จุลพันธ์ เผยแจก เงินดิจิทัล หันใช้งบปี 67-68 ไม่ใช้เงิน ธ.ก.ส. ปรับวงเงินเหลือ 4.5 แสนล้าน ยืนยันกลุ่มเป้าหมายตามโครงการยังคงเท่าเดิมคือ 50 ล้านคน
เมื่อวันที่ 10 ก.ค.67 ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒ์ รมช.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล หรือดิจิทัลวอลเล็ตว่า
ในการประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะนำเสนอคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ที่ มีนายเศรษฐา ทวีสินเป็นประธาน ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ รวมทั้งการแถลงใหญ่ ในวันที่ 24 ก.ค. โดยนายกรัฐมนตรี และเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 ก.ค.
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า โดยรายละเอียดโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะแถลงในวันที่ 24 ก.ค.นั้น อาทิ ไทม์ไลน์เรื่องของการยืนยันตัวตน KYC หรือ Know Your Customer และการลงทะเบียน ทั้งส่วนของประชาชน และร้านค้าเป็น KYM หรือ Know Your Merchant
ทั้งนี้ ระบบของแอพพลิเคชัน ทางรัฐ สามารถเข้าไปทำ KYC ล่วงหน้าได้แล้ว ซึ่งมีประชาชนเข้าไปดำเนินการแล้วกว่าล้านคน ส่วนเรื่องระบบการใช้จ่ายต่างๆ ยืนยันว่าแล้วเสร็จทันตามกำหนด เพราะฉะนั้นยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะเริ่มใช้จ่ายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ตามกำหนดเดิม
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ จัดทำข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินในโครงการใหม่ เพื่อให้ไม่เป็นการตั้งงบประมาณที่มากเกินความจำเป็น จึงเสนอให้เตรียมวงเงินไว้ 90 % ของวงเงิน 5 แสนล้านบาท หรือ 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- 1.งบประมาณปี 2567 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการการบริหารจัดการในปีงบ 2567 อีก 4.3 หมื่นล้านบาท
- 2.งบประมาณปี 2568 จำนวน 2.85 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณที่จัดสรรให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว 152,700 ล้านบาท และที่บริหารจัดการเพิ่มเติมในปีงบ 2568 อีก 132,300 ล้านบาท
“ยืนยันว่ากลุ่มเป้าหมายตามโครงการยังคงเท่าเดิมคือ 50 ล้านคน แต่ที่เตรียมเงินไว้เพียง 4.5 แสนล้านบาท เป็นไปเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการใช้งบประมาณในโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ และที่ผ่านมาโครงการรัฐจะมีประชาชนเข้ามาไม่ครบทั้ง 100% แต่จะเข้ามา 80-90% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ต้องมีการสรุปยอดผู้ลงทะเบียนจริงในช่วงปิดรับลงทะเบียน ราวสิ้นเดือนก.ย.2567 นี้ รัฐบาลก็จะเตรียมวงเงินตามจำนวนผู้ลงทะเบียนจริงได้ครบ 10,000 บาททุกคนแน่นอน”นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องแหล่งเงิน 4.5 แสนล้านบาทดังกล่าว ยังไม่ใช่ข้อสรุป เนื่อจากต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง ส่วนกรณีแหล่งเงินจาก ธ.ก.ส.ยังไม่ตัดทิ้ง ยังคงเป็นทางเลือกอยู่ หากมีคนลงทะเบียนถึง 50 ล้านคนจริง ยังเป็นแหล่งเงินตัวเลือกที่นำมาใช้ได้ อย่างไรก็ดี เวลาได้ผ่านมาระดับหนึ่ง พอมาถึงวันนี้ ก็ทำให้มองเห็นงบประมาณชัดเจนขึ้น อาทิ งบปี 2567 ก็เห็นมีเงินที่ยังเหลือเท่าไหร่ และดูแล้วว่าสามารถบริหารจัดการได้โดยใช้แค่เงินในกรอบงบประมาณ ก็เลยจัดทำขึ้นเป็นข้อเสนอนี้
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เรื่องคุณสมบัติ ยังคงเช่นเดิม คือผู้มีสิทธิ ต้องเป็นคน สัญชาติไทย อายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย.2567 มีเงินฝากนับรวมเงินฝากสกุลเงินบาททุกบัญชี ไม่เกิน 500,000 บาท นับถึงวันที่ 31 มี.ค.2567 โดยไม่นับรวมสลากออมทรัพย์ สลากออมสิน และมีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี หรือไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน เก็บข้อมูลจากกรมสรรพากร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2566
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการใช้จ่ายก็ยังคงเดิมคือ แบ่งเป็นสองรอบ
- รอบที่ 1 จากประชาชนไปสู่ร้านค้าขนาดเล็ก ระดับร้านสะดวกซื้อลงไป และเป็นร้านค้าที่อยู่ในอำเภอตามทะเบียนบ้านของผู้ได้รับสิทธิ เพิ่มเติมคือรายการสินค้าที่ไม่ร่วมโครงการ คือ ไม่ให้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด
- รอบที่ 2 จากร้านค้าไปสู้ร้านค้า ปลดล็อกแค่ไม่กำหนดขนาดร้านค้า และไม่กำหนดพื้นที่
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะต้องลงทะเบียนด้วยเบอร์มือถือที่เป็นลงทะเบียนแบบรายเดือนแล้วเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เบอร์ของซิมเติมเงิน เนื่องจากต้องการให้ตรวจสอบได้ ขณะที่เรื่องของการแลกเป็นเงินสด (cash out) ยังคงเหมือนเดิมคือ ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียน ในระบบภาษีกับกรมสรรพากรเท่านั้น
“ส่วนผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อเศรษฐกิจนั้น คาดว่ายังไม่มีผลทันทีในช่วงปี 2567 เพราะมีช่วงเวลาที่ใช้จ่ายในโครงการน้อย แค่ช่วงปลายปีเท่านั้น คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนได้ในปี 2568 อย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันรัฐบาล ยืนยันว่าได้มีการเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหลายโครงการ แต่คงไม่ใช่โครงการเกี่ยวกับการกระตุ้นการบริโภคแล้ว แต่จะไปดูในเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ” นายจุลพันธ์ กล่าว