เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ซีเอ็นเอ็น รายงานผลการศึกษาวิจัยจระเข้แคระสายพันธุ์แอฟริกันที่อาศัยอยู่ในถ้ำอาแบนดา ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศกาบอง ภูมิภาคแอฟริกากลาง ซึ่งมีความผิดปกติเนื่องจากลำตัวเป็นสีส้ม ว่าอาจเกิดจากการกลายพันธุ์

สืบเนื่องจากนายโอลิเวอร์ เทสตา นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ พร้อมด้วย นายแมตต์ เชอร์ลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านจระเข้ เดินทางไปสำรวจเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552 และค้นพบจระเข้ลำตัวสีส้มและตาสีแดง หลังจากที่นายริชาร์ด โอซิสลีย์ นักโบราณคดี ค้นพบจระเข้สายพันธุ์ลึกลับดังกล่าวในถ้ำอาแบนดา

 

“ในตอนแรกยืนยันว่ามีจระเข้อาศัยอยู่ในถ้ำ และเมื่อนำจระเข้ตัวหนึ่งออกมาข้างนอกถ้ำ พบว่ามีลำตัวเป็นสีส้มสว่าง น่าอัศจรรย์มาก” นายเทสตากล่าว

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเกี่ยวกับจระเข้สายพันธุ์ลึกลับตัวนี้ไม่มาก แต่นายเชอร์ลีย์มีข้อเสนอแนะว่า จระเข้เหล่านี้อาจมีการพัฒนาไปสู่สายพันธุ์ใหม่โดยสิ้นเชิง

ด้านนายโอซิสลีย์อธิบายถึงการกลายพันธุ์ว่า เนื่องจากรูปแบบสารพันธุกรรมที่แตกต่างกันถ่ายทอดไปสู่จระเข้แคระแอฟริกันที่อาศัยอยู่ข้างนอกถ้ำอาแบนดา ซึ่งแปลว่า จระเข้กำลังพัฒนาไปสู่การดำรงชีวิตในความมืดมิด

ทำไมจระเข้เป็นสีส้ม?

นายเทสตาอธิบายว่า จระเข้แคระแอฟริกันอาศัยอยู่ในของเหลว ซึ่งเป็นอุจจาระของค้างคาว และมีสภาพแวดล้อมค่อนข้างรุนแรง มีสารเคมีกัดกร่อนและฟอกสีผิวหนังของจระเข้ แต่ไม่ได้แหมายความว่าจะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าวได้

จระเข้แคระแอฟริกันสีส้มตัวแรกที่ทีมนักวิจัยค้นพบมีลำตัวยาว 1.7 เมตร และเป็นตัวที่ใหญ่ที่สุดที่นายเชอร์ลีย์เคยค้นพบมา อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ปกติแล้วจระเข้ต้องการแสงแดดเพื่อควบคุมการเผาผลาญ แต่จระเข้แคระแอฟริกันเหล่านี้สามารถดำรงชีวิตในสภาพมืดมิดได้หลายปี

สำหรับถิ่นฐานของจระเข้แคระแอฟริกันคือถ้ำอาแบนดา ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลร่วมกับถ้ำอื่น 20 แห่ง ไม่มีถนน ต้องล่องเรือจากเมืองที่ใกล้ที่สุด ใช้เวลา 1 วัน และต้องอาศัยอยู่ในป่าเพื่อเข้าไปในถ้ำดังกล่าว

“บางทีอาจเป็นแค่การสืบพันธุ์ภายในกลุ่มประชากรที่มีจำนวนน้อยมากๆ สมมติว่าหากนำคน 100 คน ไปอาศัยอยู่ด้วยกัน 1,000 ปี ก็จะเริ่มกลายพันธุ์ เนื่องจากมีการสืบพันธุ์กันเองในกลุ่มเดียวกัน” นายเทสตากล่าว

ทีมนักวิจัยทดสอบตัวอย่างเลือดของจระเข้แคระแอฟริกันสีส้มที่ค้นพบข้างในถ้ำอาแบนดา เพื่อเปรียบเทียบกับของจระเข้ 200 ตัว ที่อาศัยอยู่ข้างนอกถ้ำอาแบนดา

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ อาจเป็นเพียงยีนส์และการกินอาหารที่แตกต่างจากจระเข้ตัวอื่น

แต่นายเทสตากล่าวว่า จระเข้แคระแอฟริกันสีส้มกินค้างคาวเป็นอาหาร เนื่องจากมีการค้นพบโครงกระดูกของค้างคาวและสัตว์ชนิดอื่น เช่น จิ้งหรีด หอยทาก หอย อยู่ในระบบทางเดินอาหารของจระเข้แคระแอฟริกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน