ผู้ว่าฯกทม. สั่งมาตรการด่วน คุ้มครองชีวิตคนกรุง ระดมกล้องวงจรปิด ส่องเหตุร้าย!

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากการลงพื้นที่ยังไม่พบสิ่งผิดปกติเพิ่มเติม ยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งให้ประกาศว่ากทม. เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคง กทม.เพียงแต่จะช่วยเฝ้าระวังและสนับสนุนข้อมูลหากได้รับการประสาน

โดยกล้องวงจรปิด ของกทม. ที่จุดเกิดเหตุ กว่า 15,000 ตัว พร้อมใช้งานและสามารถเชื่อมโยงสัญญาณยังศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว และล่าสุดได้รวบรวมข้อมูลจากภาพกล้องวงจรปิด บริเวณที่เกิดเหตุในจุดต่างๆ ส่งไปยังฝ่ายความมั่นคงแล้ว และทราบว่าขณะนี้สามารถจับภาพผู้ต้องหาได้แล้ว จำนวน 2 ราย ซึ่งกทม.พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทุกส่วนราชการ

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวต่อว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่กทม.ช่วยกันสอดส่องดูแล เพราะยังไม่มั่นใจกับสถานการณ์ เพื่อความไม่ประมาท อย่างไรก็ตามส่วนตัวเชื่อว่าการก่อเหตุทั่วกรุงฯ ครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดจากการสร้างสถานการณ์ อย่างไรก็ตามศูนย์ดังกล่าวจะเปิดไปจนกว่าสถานกาาณ์จะคลี่คลาย

ด้านนางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ นร5116.1/484 ถึงรองปลัดกทม. รองผู้อำนวยการกองรักษาความมั่นคงภายใน กรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) ผู้อำนวยการสำนัก หัวหน้าสำนักงานก.ก. หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ผู้ช่วยปลัดกทม. เลขานุการสภากรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าฯกทม. ผู้อำนวยการสำนักงานเขต ตามที่ได้เกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อยหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯอันมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตตามปกติของประชาชน

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการรักษาความปลอดภัยนชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ จึงให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

1.ให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการใช้มาตรการักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการอย่างเข้มงวดจัดระบบสื่อสารให้สามารถติดต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

2. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเตรียมรถดับเพลิง รถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ และจำหน้าที่ ให้พร้อมในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงตามที่ร้องขอ

3. สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เวชภัณฑ์ โรงพยาบาลรถพยาบาลรถศูนย์เอราวัณ รวมทั้งประสานงานเครือข่ายให้พร้อมปฏิบัติงาน

4. สำนักการจราจรและขนส่งตรวจสอบกล้องวงจรปิด(ซีซีทีวี) ให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ทันทีและบันทึกเหตุการณ์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

5. สำนักเทศกิจ จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดูแลอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและความเดือดร้อนของประชาชน 6. สำนักสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมรถน้ำรถสุขาเคลื่อนที่ให้พร้อมในการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนสำนักงานเขตดำเนินการดังนี้ 1. จัดเจ้าหน้าที่ สังเกตตรวจตราดูแลความปลอดภัยของอาคารสำนักงานเขต สถานที่ราชการ สถานที่สำคัญ เขตพระราชฐาน บ้านของบุคคลสำคัญในพื้นที่ ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส รถบีอาร์ที แหล่งชุมชนทุกแห่ง

2. กำชับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุกฝายเช่น ฝ่ายโยธา ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ฝายสิ่งแวดล้อมฯฯลฯให้หัดสังเกต ตรึกตรอง หากพบสิ่งผิดปกติหรือบุคคลต้องสงสัยให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ตรวจสอบ และให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นทราบโดยทันที

3. ประสานเครือข่ายภาคประชาชน เช่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร) อาสาสมัครชุมชนเฝ้าระวังภัยและยาเสพติด ผู้ประกอบการหอพัก บ้านเช่า ห้องเช่า คอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ฯลฯ ร่วมเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย วัตถุต้องสงสัยในพื้นที่

4. ประสานกับภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐในสถานที่ที่มีประชาชนมาอยู่รวมกันหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งโรงพยาบาลฯลฯ และบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษ เช่น ถนนคนเดิน ตลาดนัดหรืองานเทศกาลสำคัญๆให้เพิ่มมาตรการักษความปลอดภัยเป็นกรณีพิเศษรวมทั้งบูรณการกล้องวงจรปิด (CCV) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่

5. ประสานการปฏิบัติร่วมกับสถานีตำรวจและหน่วยทหารในเขตพื้นที่ในกรณีมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังให้ดำเนินการทันที

อย่างไรก็ตามให้ทุกหน่วยงานและส่วนราชการตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง หากพื้นที่เขตใดเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ให้ผู้อำนวยการรายงานสถานการณ์จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ และการปฏิบัติของสำนักงานเขตให้ผู้ว่าฯกทม.และปลัดกรุงเทพมหานครทราบทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน