สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ – เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. คณะสงฆ์วัดพิชยญาติการาม แจ้งว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ที่รพ.กรุงเทพฯ สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58

โดยในวันที่ 29 มิ.ย. เวลา 11.00 น. ที่ รพ.กรุงเทพ จะมีการแถลงข่าวถึงการมรณภาพของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ และในเวลา 13.00 น. ที่วัดพิชยญาติการาม จะมีการประชุมเตรียมความพร้อมในการจัดพิธีศพ โดยมีรายงานว่าจะมีการเคลื่อนศพจาก รพ.กรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ก.ค.

ทั้งนี้ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีอาการอาพาธและเข้ารับการรฟอกไตที่ รพ.กรุงเทพ มาโดยตลอดเป็นระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประกอบกับช่วงหลังมีรายงานว่าสมเด็จพระพุทธชินวงศ์มีอาการทางหัวใจด้วย

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีนามเดิมว่า สมศักดิ์ ชูมาลัยวงศ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.2484 ที่บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 2 ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2504 ที่วัดละมุด จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูนครวิหารคุณ (ฟัก) วัดบันได เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อุปสโม มีความหมายว่า ผู้มีจิตใจสงบในธรรมอันลึกซึ้ง

ภายหลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่านได้มุ่งมั่นการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2515 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค มุ่งมั่นศึกษาในการเรียนบาลี มีความเพียรเป็นเลิศ ศึกษาค้นคว้าตำรับตำราจนชำนาญ เก่งคำศัพท์ แม่นไวยากรณ์ อีกทั้งมีพรสวรรค์ด้านแต่งกาพย์กลอน เขียนตำราบาลี ช่ำชองภาษาพม่า สันสกฤต และอังกฤษ โดดเด่นทั้งการศึกษาและวิชาการ

จากนั้น หันไปสนใจบาลี พ.ศ.2517 ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย จนสอบได้ปริญญามหาบัณฑิต และปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียโบราณ จากมหาวิทยาลัยมคธ

เมื่อจบวิชาการจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางกลับเมืองไทยทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ ได้รับงานคณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และทำหน้าที่ครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ป.ธ.8 ประจำสำนักเรียนส่วนกลางวัดสามพระยา และสำนักเรียนวัดชนะสงคราม

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านและได้ตีพิมพ์แล้ว อาทิ คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาฎกา, ปริวรรตแปลปทานุกรมพระไตรปิฎกฉบับบาลี-ไทย เป็นต้น ล้วนได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ทั้งสิ้น

งานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2529 เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ พ.ศ.2540 เป็นเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการามวรวิหาร พ.ศ.2550 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (โดยแต่งตั้ง) พ.ศ.2554 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (โดยตำแหน่ง) พ.ศ.2554 เป็นเจ้าคณะใหญ่หนกลาง

พ.ศ.2554 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ นอกจากดำรงตำแหน่งสำคัญในทางคณะสงฆ์ ท่านยังมีตำแหน่งอีกมากมาย อาทิ หัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 1, คณะกรรมการพิจารณางบประมาณศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.), กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์, รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จ.นครปฐม เป็นต้น

ทั้งนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีสุทธิพงศ์ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งในชื่อว่า ‘สถาบันบาฬีศึกษาพุทธโฆส’ เมื่อปี พ.ศ.2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาบาลีตามแนวคัมภีร์หลักภาษาบาลีชั้นสูง ได้แก่ คัมภีร์สัททาวิเสส เพื่อเป็นการวางพื้นฐานความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาบาลีซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการศึกษาพระไตรปิฎกได้อย่างถูกต้อง
งานวิชาการทุกชิ้นที่ออกสู่สายตา ล้วนแต่ได้รับการยอมรับ แม้กระทั่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) ครั้งยังมีชีวิตอยู่ ยังกล่าวชื่นชมผลงานของท่าน

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองจาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำ, สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) วัดเทพศิรินทราวาส ตามลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน