กรุงเทพมหานคร เผยตัวเลขผู้ป่วย โควิด วันนี้ รับยังพบปัญหาผู้ป่วยปกปิดไทม์ไลน์ เตรียมประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยสอบสวน ชี้ไม่ต้องขอหนังสือออกนอกพื้นที่

วันที่ 8 ม.ค.64 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานประชุมศบค.กทม. ครั้งที่ 6 มีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนัก ผู้แทน บช.น. ผู้แทน กอ.รมน.กทม. ผู้แทนกลุ่มเขต และผู้แทนส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานครที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

พล.ต.ท.โสภณ กล่าวว่า ที่ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กทม. ความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และข้อสั่งการจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ซึ่งได้กำชับให้ทุกจังหวัดเข้มงวดการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพื่อสกัดและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค

โควิด ยอดผู้ป่วย

รวมทั้งให้ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงประโยชน์ในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่จะเป็นข้อมูลในการสอบประวัติผู้ป่วยและเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่ไม่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันดังกล่าว ไม่ถือว่ามีความผิด แต่จะต้องจดจำข้อมูลการเดินทาง และกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ (timeline) ของตนเองให้ได้ เพื่อเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค ทั้งนี้ การปกปิดข้อมูลหรือให้ข้อมูลเท็จ นอกจากจะทำให้คนอื่นเสี่ยงติดเชื้อแล้วก็อาจเป็นความผิดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานี้ กทม.ขอความร่วมมือประชาชนงดเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) แต่หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังจังหวัดดังกล่าวทั้งแบบไป-กลับ และค้างคืน เช่น การเดินทางทั่วไป หรือการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเดินทางถึงจังหวัดนั้นๆ แล้ว ให้ติดต่อขอเอกสารรับรองก่อนเดินทางออกนอกจังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมถึงผู้ประกอบการ และบริษัท แล้วแต่กรณีเป็นผู้รับรอง จากนั้นเก็บหนังสือฉบับนั้นไว้เป็นหลักฐานแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านคัดกรองตรวจสอบต่อไป ในส่วนของผู้ที่จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯนั้น กทม.ขณะนี้ยังไม่มีข้อกำหนดให้ทำหนังสือขออนุญาตออกนอกพื้นที่แต่อย่างใด

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ กทม.พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 37 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวโรฮิงยา 7 ราย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ป่วยที่สามารถติดตามสอบสวนโรคได้บางส่วน และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคบางส่วน โดยกลุ่มใหญ่คือกลุ่มจากสถานบันเทิง สำหรับไทม์ไลน์ ของผู้ติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯนั้น เมื่อกระบวนการสอบสวนโรคเสร็จสิ้น กทม.จะเร่งแสดงไทม์ไลน์ ให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ตรวจสอบตนเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขณะนี้คือผู้ติดเชื้อปกปิดข้อมูลและข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งหากเกิดกรณีในลักษณะนี้ กทม.จะขอรับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวนโรคต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลของ ศบค.พบว่า เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.63 – 8 ม.ค.64 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นทั้งคนต่างจังหวัดพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และคนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วจำนวน 363 ราย

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อของกรุงเทพฯ รวม 20 วัน มีดังนี้ วันที่ 20 ธ.ค. จำนวน 2 ราย, วันที่ 21 ธ.ค.จำนวน 2 ราย, วันที่ 22 ธ.ค.จำนวน 5 ราย, วันที่ 23 ธ.ค. จำนวน 11 ราย, วันที่ 24 ธ.ค.จำนวน 14 ราย, วันที่ 25 ธ.ค.จำนวน 6 ราย, วันที่ 26 ธ.ค.จำนวน 18 ราย, วันที่ 27 ธ.ค. จำนวน 17 ราย,วันที่ 28 ธ.ค. จำนวน 19 ราย, วันที่ 29 ธ.ค. จำนวน 14 ราย, วันที่ 30 ธ.ค. จำนวน 17 รา, วันที่ 31 ธ.ค. จำนวน 19 ราย

วันที่ 1 ม.ค. จำนวน 20 ราย, วันที่ 2 ม.ค. จำนวน 18 ราย, วันที่ 3 ม.ค. จำนวน 19 ราย, วันที่ 4 ม.ค. จำนวน 28 ราย, วันที่ 5 ม.ค. จำนวน 15 ราย, วันที่ 6 ม.ค. จำนวน 33 ราย, วันที่ 7 ม.ค. จำนวน 49 ราย และ วันที่ 8 ม.ค. จำนวน 37 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน