขึ้นภายหลังในช่วงบั้นปลายชีวิต บางครั้งกินเวลาหลายสิบปีให้หลัง นานกว่าชั่วโมงการทำงานยาวนาน

REUTERS

แม้ว่าการศึกษาครั้งนี้จะไม่ครอบคลุมช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ นายฟรังค์ แปกา เจ้าหน้าที่เทคนิค WHO กล่าวว่า การทำงานทางไกลและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกจ้างมีชั่วโมงการทำงานยาวนาน

“เรามีหลักฐานบางอย่างว่า เมื่อหลายชาติล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จำนวนชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นราว 10%” นายแปกากล่าว

CNN

รายงานฉบับนี้ระบุคาดว่า ชั่วโมงการทำงานยาวนานจะก่อเกิดโรคจากการทำงานประมาณ 1 ใน 3 สร้างภาระจากโรคจากการทำงานครั้งใหญ่ที่สุด WHO จึงแนะนำว่า นายจ้างควรพิจารณาประเด็นเมื่อประเมินความเสี่ยงต่อ อาชีวอนามัย (occupational health) ของคนงาน

“การกำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุด (capping hours) จะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง เนื่องจากแสดงให้เห็นแล้วว่าจะเพิ่มผลผลิตของงานได้ เป็นทางเลือกชาญฉลาดอย่างแท้จริงที่จะไม่เพิ่มชั่วโมงการทำงานยาวนานในวิกฤตเศรษฐกิจ” นายแปการะบุ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

พรรคเสรีประชาธิปไตย ญี่ปุ่น ผลักดันนโยบาย เลือกทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

นายกฯ สาวปรับเวลางาน ลดเหลือวันละ 6 ชั่วโมง 4 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มเวลาใช้ชีวิต-ให้ครอบครัว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน