โควิดสายพันธุ์ใหม่มาไม่หยุด! วัคซีนตามไม่ทันแล้ว ล่าสุด BA.1 ยังวิจัยเฟส 3 ยันวัคซีนที่มีอยู่ยังป้องกันรุนแรง-เสียชีวิต ย้ำฉีดเกิน 4 เดือน ต้องบูสต์อีก

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในงานเสวนาวิชาการออนไลน์ถึงวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ ว่า ขณะนี้มีการติดตามข้อมูลวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์โอมิครอน แต่เหมือนเป็นปัญหาที่ต้องวิ่งไล่ตาม เพราะเมื่อพัฒนาวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตา ก็มีสายพันธุ์อื่นอีก พอพัฒนาสายพันธุ์ BA.1 อย.สหรัฐ ก็ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เข้าไปด้วย

“หมายความว่า ทำจนเสร็จแล้วผ่านไป 6 เดือนเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่มา อย.สหรัฐฯ ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ใหม่เข้าไปอีก หากเพิ่ม BA.4 และ BA.5 เข้าไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า ในอนาคตจะมีสายพันธุ์อะไรอีก เพราะต่อจากโอมิครอน ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นๆ อีก จึงยังไม่มีจุดจบของตัวสายพันธุ์ใหม่”

นพ.นคร กล่าวต่อว่า ส่วนประเทศไทยมีนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนของเรา ซึ่งมีเสนอขอพัฒนาสายพันธุ์โอมิครอน และสถาบันวัคซีนฯ ได้ให้ทุนสนับสนุน ตอนนี้ทั้ง mRNA ของจุฬาฯ หรือในส่วนไบโอเทคที่พัฒนาตัวไวรัลเวคเตอร์วัคซีน ก็พัฒนาวัคซีนต้นแบบที่เป็นโอมิครอน BA.4 /BA.5 อยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะทันเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ แต่เราต้องเตรียมไว้ ขณะนี้ต้องจับตาดูว่า ต่างประเทศพัฒนาอย่างไรด้วย ขณะนี้สถาบันฯ ยังไม่ได้สั่งวัคซีนรุ่นใหม่ เพราะประเทศต้นทางยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ แต่ย้ำว่า วัคซีนโควิดที่มีอยู่ในมือใช้ได้จริง ไม่ต้องรอรุ่นใหม่ๆ

ด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รอง ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีวัคซีนจำนวนมากที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ทั้งเชื้อตาย ไวรัลเวคเตอร์ mRNA และโปรตีนซับยูนิต ส่วนวัคซีนที่พัฒนาจากสายพันธุ์ใหม่ คือ BA.1 พัฒนาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ข้อมูลพื้นฐานมาจากการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม mRNA ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาลูกผสม อย่างโมเดอร์นาและไฟเซอร์ ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน ตั้งแต่ตัวเดี่ยวๆ จนถึงสองตัวผสมกัน โดยมีการเสนองานวิจัยเฟส 3 ให้กับ อย.สหรัฐฯ เมื่อปลาย มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โปรตีนซับยูนิต อย่างโนโวแวกซ์ก็พัฒนาเช่นกัน ทั้งสไปก์ของ BA.1 และของอู่ฮั่น แต่ยังเป็นงานวิจัยเฟส 3

“ขณะนี้วัคซีนรุ่นใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยความจำเป็นของการฉีดเข็มกระตุ้น จากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ แม้วัคซีนที่มีอยู่อาจไม่ดีที่สุดกรณี BA.4/BA.5 แต่ยังป้องกันได้และทันเวลา เพราะตอนนี้กำลังระบาด ดังนั้น การผลิตวัคซีนเมื่องานวิจัยออกมา หากขึ้นทะเบียนได้ ก็ต้องใช้เวลาการผลิตอาจไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถึงวันนั้น BA.4/BA.5 จะอยู่หรือไม่ หรือมีตัวใหม่อีก ดังนั้น วัคซีนเข็มกระตุ้นของเราลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้ หากใครฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือน ยิ่งมีโรคประจำตัวขอให้มาฉีดบูสเตอร์” พญ.สุเนตร กล่าว

ด้าน พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนเข็ม 3 จำเป็นต้องฉีด ใครฉีดเกิน 4 เดือนขอให้มาฉีดเข็มกระตุ้น อย่าลืมมาตรการทางสังคม ต้องปฏิบัติเช่นเดิม ส่วนการศึกษาประสิทธิผลวัคซีนตั้งแต่ช่วงสายพันธุ์เดลตาปลายปี 2564 พบว่า ฉีด 2 เข็มไม่ว่าสูตรใด ช่วงฉีดใหม่ๆ จะป้องกันติดเชื้อเดลตาได้ 50% ป้องกันป่วยรุนแรงเกือบ 80-90% เมื่อมากกว่า 90 วันป้องกันติดเชื้อจะเหลือ 40% ส่วนป้องกันอาการรุนแรงลดลงนิดหน่อย อยู่ในเกณฑ์ป้องกันได้ 80% แต่หากฉีด 3 เข็มป้องกันติดเชื้อได้ 90% เกิน 3 เดือนก็ยังถึง 90%

ส่วนยุคโอมิครอนระบาดช่วง ม.ค.-เม.ย.2565 เป็น BA.1 BA.2 ซึ่งดื้อต่อวัคซีนน้อยกว่า BA.4 BA.5 การติดตามข้อมูลการป้องกันการติดเชื้อพบว่า 1 โดส และ 2 โดส ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ 3 โดสมีประสิทธิภาพ แต่หากกระตุ้นมากขึ้นก็จะป้องกันได้มากขึ้น ส่วนป้องกันรุนแรง 2 โดสป้องกันได้ 70% หากกระตุ้นเป็น 3 โดสขึ้นไปจะดียิ่งขึ้น โดยสูตรแอสตร้าฯ-ไฟเซอร์ป้องกันรุนแรงได้ถึง 83% ซิโนแวค-ไฟเซอร์ 79%

“การมิกซ์แอนด์แมตช์พบว่าดีเช่นกัน ไม่ต้องกังวล และการฉีด 3 โดสส่วนใหญ่จะเป็นมิกซ์แอนแมตช์ อย่างแอสตร้าฯ 2 เข็ม+ ไฟเซอร์ ได้สูงถึง 85% ส่วนซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตร้าฯได้ 94% ส่วนซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ได้ 100% การป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในคนทำงานและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ไม่แตกต่างกัน หากฉีด 3 โดส หรือ 4 โดสจะดีมากเช่นกัน”

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวอีกว่า สรุปผลการศึกษาจากผลการประเมินประสิทธิผลวัคซีนใช้จริงระดับประเทศ ช่วงโอมิครอน ม.ค.- เม.ย. 2565 พบว่า ฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่ป้องกันการติดเชื้อ แต่ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อช่วยหายใจ 70% และลดเสียชีวิต 72% ส่วน 3 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อ 6% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 90% และลดเสียชีวิต 91% ส่วน 4 เข็ม ป้องกันติดเชื้อ 71% ลดป่วยรุนแรงแบบใส่ท่อหายใจ 99% และลดเสียชีวิต 99% ฉีด 5 เข็มป้องกันการติดเชื้อ 83%

พญ.ปิยนิตย์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สูตร 2 เข็มแรกแบบไขว้และกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไวรัลเวกเตอร์ หรือ mRNA มีประสิทธิผลสูงในช่วงโอมิครอน และย้ำว่าแม้ฉีดเข็ม 4 ยังติดเชื้อได้ แต่ไม่ใช่ติดทุกคน การฉีดวัคซีนใหม่ๆ ช่วงแรกภูมิย่อมดี แต่เมื่อฉีดไปนานเกิน 4 เดือนภูมิคุ้มกันย่อมตก จึงต้องมีการกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ครบ 4 เดือนขอไปกระตุ้นอีกครั้ง

นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วัคซีนที่หน่วยตนมีเหลือ แต่ยังมีคนไม่ยอมมาฉีด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายในการเชิญชวนให้คนมาฉีด ดังนั้น หากไม่มีข้อห้ามขอให้มาฉีด ขอให้มาฉีดเข็ม 3 จาก 45% วันนี้ เราต้องฉีดให้มากถึง 70% ให้ได้ อย่างมาเลเซีย ฉีด 3 เข็มไปถึง 70% แล้ว จึงขอให้ช่วยกันเชิญชวนคนอายุ 18 ปีขึ้นไปมาฉีดเข็ม 3 ส่วนอาการข้างเคียง หากเป็นโควิด มีอาการข้างเคียงหนักกว่าการฉีดวัคซีนอีก ยกเว้นมีข้อห้ามจริงๆ ซึ่งโอกาสเกิดข้างเคียงแม้จะมี แต่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม เข็ม 3 ไม่ว่าจะเป็น mRNA หรือไวรัลเวกเตอร์ ฉีดได้หมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน